เจาะวิธีคิด การลงทุน แบบ... ‘หมู Ookbee’

29 ต.ค. 2565 | 04:03 น.

“การลงทุน” กลายเป็นวิธีการสร้างเงินเพิ่มรายได้ให้กับคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ในขณะที่ นักลงทุนเจนใหม่ยุคบุกเบิกอย่าง “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” หรือ “หมู-OokBee” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Ookbee รวมถึงผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks

“ในฐานะของ Fund Manager การขยันลงทุนเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ”
 

นั่นคือสิ่งที่ “หมู Ookbee” แนะนำ โดยตัวเขาเอง ในทุกเดือนจะลงทุนในสตาร์ทอัพหรือธุรกิจใหม่ๆ อย่างน้อย 2 บริษัท โดยการลงทุนใหญ่ๆ ก็ยังเดินหน้าอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันเขายังมีร่วมก่อตั้งกองทุน ORZON Ventures กับ OR, ลงทุนสตาร์ทอัพ Six Network และยังลงทุนส่วนตัวในตลาดทุน ตลาดการเงินดิจิทัล ทั้งในและต่างประเทศ
 

ปีที่ผ่านมา ยังจับมือกับ ต้อม-จิรัฐ บวรวัฒนะ จากวงการสื่อและเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ และ เอ-วิทูร เลิศพนมวรรณ ประธานบริหาร บริษัท IFCG จากวงการการเงิน เปิดบริษัท ครีเอทีฟ ไลฟ์สไตล์ เวนเจอร์ จำกัด (Creative Lifestyle Ventures-CLV) สร้างโมเดลธุรกิจ lifestyle Club ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพัทยา เจาะกลุ่มนักธุรกิจและคนรุ่นใหม่ ชื่อ “Phill Club” ภายใต้ Phill Collection

“หมู Ookbee” บอกว่า การเลือกลงทุน หรือวิธีการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่แย่ที่สุดคือ ต้องลงทุนเท่ากับเงินเฟ้อ หรือชนะเงินเฟ้อ ไม่เช่นนั้นการลงทุนจะกลายเป็นการทำให้เราจนลงเรื่อยๆ ทุกปี หรืออย่างการเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพ ก็ต้องลองประเมินดูว่า ธุรกิจที่สตาร์ทอัพนั้นๆ ทำ หากเรามาลงทุนแล้วทำเอง เราสามารถชนะเขาได้ไหม ถ้าชนะได้ คือ เราไม่ลงทุน


แต่การลงทุนทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยง มีความไม่แน่นอน ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา มีเหมือนกันที่เขาตัดสินใจไม่เลือกลงทุนแล้วบริษัทนั้นสามารถเติบโตได้ดี มีกำไร หรือบางบริษัทที่ตัดสินใจเลือกลงทุนแล้วมันไม่เวิรค ต้องขาดทุน หากแต่การผิดพลาดที่เกิดขึ้น เขาจะควบคุมไม่ให้เป็นการผิดพลาดที่เสียเงินลงทุนไปเยอะๆ และเมื่อผิดพลาดแล้วก็นำข้อผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียน ในขณะที่เงินที่เสียไป ก็มองว่า นั่นคือค่าเล่าเรียน

“การที่เราพลาดเอง ดีกว่าการไปจ้างคอนเซาท์เสียอีก เพราะทำให้เราได้บทเรียน ที่นำมาแก้ไขไม่ให้เกิดซ้ำ การผิดพลาดด้วยตัวเองทำให้ได้เรียนรู้ลงลึกไปถึงตัวเลข มีอะไรที่เป็นบทเรียนของเราได้”
 

หรือบางธุรกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หาตัวอย่างมาเป็นโมเดลปรับใช้ไม่ได้ ก็ต้องลองประเมินว่า หากเปรียบเทียมการลงทุนไปเลย 3-5 ล้านบาท กับการนำธุรกิจนั้นมาตรวจสอบวิเคราะห์ (due diligence) ค่าตรวจสอบที่ต้องจ่ายไป อาจไม่คุ้มกับการลงทุน สู้ลองเสี่ยงลงไปเลย แล้วมาดูว่าจะเป็นอย่างไร แบบนั้นจะดีกว่า
 

“ธุรกิจใหม่ๆ ในไทยอย่างธุรกิจใหญ่ๆ หลายอันมันผิดระเบียบข้อบังคับ เพราะพวก regulation มักเกิดมาหลังอินโนเวชั่นเสมอ เมื่อเราเข้าใจตรงนี้ เราก็ต้องเปิดใจ ลองลงอะไรที่แปลกๆ แล้วลองทำให้มันเกิด มันมีวิธี เช่น ไปเปิดบริษัทต่างประเทศ แล้วเอาเข้ามาในไทย ก็สามารถทำได้” นายณัฐวุฒิ กล่าว


การลงทุนจะต้องกระจายพอร์ตลงทุนให้หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยง และการลงทุนไม่มีอะไรชัวร์ 100% วิธีการแบ่งเงินลงทุน ต้องทำตั้งแต่ต้นเดือน หักเงินลงทุนและเงินออมไว้ แล้วนำมาบริหารให้ดี ไม่ใช้จ่ายเกินรายรับที่ได้
 

จากจุดเริ่มต้นความอยากเป็น Entrepreneur จนกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งร้านอีบุ๊ค ที่ “หมู Ookbee” ทำมากว่า 10 ปี ขณะนี้ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นดิจิทัลคอนเทนต์หลายๆ อย่าง สร้างรายได้ถึง 1,000 ล้านบาท ส่วนการลงทุนอื่นๆ ของเขา อย่าง Six Network การลงทุนคริปโต ที่พัฒนามาจนเป็นบล็อกเชน มาจนถึง Web3 และการเป็นพาร์ทเนอร์กองทุน 500 TukTuks ที่ตอนนี้มีเงินลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท ลงทุนไปมากกว่า 100 สตาร์ทอัพ
 

ส่วนล่าสุด กับ “Phill Club” ซึ่งเป็นการนำ NFT มาทำอะไรอื่นๆ นำเรือยอร์ชมาทำ NFT ให้คนอื่นมาใช้ร่วมกัน ถือเป็นการลงทุนน่าจะสร้างความคุ้มค่าได้ เพราะง่ายกว่าการขายเรือทั้งลำ ที่ขายยาก อันนี้คือ ถือแค่ NFT ใบละ 1 ล้านบาท ก็น่าจะขายได้ง่ายกว่า และผู้ถือก็สามารถเข้ามาแชร์การใช้งาน แชร์ประสบการณ์ด้วยกันได้
 

“หมู OokBee” ย้ำว่า อย่ามองอุปสรรคหรือความผิดพลาดเป็นปัญหาใหญ่ มันคือความท้าทายที่จะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า และการลงมือทำอะไรใหม่ๆ ก็ทำให้คนเราได้เรียนรู้ ดีกว่าแค่การนั่งอ่านหรือฟัง และสุดท้ายคือเรื่องของการบริหารเวลา ทุกคนมีเวลาเท่ากัน ถ้าเราใช้เวลาได้ดี ก็เหมือนมีกำไรแล้ว การพักผ่อนเพิ่มอีก 1-2 ชม. สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเราเป็นสิบเท่า น่าจะดีกว่าเยอะ เพราะได้สุขภาพ และได้ทั้งงานที่ดี
 

นี่คือวิธีคิดอย่างเป็นระบบ และไม่บีบคั้นตัวเองของนักลงทุนรุ่นใหม่ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์”

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,830 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565