ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

02 เม.ย. 2559 | 04:00 น.

ความสำเร็จ เกิดจากความมุมานะ ศึกษาค้นคว้า และไม่ยอมแพ้ CEO Focus ขอนำเสนออีกหนึ่งผู้นำ ที่ประสบความสำเร็จจากสิ่งเหล่านี้จริงๆ

เขาคือ "ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตแผ่นยางฉนวนกันความร้อนอันดับ 1 ของประเทศ และอันดับ 3 ของโลก และเจ้าของสิทธิบัตรกว่า 700 ฉบับทั้งในและต่างประเทศผู้ชายคนนี้สร้างตัวเองมาจากการสร้างพื้นฐานความรู้ที่ดี

แม้ครอบครัวจะลำบาก เขาต้องช่วยคุณพ่อที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเมืองจีน มาเริ่มต้นทำโรงงานเล็กๆ ที่เมืองไทยเมื่อกว่า 70 ปีก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยสภาพแวดล้อม และการที่ไม่มี Know-how เป็นของตัวเอง ทำให้ขายสินค้าขาดทุน แต่ "ภวัฒน์" ซึ่งเป็นลูกชายคนโต ซึ่งช่วยพ่อทำงานและศึกษาค้นคว้าไปด้วย เพราะความชอบในเรื่องวิทยาศาสตร์ และภาษา ทำให้เขาได้ค้นพบตำราสูตรยางภาษาจีน ซึ่งกลายเป็นตำราบู๊ลิ้มให้เชาและพ่อ พัฒนาสินค้าคุณภาพออกมาสู่ตลาดได้

และนั่นคือความสำเร็จแรก ที่ทำให้เขารู้ว่า..."การศึกษา คือประตูแห่งความสำเร็จ"

 

"ภวัฒน์" ไม่เคยทิ้งการเรียน แม้เขาจะต้องช่วยเหลือทางบ้าน เขาทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย และศึกษาค้นคว้าไปด้วย ถึงขนาดทำห้องทดลองเล็กๆ ไว้ในห้องนอน เพื่อศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง
 

แต่ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเสมอ ชีวิตของเขาพลิกผันอีกครั้งเมื่อไม่สามารถสอบเข้าเรียนวิศวกรรม หรือวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองชื่นชอบได้ เขาจึงไปเรียนเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเอกชน แต่การเปลี่ยนแนวการศึกษา กลับส่งผลดีกับเขา เพราะทำให้เขามีมุมมองที่กว้างขึ้น ขณะเดียวกันเขาก็ยังไม่ทิ้งเรื่องของเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และภาษาที่ตัวเองชื่นชอบ "ภวัฒน์" เล่าว่า เขารู้ว่า ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์จะเป็นโยชน์กับเขาเมื่อธุรกิจของเขาเติบใหญ่ แต่ขณะนั้นธุรกิจของครอบครัวยังเล็กๆ สิ่งสำคัญคือ ความรู้พื้นฐาน Know-how และเทคโนโลยีต่างๆ

"ผมทั้งเรียน ทำงาน และทำกิจกรรมด้วย ผมทำกิจกรรมนักศึกษา โดยเป็นกรรมการในชมรมนานาชาติ ทำให้ได้เดินทางไปฝึกงานในหลายประเทศ"
 

"ภวัฒน์" เล่าว่า เขาใช้เวลาเรียนในโรงเรียน 60-70% พร้อมๆ กับการทำกิจกรรม และใช้บางช่วงไปเป็นเซลส์ ขายสินค้าที่เราผลิตเอง เช่น พื้นรองเท้า สินค้าอุปกรณ์ประมง ลูกกลิ้งยาง ลูกกลิ้งไม้ ผมใช้เวลาส่วนมากในการวิจัยและพัฒนา เราได้พัฒนา ทำสินค้าต่างๆ ขึ้นมาเป็นเจ้าแรก ตรงนั้นทำให้ผมมีประสบการณ์ มีความรู้ และพบว่าการเป็นเซลส์เอง ทำให้เรารู้ว่าอะไรน่าจะนำมาพัฒนาต่อได้ ถ้าเราทำเองไม่ได้ เราก็ต้องไปจ้างเขาผลิต แต่เราต้องควบคุม เราไปควบคุมการผลิต ไปโดยมีแบรนด์ของเราเอง เรามีตราของเราเอง"
 

เมื่อถามว่า ทำไมเขาจึงมีความคิดที่ต้องสร้างแบรนด์ตัวเอง ตั้งแต่เริ่มแรก โดยแบรนด์แรกของเขาคือ "ลูกลอยพลาสติก ยี่ห้อ ฟิชแบรนด์ หรือ ตราปลา"

"ตอนเราเป็นเซลส์ เราเห็นว่าทุกคนมีแบรนด์หมด ถ้าเราไม่มีแบรนด์ คนจะจำไม่ได้ และวิธีคิดสร้างแบรนด์ ก็ต้องจำง่าย ต้องเป็นชื่อง่ายๆ จำง่าย ทันสมัย และเท่...ตอนนั้นเรามองสินค้าหลายตัวที่คนเรียกหา คนจะกินน้ำก็เรียกหาแต่เป๊ปซี่ ใครจะเอาลวดสลิงที่ดี ต้องตราลิเกียมุ๊ย อวนคุณภาพสูงต้องอวนตราไก่ ทำไมทุกคนมีแบรนด์ นั่นคือข้อดีที่เราเดินตลาด เราเจอลูกค้า เลยรู้ว่าควรทำอย่างไร"...เขามีความภาคภูมิใจว่า ฉนวนยาง แบรนด์แอโรเฟลกซ์ (Aeroflex)ของเขา กลายเป็น Generic name ในหลายๆ ประเทศ

การทำธุรกิจ ซีอีโอ ท่านนี้ ไม่ได้กลัวว่าทำออกแล้วจะขายได้หรือไม่ได้ เพราะเขามีหลักคิดที่ชัดเจนว่า การเรียนรู้ ความชำนาญในการใช้เทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรม ทำให้สามารถทำอะไรได้เยอะกว่าคนอื่น ก่อนผลิตสินค้าต้องศึกษาความต้องการของตลาด สินค้าคุณภาพแบบไหน ต้นทุนเท่าไร ทนทานอย่างไร ราคาอย่างไร แล้วกลับมาคิดว่าจะทำได้อย่างไร ถ้าทำเองไม่ได้ จะต้องไปจ้างใคร เสร็จแล้วก็ไปให้ตลาดทดลอง หลายตัวที่ล้มเหลว แต่เมื่อมีความเข้าใจ สำคัญที่สุดคือต้องหาคนให้ถูก ตอบโจทย์ให้ถูก

และเมื่อได้สินค้าที่ใช่มาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือความซื่อสัตย์ในหลายๆ ด้าน ทำสินค้าที่มีคุณภาพดี ต้นทุนโอเค ลูกค้าพึ่งพอใจ กำไรต้องสมเหตุสมผล และต้องดูแลลูกค้า ให้การบริการ และมีความรับผิดชอบ
 

ในวันนี้ ธุรกิจของ "ภวัฒน์" ขยายใหญ่โต จากธุรกิจครอบครัวเล็กๆ ขยายมาเป็นบริษัทจำกัด และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีลูกค้ามากมายหลายประเทศ มีโรงงานกว่า 10 แห่งในประเทศต่างๆ รายได้ของเขากว่า 60% มาจากต่างประเทศ และยังมีบริษัทร่วมทุนอีกหลายแห่ง และเขายังมีแผนที่จะขยายงานต่อไป พร้อมทั้งเตรียมลงทุนอีกมากมาย ในธุรกิจและเทคโนโลยีที่เขาถนัด

ทุกๆ ปี รายได้ของกลุ่ม อีพีจี จะเติบโตขึ้นด้วยตัวเองไม่ต่ำกว่า 10-20% เพราะการมองธุรกิจให้ขาด มองประเทศที่น่าเข้าไปลงทุน และพร้อมที่จะถอยหลังออกมา ถ้าสินค้าหรือประเทศที่เข้าไปลงทุน ไม่ประสบความสำเร็จ ซีอีโอท่านนี้บอกเลยว่า การทำธุรกิจต้องไม่ยึดติด และพร้อมที่จะถอย ถ้าเราทำสู้คนอื่นไม่ได้
 

"เราพัฒนาตัวเอง ให้เป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน เป็น Technology Driven Organisations การพัฒนาเทคโนโลยี ต้องอยู่อย่างต่อเนื่อง ต้องมีอินโนเวชัน และต้องเข้าสู่การค้นพบใหม่ๆ สินค้าใหม่ๆ เพื่อบุกตลาดทั่วโลก"



ใน 5 ปีที่ผ่านมา "ภวัฒน์" พยายามปลูกฝังทีมงานของเขา ให้เป็น Technology Driven Organisations ด้วยการสร้างศูนย์นวัตกรรมอีพีจี ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ และพัฒนาเทคโนโลยี ที่ไม่ได้ให้บริการแค่ธุรกิจในเครือ แต่รวมถึงส่งเสริมและช่วยพัฒนาให้กับองค์กรภายนอกที่สนใจ...และนี่คือการตอกย้ำที่ชัดเจนอีกครั้งว่า..."การศึกษา คือประตูแห่งความสำเร็จ" อย่างแท้จริง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559