“นฤมล”นำทีมไทยแลนด์ถกญี่ปุ่นขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไทย

04 มี.ค. 2567 | 08:46 น.

“นฤมล”นำทีมหน่วยงานภาครัฐของไทย และทีมไทยแลนด์ หารือภาครัฐและภาคเอกชนญี่ปุ่น ขยายตลาดการค้า เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทย

วันนี้ (4 มี.ค. 67) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย นำทีมคณะผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของไทย ประกอบด้วย การยางแห่งประเทศไทย และ ทีมไทยแลนด์ในกรุงโตเกียว พบหารือกับ นาย Shin Hosaka  ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม  (Vice  Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) และนาย Norihiko Ishiguro ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization : JETRO)

                      “นฤมล”นำทีมไทยแลนด์ถกญี่ปุ่นขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไทย

ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า นาย Shin Hosaka ระบุว่า ประเทศญี่ปุ่นต้องการสร้างอุตสาหกรรมใหม่เพื่อรองรับอนาคตไปด้วยกัน ภายใต้คอนเซปต์การร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation) ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดของ “50 ปีใหม่”

โดย METI ได้ตั้งงบประมาณกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับภูมิภาค Global South ทั้งหมดเพื่อผลักดันกรอบการดำเนินงานดังกล่าวอย่างแข็งขัน และต้องการดำเนินโปรเจคท์ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องการประสานกับไทยทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม 

                    “นฤมล”นำทีมไทยแลนด์ถกญี่ปุ่นขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไทย

นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังส่งเสริมความร่วมมือภายใน Asia Zero Emission Community (AZEC) เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางพลังงาน ไปพร้อมกันกับการลดคาร์บอน ผ่านแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลายให้สอดคล้องกับภาวะของแต่ละประเทศ และขอรับการสนับสนุนจากไทยต่อไป 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการกำหนดส่งเสริมการจัดทำนโยบายเพื่อการลดคาร์บอน โดยก่อตั้ง Asia Zero Emission Center ขึ้นใน ERIA (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia) เพื่อผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ 

ตลอดจนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการสำรวจ วิเคราะห์ และจัดทำนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอื่น เช่น ดำเนินการสำรวจวิเคราะห์เกี่ยวกับขยะพลาสติกในน่านน้ำเศรษฐกิจหมุนเวียน

                      “นฤมล”นำทีมไทยแลนด์ถกญี่ปุ่นขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไทย

ผู้แทนการค้าไทย ได้กล่าวเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่น เข้ามาร่วมลงทุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย ยืนยันรัฐบาลไทยพร้อมอำนวยความสะดวก และมอบสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี 

พร้อมกันนี้ ประเทศไทยต้องการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น รวมทั้งผลักดันสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของไทย และหวังขยายการค้าการลงทุนอื่นๆ ด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทย รวมถึงผลไม้ของไทยที่มีรสชาติอร่อย เช่น กล้วยหอม 

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นทำสัญญารับซื้อกล้วยหอมจากประเทศไทย จำนวน 5,000 ตันต่อปี โดยหวังให้ญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนการสั่งซื้อ และช่วยประชาสัมพันธ์มังคุด ซึ่งเป็นราชินีผลไม้ไทยได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น

                  “นฤมล”นำทีมไทยแลนด์ถกญี่ปุ่นขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไทย

ผู้แทนการค้าไทย ระบุว่า จากที่ METI ได้ตั้งงบประมาณกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับภูมิภาค Global South สำหรับสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อรองรับอนาคตนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการดำเนินงาน ภายใต้งบประมาณสนับสนุนดังกล่าว 

ทั้งนี้ ประเทศไทยพยายามดึงดูดให้ญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศไทย โดยปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น เช่น การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษี การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย 

รวมทั้ง การส่งเสริมให้เอกชนญี่ปุ่นจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) ในประเทศไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ  

ผู้แทนการค้าไทย ยังเปิดเผยถึงผลการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่ม startup ผู้ประกอบการญี่ปุ่น ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตร และ ด้านคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ซึ่งกลุ่มบริษัท startup ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี สามารถนำไปต่อยอดในประเทศไทยได้ 

โดยผู้แทนการค้าไทย ได้เสนอแนะกับทางญี่ปุ่น ให้รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนงบประมาณให้กับบริษัท startup ญี่ปุ่น ผ่านการทำความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ เช่น ลงนาม M0U กับหน่วยงานของรัฐในเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถสนับสนุนงบประมาณได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยญี่ปุ่น และเกิดประโยชน์ต่อการใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

“ไทยและญี่ปุ่น เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติ ที่มีการลงทุนสะสมในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 โดยในปี 2566 ญี่ปุ่น ยังมีปริมาณการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 4 มูลค่า 65,472 ล้านบาท จำนวน 275 โครงการ คิดเป็น ร้อยละ 20 ของจำนวนโครงการต่างชาติ ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด

โดยประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุมัติให้ การส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดของญี่ปุ่น ได้แก่ (1) เครื่องจักรและยานยนต์ (2) อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ และ  (3) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์   ปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยกว่า 6,000 ราย จากบริษัททั้งหมดที่ลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 14,846 ราย” ผู้แทนการค้าไทย ย้ำ