จีนออร์เดอร์อาหารทะเลไทยเพิ่ม กังวลญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี

05 มี.ค. 2567 | 09:00 น.

จีนยังกังวล ห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น หลังปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีรอบที่ 4 ลงมหาสมุทรแปซิฟิกแม้ผ่านการบำบัดแล้ว สมาคมสหกรณ์การประมงแดนปลาดิบร้องระงมได้รับผลกระทบ ส้มหล่นไทย จีนหันนำเข้าทดแทนเพิ่ม

ข้อมูลโดย : วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมพานี หรือ เทปโก (TEPCO) ได้ปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นรอบที่ 4 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นการปล่อยน้ำปนเปื้อนรอบสุดท้ายของปีงบการเงิน 2566 ที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้

โดยเทปโกเปิดเผยว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนรอบนี้มีปริมาณ 7,800 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณเท่ากับการปล่อยน้ำทั้ง 3 รอบก่อนหน้านี้ ดังนั้นในปีงบการเงิน 2566 มีการปล่อยน้ำปนเปื้อนรวมทั้งสิ้น 31,200 ตัน ซึ่งมีกัมมันตรังสีราว 5 ล้านล้านเบคเคอเรล หรือไม่ถึงหนึ่งในสี่ของเพดานสูงสุดซึ่งกำหนดไว้ที่ 22 ล้านล้านเบคเคอเรลต่อปี

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เทปโก เปิดเผยว่าจะดำเนินการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรจำนวน 7 รอบในปีงบการเงิน 2567 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายน โดยเทปโกและรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2554 และคาดว่าต้องใช้เวลาปล่อยน้ำปนเปื้อนนานถึง 30 ปี

  • ความกังวลของจีนต่ออาหารทะเลญี่ปุ่น

6 เดือนหลังจากที่บริษัทเทปโก (TEPCO) เริ่มปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล ทำให้จีนเกิดความกังวลในอาหารจากญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการคัดค้านอย่างรุนแรงต่อการปล่อยน้ำและรัฐบาลจีนได้ประกาศสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด เพื่อปกป้องผู้บริโภคในประเทศ

นอกจากนั้นการที่สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นได้รายงานวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 กรณีน้ำปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี ปริมาณราว 5.5 ตัน ได้รั่วไหลออกจากอุปกรณ์ที่ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ” ของญี่ปุ่น นั้น (ซึ่งในรายงานระบุว่าน้ำที่รั่วไหลทั้งหมดแทรกซึมลงสู่พื้นดิน และมีการเฝ้าติดตามช่องทางระบายน้ำใกล้เคียงไม่พบสัญญาณการเปลี่ยนแปลงอันมีนัยสำคัญของระดับกัมมันตรังสี โดยเทปโกได้ปิดพื้นที่ที่น้ำรั่วไหลเป็นพื้นที่ห้ามเข้าแล้ว)

ทำให้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมาเน้นย้ำถึงปัญหาการบริหารจัดการของ TEPCO และตั้งคำถามถึงความสามารถในการดำเนินการบำบัดน้ำเสียที่บำบัดมานานหลายทศวรรษถึงความปลอดภัย และเรียกร้องให้ญี่ปุ่นตอบสนองต่อข้อกังวลของประชาคมระหว่างประเทศและจัดการกับการปล่อยน้ำบำบัดด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งในเหตุการณ์นั้นก็ยิ่งทำให้จีนระมัดระวังมากขึ้นต่อพืชผลและพืชที่ปลูกในดินที่มีการปนเปื้อนนี้ จึงกระทบต่อทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและเครื่องสำอางของญี่ปุ่น

นอกจากการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเลแล้วผลกระทบยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น Hamasushi ซึ่งเป็นเครือร้านซูชิบนสายพานลำเลียงรายใหญ่ เลิกใช้เครื่องปรุงที่ผลิตจากญี่ปุ่นที่ร้านอาหารในเทียนจินและส่วนผสมต่าง ๆ และหันมาหันมาใช้ข้าวจีนและซีอิ๊วแทน อาหารดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ถูกห้ามนำเข้าหากมาจากนอก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมถึงฟุกุชิมะด้วย แต่เครือดังกล่าวได้ตัดสินใจตามคำแนะนำของหน่วยงานท้องถิ่น ถึงแม้ว่าข้าวอาจให้ความรู้สึกแตกต่างออกไปเล็กน้อย แต่ทำให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางด้วย (Asianews/spacebar)

  • คาดการณ์อนาคต

จีนพยายามสร้างระบบเฝ้าสังเกตการณ์ระหว่างประเทศที่มีประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นร่วมด้วยและยังไม่แสดงสัญญาณใด ๆ ที่จะยกเลิกมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังได้กล่าวว่ามาตรการป้องกันที่จีนดำเนินการต่อความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความปลอดภัยของอาหารและสุขภาพของประชาชน โดยผู้เชี่ยวชาญชาวจีนบอกกับ Global Times ว่า ในระยะสั้น ไม่น่าเป็นไปได้ที่จีนจะเพิกถอนคำสั่งห้ามดังกล่าว

ล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2567 จีนและญี่ปุ่นได้จัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ในเดือนที่แล้วในประเด็นการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ อย่างไรก็ดี การประชุมดังกล่าวไม่ประสบความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยจีนยังคงประกาศห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการประมงจากญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดดังกล่าวได้มาตรฐานตามที่สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) กำหนดไว้ และญี่ปุ่นจะยังคงเดินหน้าปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีดังกล่าวในปี 2567

“หลายฝ่ายต่างจับตา อนาคตความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนกับญี่ปุ่นที่ยังคงไม่แน่นอน และถึงแม้ว่าจีนจะยกเลิกการแบนสินค้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ก็ยังคงมีการตั้งคำถามอยู่ว่าจะกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ครั้งก่อนได้หรือไม่ อุตสาหกรรมทะเลจากญี่ปุ่นจะยังพึ่งพาตลาดจีนอีกครั้งหรือไม่”(-globaltimes/สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ))

  • ผลกระทบห้ามนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นจากจีน

เมืองฟุกุชิมะเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยตั้งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เมืองฟุกุชิมะมีอุตสาหกรรมประมงที่เจริญรุ่งเรือง โดยส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาหารทะเลที่ส่งออกจากเมืองฟุกุชิมะหลัก ๆ ได้แก่

ปลาทูน่า ตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน

ปลาแซลมอน ตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และไต้หวัน

ปลาหมึก ตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้

กุ้ง ตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน

ปลากะพงขาว ตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้

  • ผลกระทบของญี่ปุ่น

สมาคมสหกรณ์การประมงในญี่ปุ่นจำนวนมากถึง 80.6% ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ทั้งนี้ สมาคมสหกรณ์การประมง 29 แห่งจากจำนวน 36 แห่งที่ได้ตอบแบบสำรวจ เปิดเผยว่า พวกเขา “ได้รับผลกระทบ” ซึ่งรวมถึงผลกระทบทางการเงินจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าว อันเนื่องจากการที่จีนประกาศห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการประมงจากญี่ปุ่น ซึ่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากจากการห้ามนำเข้าคือ หอยเชลล์คิดเป็นประมาณหนึ่งในสี่ของมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่น โดยมากกว่าครึ่งมีประเทศจีนเป็นคู่ค้าหลัก

การดำเนินการนอกจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมประมงในวงเงิน 1 แสนล้านเยน หรือราว 668 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ และรัฐบาลกับกลุ่มอุตสาหกรรมกำลังสำรวจเส้นทางการแปรรูปและการส่งออกใหม่ ๆ อาทิการแปรรูปหอยเชลล์ในเม็กซิโกสำหรับตลาดสหรัฐฯ โดยเปลี่ยนจากการแปรรูปแบบเดิมในจีน

แม้จะมีความท้าทาย แต่อุตสาหกรรมอาหารทะเลของญี่ปุ่น ในปี 2023 ถือว่าประสบความสำเร็จในการส่งออกสินค้าเกษตร การประมง และป่าไม้ มูลค่า 1.45 ล้านล้านเยน โดยสหรัฐฯ และฮ่องกงมีบทบาทสำคัญในการชดเชยยอดขายที่ลดลงของจีน ตามข้อมูลของรัฐบาลถึงแม้ฮ่องกงออกมีคำสั่งห้ามอาหารทะเลญี่ปุ่นอย่างจำกัด หลังจากปล่อยน้ำฟุกุชิมะ โดยห้ามนำเข้าจากบางภูมิภาค แต่การห้ามนำเข้าของฮ่องกงไม่ส่งผลกระทบต่อการขายหอยเชลล์และปลิงทะเลอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากส่วนใหญ่มาจากจังหวัดที่ไม่อยู่ภายใต้การห้ามดังกล่าว

  • ผลกระทบห้ามนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นจากจีน

จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น โดยปี 2022 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของจีนมีสัดส่วนราว 3% ต่อการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดของจีน โดยจีนนำเข้ามากได้แก่ หอยแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง (ปลาทูน่า ปลาโพล็อค ปลาแซลมอน) ปลาแช่เย็น ( ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลากระพง) แมงกระพรุน ปลิงทะเล ปลาฟิลเลต์ กุ้ง ปู ปลารมควัน ปลาแห้งและชิ้นส่วนจากปลาเป็นต้น ซึ่งปี 2023 จีนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเป็นอันที่ 16 และมีสัดส่วนลดลงจากปี 2022 อยู่ที่ร้อยละ 1.6%

อาหารอาทะเลแปรรูป ญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยปี 2022 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของจีนมีสัดส่วนราว 19% ต่อการนำเข้าอาหาร ทะเลแปรรูปพิกัดทั้งหมดของจีน โดยจีนนำเข้ามากได้แก่ ปูกระป๋อง กุ้งกระป๋อง หอยกระป๋อง แซลมอนกระป๋อง ทูน่ากระป๋องเป็นต้น ซึ่งปี 2023 จีนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นมีสัดส่วนลดลงจากปี 2022 อยู่ที่ร้อยละ 10%

มาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นของจีนส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าอาหารทะเลจากจีนลดลงอย่างมากซึ่งญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ เป็นอย่างมาก โดยประเทศจีนมีการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลโดยเฉพาะในพิกัด 0307 และ 1605 ในแหล่งอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

-พิกัด 0307 กลุ่มหอยเชลล์ กลุ่มประเทศที่จีนมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นได้แก่ อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย อินเดีย แคนาดา และไทย เป็นต้น

-พิกัด 1605 กลุ่มอาหารทะเลกระป๋อง กลุ่มประเทศที่จีนมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นได้แก่ เปรู แคนาดา มาเลเซีย ปากีสถาน ไทยเป็นต้น

ซึ่งหากไทยมีการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่ประเทศจีนจะเป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสให้แก่การส่งออกอาหารทะเลและ อาหารทะเลแปรรูปของไทย

การสร้างความมั่นใจด้านมาตรการความปลอดภัยในการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นของไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคไทย และคู่ ค้ารวมถึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

  • อย. เข้มมาตรการตรวจอาหารทะเลจากญี่ปุ่น

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ผนึกกำลังกับ กรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันเทคโนโลยี นิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กำหนดมาตรการตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น รับมือการปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในจังหวัดฟุกุชิมะลงสู่ทะเล ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนด

ปัจจุบันมีการผนึก 4 หน่วยงานตรวจเข้ม โดยการนำเข้าอาหารทะเล มีการดำเนินการของทั้งเจ้าหน้าที่ด่านประมง ของกรมประมง และด่าน อาหารและยา ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยี นิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โดยกรมประมงได้รับการถ่ายโอน ภารกิจมาจาก อย. ในการตรวจสอบสินค้าปลาและกุ้งแช่เย็น แช่แข็ง และ ในส่วน อย. ทำการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำอื่น ๆ เช่น หมึก หอย และปู ซึ่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการตรวจวิเคราะห์ ซึ่งหากพบจะผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนดสั่งเรียกคืน และระงับการนำเข้าทันที ส่วนตัวผลิตภัณฑ์จะใช้มาตรการส่งคืนหรือทำลาย

เผยผลตรวจอาหารทะเลจากญี่ปุ่น “ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี” พร้อมเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่นอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง

นับตั้งแต่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา-ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น ได้ปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลแล้วจำนวน 3 ครั้ง ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 วันที่ 5 ตุลาคม 2566 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ดำเนินการตรวจสอบการปนเปื้อนของซีเซียม-134 (Cs-134) ซีเซียม-137 (Cs-137) สทรอนเชียม-90 (Sr-90) และทริเทียม-3 (H-3) ในตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับจากกรมประมง และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มาอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง

กรมประมงและ อย. ได้มีการสุ่มตัวอย่างสัตว์น้ำเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์สารกัมมันตรังสี (ซีเซียม-134 (Cs-134) และซีเซียม-137 (Cs137)) จำนวนทั้งสิ้น 135 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ณ ด่านนำเข้า ทั้งทางท่าอากาศยานที่ขนส่งโดยเครื่องบิน และทางตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งทางเรือ จำนวน 105 ตัวอย่าง รวมถึงการสุ่มตรวจ ซึ่งสินค้าที่สุ่มตรวจเป็นสัตว์น้ำจำพวก ปลา กุ้ง หมึก หอย ปู และตัวอย่างอาหารแปรรูป สาหร่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในตัวอย่างอาหารที่ผลิตขึ้นโดยใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นจากร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ จำนวน 55 ตัวอย่าง เช่น ข้าวญี่ปุ่น ซูชิ ชาบูน้ำดำ ไข่ปลาแซลมอน เป็นต้น ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่า ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด

ปัจจุบันกรมประมง อย. และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้มีการกำหนดแผนการตรวจติดตามเฝ้าระวังสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เรียบร้อยแล้ว และกรมประมงได้เริ่มดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของการบริโภคอาหารทะเลที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และเชื่อมั่นในการตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลทั้งจากในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

  • ผลกระทบต่อไทยกรณีการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลที่ฟูกุชิมา-ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น

ผู้บริโภคไทยและร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย ในช่วงที่ผ่านมาอาจเกิดเกิดความกังวล และชะลอการบริโภคอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปชั่วคราวบ้าง แต่เนื่องด้วยไทยมีมาตรการ การตรวจสอบ และรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด อีกทั้งไทยมีการนำเข้าอาหารทะเลจากหลายแหล่ง จึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคไทยและคู่ค้าต่างประเทศของไทยได้

ร้านอาหารญี่ปุ่นบางแห่งไม่ได้นำเข้าวัตถุจากญี่ปุ่น เพราะยังมีแหล่งวัตถุอีกหลายประเทศที่ไทยนำเข้า ส่วนร้านอาหารญี่ปุ่นที่นำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของร้านเป็นคนญี่ปุ่น ได้ถ่ายทอดอย่างมั่นใจว่าเชื่อมั่นเรื่องการดำเนินการของรัฐบาลและมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารทะเลที่นำเข้าจากญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปนั้น ไทยมีการนำเข้าอาหารจากหลายประเทศรวมถึงจากญี่ปุ่นด้วย และไทยเป็นประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญเรื่องการแปรรูปและสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าได้อย่างชัดเจน มีแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารทะเลที่หลากหลายสามารถปรับตัวใช้ในการผลิตได้ ซึ่งในผู้ผลิตบางรายมีระบบสืบค้นย้อนกลับและและได้เพิ่มขั้นตอนทดสอบสินค้าให้สูงกว่าขั้นตอนปกติอีกขั้นเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บอกว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานผลกระทบเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าของไทยเนื่องจากสินค้าอาหารทะเลที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบในประเทศ ไม่ได้มีการนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นมาแปรรูปเพื่อส่งออกแต่อย่างใด แต่จะติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

  • โอกาสการส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้น

หากไทยมีการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของอาหารทะเลไทยและมาตรการการตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลไทยอย่าง เข้มงวดให้แก่คู่ค้าไทยได้จะเป็นการสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารทะเลและได้รับส่วนแบ่งในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อชดเชยส่วนแบ่งทาง การตลาดที่หายไปจากการส่งออกของญี่ปุ่น

  • มูลค่าการนำเข้าอาหารทะเลของจีนจากไทย

กลุ่มพิกัด 03 อาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ปี 2022 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11 ของจีนมีสัดส่วนราว 2% ต่อการนำเข้าอาหาร ทะเลทั้งหมดของจีน โดยจีนนำเข้ามากได้แก่ กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง ปูแช่เย็นและแช่แข็ง ปลาหมึกแช่แข็ง และหอยแช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งปี 2023 จีน นำเข้าอาหารทะเลจากไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2022 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 %

กลุ่มพิกัด 1604 และ 1605 ปลาและอาหารทะเลแปรรูป ปี 2022 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของจีนมีสัดส่วนราว 14% ต่อการนำเข้า อาหารทะเลแปรรูปทั้งหมดของจีน โดยจีนนำเข้ามากได้แก่ กุ้งกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง ปลาหมึกกระป๋อง ซาร์ดีนและแมคเคอเรลกระป๋อง เป็นต้น ซึ่งปี 2023 จีนนำเข้าอาหารทะเลแปรรูปเพิ่มมากขึ้นราว 16%