“มะพร้าวกะทิ” พืชเศรษฐกิจใหม่ รายได้งาม สูงสุดลูกละ 250 บาท

20 เม.ย. 2567 | 00:11 น.

กรมวิชาการเกษตร ลุยวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ “มะพร้าวกะทิ” พันธุ์แท้ รองรับการขยายตัวของตลาดมะพร้าวกะทิ หลังพบมีราคาสูงถึงลูกละ 150-250 บาท สร้างรายได้ใหม่ให้เกษตรกร

ปัจจุบันการขยายตัวของตลาด "มะพร้าวกะทิ" มีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ทำให้มีราคาสูงถึง 150-250 บาทต่อผล รวมทั้งมีการนำไปใช้ใน อุตสาหกรรมอื่น เช่น เครื่องสำอาง ฟิล์มห่ออาหาร อุตสาหกรรมยา และอาหารเสริม เป็นต้น 

ดังนั้นผลผลิตมะพร้าวกะทิ จึงไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และมีข้อจำกัดในการขยายพันธุ์มะพร้าวกะทิซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่การผลิตให้เพียงพอต่ออุตสาหกรรม

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ล่าสุด คณะนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรจึงได้วิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ ที่ให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิทุกผลและให้ผลผลิตสูง เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดมะพร้าวกะทิ

 

ภาพประกอบ มะพร้าวกะทิ กรมวิชาการเกษตร

นางสาวปริญดา หรูนหีม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง (ศวพ.ระนอง) กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าทีมวิจัย อธิบายว่า ในธรรมชาติมะพร้าว 1,000 ลูก จะพบมะพร้าวกะทิเพียง 1-3 ลูกเท่านั้น หรือไม่เกิน 0.3% เนื่องจากพันธุกรรรมที่ควบคุมการเกิดเนื้อกะทิเป็นลักษณะด้อย และสูญเสียความสามารถในการงอกด้วยวิธีปกติ จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงคัพภะ 

ดังนั้นจึงได้ทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ที่สามารถให้ผลเป็นกะทิทุกผล มีผลผลิตสูง ออกจั่นและเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกเร็ว รองรับความต้องการของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

 

ภาพประกอบ มะพร้าวกะทิ กรมวิชาการเกษตร

ขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิ

สำหรับขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ในปี 2540-2549 ได้ปลูกคัดเลือกลูกผสม มะพร้าวน้ำหอม X มะพร้าวกะทิ 120 ต้น โดยคัดต้นแม่ที่ให้ผลผลิตมากกว่า 100 ผล/ต้น/ปี และมีผลเป็นกะทิมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ไว้ 45 ต้น และ คัดเลือกต้นแม่ที่ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเลี้ยงคัพภะ ไว้ 31 ต้น ขยายพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ รหัส NHK-C1 ได้ 96 ต้น

ปี 2549-2556 ปลูกมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ รหัส NHK-C1 NHK-C1 จำนวน 96 ต้น ในแปลงควบคุมแยกห่างจากมะพร้าวอื่น เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของละอองเกสร คัดเลือกต้นแม่พันธุ์ที่ให้ผลเป็นกะทิทุกผลและมีจำนวนมากกว่า 100 ผล/ต้น/ปี น้ำหนักของผลมากกว่า 2,000 กรัม ไว้จำนวน 52 ต้น และคัดเลือกต้นแม่ที่ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเลี้ยงคัพภะไว้ 41 ต้น จากนั้นจึงทำการขยายพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้รหัส NHK-C2 ได้ 121 ต้น

ปี 2556-2565 ปลูกมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้รหัส NHK-C2 NHK-C2 จำนวน 121 ต้น เพื่อประเมินลักษณะประจำพันธุ์ ผลผลิต และวิเคราะห์ยีนบ่งบอกความเป็นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พบว่า ทั้งหมดมีต้นเป็นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้และให้ผลเป็นกะทิทุกผล อายุเริ่มออกจั่นและเก็บเกี่ยวสั้น รวมทั้งให้ผลผลิตสูง จึงเสนอขอรับรองพันธุ์ในปี 2566 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์ กวก. สุราษฎร์ธานี 1”

 

ภาพประกอบข่าว มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์ กวก. สุราษฎร์ธานี 1 กรมวิชาการเกษตร

 

มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์ กวก. สุราษฎร์ธานี 1

มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์ กวก. สุราษฎร์ธานี 1 มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตทุกผลเป็นมะพร้าวกะทิ อายุ 8 ปีขึ้นไปให้ผลผลิตมากกว่า 100 ผล/ต้น/ปี หรือมากกว่า 2,200 ผล/ไร่/ปี น้ำหนักผล 2,032 กรัม (มีขนาดกลาง-ใหญ่) เริ่มออกจั่นครึ่งหนึ่งเมื่ออายุ 3 ปี 6 เดือน และทุกต้นเมื่ออายุ 3 ปี 9 เดือน และเริ่มเก็บเกี่ยวครึ่งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี 8 เดือน และทุกต้นเมื่ออายุ 4 ปี 11 เดือน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เส้นใยอาหารสูง 7.24 กรัม/100 กรัม และ ไขมันต่ำ 5.78 กรัม/100 กรัม

“มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์ กวก. สุราษฎร์ธานี 1 ใช้ระยะเวลาในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 26 ปี เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ความพร้อมของพันธุ์ ต้นและแปลงแม่พันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ที่สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างน้อยปีละ 1,500 ต้น รองรับพื้นที่ ได้ประมาณ 70 ไร่ต่อปี” นางสาวปริญดา กล่าว