"แพทโก้ กรุ๊ป" มัดรวม 3 ธุรกิจ ปั้นรายได้โตต่อเนื่อง 15%

11 ก.พ. 2565 | 11:56 น.

บิ๊กเนมธุรกิจอสังหาฯ ภาคตะวันออก “มารวย เรียลเอสเตท” เป็นชื่อที่คนในแวดวงรู้จักกันดี เพราะเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดที่ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มายาวนานกว่า 30 ปี แต่หากเอ่ยชื่อถึง แพทโก้ กรุ๊ป

ต้องบอกเลยว่า อสังหาฯ เป็นเพียงแค่หนึ่งใน 3 ขาธุรกิจ นอกเหนือจาก ธุรกิจอาหารสัตว์ และเครื่องจักรกล อุตสาหกรรม

 

บอสใหญ่ “ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล” ประธานกรรมการบริหาร แพทโก้ กรุ๊ป และบริษัท มารวย เรียลเอสเตท จำกัด บริษัทในเครือ ผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบในพื้นที่ภาคตะวันออกภายใต้แบรนด์ “บ้านมารวย” บอกเลยว่า ทุกธุรกิจสามารถสร้างกำไรได้ต่อเนื่องตามเป้าหมาย โดยการบริหารงานเท้อและต่อเนื่องซึ่งกันและกัน อย่างที่หลายคนอาจจะเกิดความงงงวยกันบ้าง 

3 กลุ่มธุรกิจ ที่มองดูแล้วเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ “ดร.สืบวงษ์” เจนเนอเรชั่น ที่ 2 ของกลุ่ม ได้อธิบายที่มาที่ไปว่า จริงๆ แล้ว กลุ่มแพทโก้ เริ่มธุรกิจมาจากเครื่องจักรกล ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท แพทโก้ เพาเวอร์

"แพทโก้ กรุ๊ป" มัดรวม 3 ธุรกิจ ปั้นรายได้โตต่อเนื่อง 15%

โดยคุณแม่เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ ทั้งเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรกลอุตสาหกรรม เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ปั้มน้ำ เครื่องตัดหญ้า จนไปถึง เรือเดินทะเล ใบพัดเครื่องเรือ ซ่อมบำรุง งานประมูลราชการ เช่น รถสำรองไฟ 

“จากรุ่นคุณแม่ เราเริ่มจากเครื่องจักรกลการเกษตร เสร็จแล้ว เราก็ดิวกับชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน คุณแม่ก็เริ่มซื้อที่ดินเพิ่ม หลังจากนั้นก็ทำฟาร์มไก่ โรงสี มีที่ดินให้ชาวนาเช่า มีเครื่องยนต์ทำการเกษตร มีปุ๋ย จากฟาร์มไก่ เมื่อคุณพ่อไม่อยากฆ่าสัตว์ ก็เปลี่ยนมาทำอาหารไก่แทน ซึ่งมีทั้งอาหารไก่จากถั่วเหลือง และข้าวโพด ต่อมาเมื่อที่ดินเจริญ ก็ขยายธุรกิจสู่การทำบ้าน เราพัฒนาธุรกิจต่างๆ ขึ้น ตามความฮอตของวัฏจักรการลงทุน”


 การพัฒนาและต่อยอดธุรกิจจากรุ่นหนึ่ง ได้ถูกส่งต่อมาถึงรุ่นสอง โดยทุกธุรกิจยังเดินหน้า และสามารถสร้างกำไร โดย “ดร.สืบวงษ์” บอกว่า การบริหารให้ความสำคัญและให้น้ำหนักกับทุกธุรกิจเหมือนกัน มีการบาลานซ์พอร์ตตามความเหมาะสมของจังหวะและโอกาสทางธุรกิจ โดยส่วนของตัวเขาเองเรียนรู้แต่ละธุรกิจมาตั้งแต่สมัยยังเรียน เริ่มต้นเข้ามามีส่วนในการทำธุรกิจตั้งแต่ธุรกิจเครื่องจักรกล และเริ่มมาจับ แพทโก้ พร็อพเพอร์ตี้ หรือธุรกิจอสังหาฯ เมื่อเรียนปี 2-3 กับโครงการใหญ่ที่ชลบุรี เริ่มจากสามมุขธานี สุจิตราและตามด้วยวิจิตราธานี ซึ่งบิ๊กบอสท่านนี้บอกว่า เป็นความท้าทายมากๆ และทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ที่เป็นประโยชน์ เพราะเป็นช่วงวิกฤติปี 2540 พอดี

"แพทโก้ กรุ๊ป" มัดรวม 3 ธุรกิจ ปั้นรายได้โตต่อเนื่อง 15%
 จากการเรียนรู้ และความที่เป็นคนเปิดรับ ศึกษาสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้เขาสามารถพัฒนาธุรกิจมาได้อย่างต่อเนื่อง โดยการดึงมืออาชีพ และผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมบริหาร และยังวางรากฐานคนในครอบครัวให้เรียนรู้ และเข้ามารับผิดชอบงานในส่วนต่างๆ ตามความถนัดของแต่ละคน พร้อมทั้งนำบทเรียนในอดีต มาช่วยเสริม เช่น การทำศูนย์ข้อมูล ที่ทำให้สามารถทรานดีมานด์ และซัพพลายของตลาด เมื่อความต้องการของตลาดสูง ก็สร้างโปรดักต์ให้พร้อมรองรับ แต่เมื่อตลาดดีมานด์ต่ำ กำลังซื้อหาย ก็พร้อมชะลอโครงการ เช่น ปี 2563-2564  


การลงทุนใหม่ๆ อย่างในตลาดอีอีซี เขาก็ยังผลีผลาม แม้จะมีที่ดินพร้อมที่จะขยายการลงทุน แต่เมื่อปัจจัยเอื้อต่างๆ ทั้งนักลงทุนต่างชาติ และโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายๆ อย่างยังไม่เกิดเต็มที่ เขาก็พร้อมที่จะรอจังหวะที่เหมาะสม  


หากแต่เมื่อโอกาสมา อย่างที่ดิน 200 ไร่ ย่านบางนา-ตราด กม.34 เขาก็นำมาลงทุนในธุรกิจใหม่ คือ ปั้มน้ำมัน โดยการซื้อแฟรนไชส์จากปตท. และพัฒนาพื้นที่แห่งนั้น เป็นจุดแวะพัก แวะช้อป เพราะนั่นคือ จุดที่เป็นประตูสู่อีอีซีจริงๆ ซึ่งไม่เพียงที่แพทโก้ จะได้ประโยชน์ในการลงทุน แต่สามารถสร้างเศรษฐกิจกระจายรายได้ให้กับชุมชนในย่านนั้นได้อีกด้วย


หลักคิดง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนของผู้บริหารท่านนี้ก็คือ การทำธุรกิจต้องมีกำไร โดยที่ธุรกิจนั้น ต้องเป็นธุรกิจที่ดี ดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยุติธรรม พร้อมทั้งทำประโยชน์กับสังคมโดยรวม สร้างความสุขให้ทั้งกับตัวเอง พนักงาน เพื่อนร่วมธุรกิจ และคนในสังคม 


บางคนอาจมองแนวคิดนี้ว่า เป็นแนวคิดของคนโลกสวย แต่คนโลกสวยคนนี้ สามารถทำทุกอย่างได้จริงตามที่เขาบอก และตั้งใจทำให้สัมฤทธิ์ผล เป็นเอสเคิร์ฟที่ทำรายได้และกำไรต่อเนื่อง แม้ขณะที่วิกฤติโควิด-19 สร้างความวุ่นวายให้กับภาคธุรกิจมากมาย แต่แพทโก้ กรุ๊ป ก็ยังเดินหน้า มีการเติบโตต่อเนื่องตามเป้า คือราว 15% ต่อปี โดยไม่ต้องเลย์ออฟพนักงานแม้แต่คนเดียว 


 “ดร.สืบวงษ์” บอกว่า ความท้าทายใหม่ๆ ของเขา คือ การมองว่า จะทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้แบบ เจ-เคิร์ฟ หรือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งเขามองว่า เรื่องของตลาดคริปโตฯ หรือบิทคอยท์ ก็เป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ และน่าศึกษา ซึ่งหากทำได้ ก็น่าจะทำให้กลุ่มธุรกิจของแพทโก้เติบโตได้เป็น เจ-เคิร์ฟ อย่างที่เขาท้าทายตัวเองไว้


ส่วนจะเป็นจริงเมื่อไร หรืออย่างไรก็คงต้องติดตามกันต่อไป 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,756 วันที่ 10 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565