“ภูมิรัฐศาสตร์-ค่าแรง-ดอกเบี้ยสูง” กดดันขีดแข่งขันส่งออกไทย

04 เม.ย. 2567 | 06:39 น.

ภาคการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ยังมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จากเป็นภาคส่วนหลักที่นำรายได้เข้าประเทศ และเพิ่มการจ้างงานในประเทศ

ล่าสุดการส่งออกของไทยช่วง 2 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่า 46,034 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในรูปเงินบาทมีมูลค่า 1.61 ล้านล้านบาท ขยายตัว 11.3%

ทิศทางส่งออกไทยได้กลับมาขยายตัวเป็นบวก 7 เดือนต่อเนื่อง (นับตั้งแต่ ส.ค.2566-ก.พ.2567) หลังภาคการผลิตโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากช่วง 10 เดือนก่อนหน้า (ต.ค. 2565- ก.ค. 2566) มูลค่าส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง จากปัจจัยค่าครองชีพ เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศ

“ภูมิรัฐศาสตร์-ค่าแรง-ดอกเบี้ยสูง” กดดันขีดแข่งขันส่งออกไทย

ประเด็นที่น่าจับตานับจากนี้คือ การส่งอออกของไทยจะยังขยายตัวเป็นบวกได้อย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ หรือไม่ และในแต่ละเดือนจะขยายตัวได้ดีแค่ไหน เพราะแม้ตัวเลขช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ในสินค้าที่มีราคาสูงจะยังขยายตัวได้ดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 6 เดือนต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีในสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ได้กลับมาหดตัว หรือส่งออกได้ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2, แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเครื่องปรับอากาศหดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน

ส่วนสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในสินค้าข้าว การส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8, ยางพารา ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ในสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4,นํ้าตาลทราย หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้งหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า

ท่ามกลางปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวังในอีกหลายเรื่องนับจากนี้ ทั้งที่เป็นปัจจัยบวกและปัจจัยลบ โดยปัจจัยบวกอาทิ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าไทย การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศคู่ค้าหลังภาวะเงินเฟ้อโลกเริ่มชะลอตัว อานิสงส์จากประเทศคู่ค้าต้องการความมั่นคงด้านอาหาร มีการนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก

อีกด้านยังมีปัจจัยลบอยู่มาก เฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในทะเลแดง ทำให้เรือขนส่งสินค้าเส้นทางเอเชียไปยุโรป และอเมริกามีต้นทุนค่าระวางเรือและค่าเสี่ยงภัยอยู่ในระดับสูง ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังขยายตัวตํ่ากว่าระดับ Base Line

ที่สำคัญผู้ประกอบการมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ยังสูง และยังมีความไม่แน่นอน เฉพาะอย่างยิ่งค่าแรงขึ้นตํ่าที่มีการปรับขึ้นในรอบแรกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ 330-370 บาทหรือปรับขึ้น 2-16 บาท ในแต่ละจังหวัด ล่าสุดคณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นตํ่าที่ 400 บาทต่อวัน นำร่องในกิจการโรงแรมใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นของขวัญวันสงกรานต์ให้กับผู้ใช้แรงงาน และจะขยายผลสู่ภาคการผลิตในระยะถัดไป

ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นอีกต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ ล่าสุดรัฐบาลเคาะค่าไฟฟ้ารอบใหม่งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราเดียวกับงวดมกราคม-เมษายน เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านค่าไฟฟ้าของไทยยังสูงกว่า

นอกจากนี้จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ยังเป็นภาระทางการเงินที่มีผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ เฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีที่เพิ่งฟื้นตัวหลังโควิด

จากที่ยังมีปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวังอีกมาก ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐและเอกชนต้องประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางจากหลายปัจจัย ทั้งจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายคู่ของโลก เศรษฐกิจจีนคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยยังขยายตัวในระดับตํ่า การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐรอบใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนจะผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ และการค้าโลก ดังนั้นการการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA)ในกรอบใหม่ ๆ การขยายการส่งออกไทยไปยังตลาดใหม่ ๆ การลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จึงมีความสำคัญต่อทิศทางการขยายตัวของการส่งออกไทยในปีนี้