4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น” นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน

02 มี.ค. 2567 | 09:46 น.

“อำนวย” แม่ทัพสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ 4 มี.ค. เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน พบโยงใย 7 กลุ่ม ดัดหลังคนโกงกินงบเด็ก ทำสัญญาเอ็มโอยูลวง ลั่นดำเนินคดีถึงที่สุด ขณะ “นัยฤทธิ์-วสันต์” ผู้ถูกพาดพิง โต้ทุกข้อกล่าวหา ยันจัดสรรโดย ขรก. ดำเนินตาม ป.ป.ช. แก้ฮั้วผูกขาด

อำนวย ทงก๊ก

 

นายอำนวย ทงก๊ก ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงความล้มเหลวของอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทยและการทุจริตในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนในช่วง 5 ปีการศึกษาที่ผ่านมา  พบกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริตนมโรงเรียน 7 กลุ่ม ได้แก่  1.คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม  หรือมิลค์บอร์ด โดยมีปลัดเกษตรฯ เป็นประธานฯ เป็นผู้รับรองบันทึกข้อตกลงซื้อขายน้ำนมโคหรือ MOU ที่เป็นเท็จ  2.กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำกับดูแลการซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบกับผู้ประกอบการทั้งหมดและสร้างข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบเป็นเท็จ มีจำนวน ปริมาณน้ำนมดิบมากกว่าความเป็นจริงที่มีอยู่เพื่อหวังผลประโยชน์

 

3.กรมปศุสัตว์  กำหนดหลักเกณฑ์และจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรเงรียนให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยไม่ตรวจสอบปริมาณน้ำนมโคที่มีอยู่จริง

 

4.ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เป็นกลุ่มสนับสนุนการทำ MOU ที่เป็นเท็จ ส่งผลให้นำไปใช้ขอเงินงบประมาณ เยียวยาเมื่อปี 2563 จำนวน 1,400 ล้านบาท และเกือบจะได้อนุมัติอีก 2,800 ล้านบาท ในปี 2564 แต่ถูกขัดขวางเสียก่อน

 

5.สมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบ  เป็นตัวปั้นข้อมูล ซึ่งเป็นแหล่งรวมศูนย์รวมรวมน้ำนมดิบภาคเอกชนทั้งหมดและสร้างตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบเท็จเกินให้กับสมาชิกโดยคิดค่าใช้จ่ายในการปั้นตัวเลขนมดิบเป็นเท็จกับผู้ประกอบการ/ศูนย์นม ตันละ 5,000 บาท/เดือน

 

6.สมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์  เป็นแหล่งรวบรวมผู้ประกอบการธุรกิจนมโรงเรียนเพียงอย่างเดียว มีสมาชิกที่มีเจ้าของกิจการแทบจะเป็นรายเดียวกัน หรือเป็นเครือข่ายเพื่อกระจายกันในการขอรับจัดสรรสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนเป็นจำนวนมากที่สุดของประเทศ โดยอาศัยตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบเท็จที่ผ่านการรับรองจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ มิลค์บอร์ด ผ่นการสนับสนุนจากชุมนุมฯ และสมาคมผู้รวบรวมน้ำนมดิบเอกชน

4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น”  นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน

 

7,สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย  เป็นตัวสนับสนุน การไซฟ่อนนม  เช่น ทำเอ็มโอยู ในปริมาณน้อยไม่เกิน 2 ตัน/วัน กระจายหลายคู่ค้า ทำคล้ายบัญชีม้า โดยมีผู้ประกอบการบางราย จะคอยรับซื้อน้ำนมดิบที่เหลือจากการลดสัดส่วนของโครงการนมโรงเรียนในราคาถูก เป็นการซื้อนอก MOU กับบัญชีม้าที่ทำไว้ หรือที่ไม่มีบัญชีไว้เลยก็มี

 

“การกระทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง จะดำเนินการให้ถึงที่สุด  แบบถอนรากถอนโคน เชื่อว่านายรัฐมนตรีไม่เอาไว้สำหรับผู้ที่ทำทุจริต ดังนั้นจึงไปยื่นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะรัฐมนตรีรับปากในเบื้องต้นแล้วว่าจะดำเนินการให้ตามข้อร้องเรียนให้เร็วที่สุด เพราะผลกระทบทั้ง 7 กลุ่ม ทำให้อาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประสบปัญหาเรื่องการส่งเสริมอาชีพ เนื่องจากสังคมเข้าใจผิดว่ายังมีปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด ทั้งที่ข้อเท็จจริงน้ำนมดิบขาดตลาด"

 

 

 

นอกเหนือจากนี้สหกรณ์โคนมที่มีน้ำนมดิบ และเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนต้องประสบปัญหาการขาดทุนจากหลักเกณฑ์จากการจัดสรรสิทธิ์จำหน่ายในเรื่องการลดสัดส่วนเพื่อให้ได้สิทธิจำหน่ายนมโรงเรียน ทำให้เกิดขบวนการซื้อขายน้ำนมดิบนอก MOU มีการกดราคารับซื้อน้ำนมดิบและเรียกรับเงินเพื่อช่วยเหลือรับซื้อน้ำนมดิบส่วนเกินจากหลักเกณฑ์ลดสัดส่วนทำให้สหกรณ์โคนมเกิดสภาพนมล้นจากการเข้าร่วมโครงการต้องมาขาดทุนจากการขายน้ำนมดิบสัดส่วนที่ถูกลดสัดส่วน แต่ผู้ประกอบการที่นำตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบเท็จมาสมัครเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนมิได้มีผลกระทบ  และท้ายสุดเกิดการทุจริตในโครงการนมโรงเรียนอย่างมากมาย  เช่น เด็กนักเรียนไม่ได้รับนมครบถ้วนจากเป้าหมาย และตามวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลจ่ายให้กับเด็กนักเรียนทั้งประเทศ

 

4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น”  นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน

สอดคล้องกับนายมงคลชัย ทงก๊ก ผู้จัดการ สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด กล่าวว่า เป็นเรื่องของสหกรณ์ที่จะไปยื่นหนังสือเข้าพบร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 4 มีนาคม 2567 นี้ได้มีการนัดหมายผ่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ เวลา 10.00 น. จะทำเอกสารแจกเป็นเล่ม เพื่อให้มีการตรวจสอบ เอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดการทุจริต

4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น”  นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน

ขณะที่นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติและอดีตประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า  ตั้งแต่ผมรับตำแหน่งประมาณ ปี 2560 ในกรรมการมิลค์บอร์ด และประธานชุมนุมฯ จะได้ยินเรื่องเล่ากิติศัพท์ถึง “มาเฟียนมโรงเรียน” ก็คือการจัดสรรสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรมในกรณีที่ไม่ใช่เอ็มโอยู อยากจะใช้สิทธิ์เท่าไรก็ต้องเป็นพวกใคร และวันนี้จึงมีหลักเกณฑ์ใหม่ว่าใครต้องรับผิดชอบน้ำนมดิบของเกษตรกรมาก ก็จะได้รับสิทธิ์มาก

 

พอหลังจากนั้นในยุคของรัฐมนตรีเกษตรฯ นายกฤษฎา บุญราช มาในปี 2563 ได้มีการแก้มติ ครม.ใหม่ ให้แบ่งเป็นกลุ่มภาค เป็นการพัฒนาปรับปรุงนมโรงเรียน เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำรอยในอดีต เช่น นมบูด นมเสีย เด็กท้องเสีย เนื่องจากนมไม่มีคุณภาพ เป็นต้น พอหลังจากปรับปรุงมาจากวันนั้นถึงวันนี้ เกษตรกรที่ต้องส่งน้ำนมดิบ ต้องผ่านมาตรฐาน 12.25% แล้วในช่วงแรกมีผู้ประกอบการโดนตัดสิทธิ์จำนวนมาก เพราะมาตรฐานสูงขึ้นก็ต้องปรับตัว ทำให้น้ำนมทุกที่ไม่มีการตกมาตรฐานเลย และหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีเปลี่ยนก็เพราะเกิดจาก ป.ป.ช. นำเสนอ ให้ปรับแก้ไขจนเป็นที่มาของคำว่าโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้เด็กได้ดื่มนมมีคุณภาพ ก็ทำให้เกษตรกรขายนมได้ วันนี้ทุกอย่างครบถ้วน

 

“ผมให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้ร้อง ว่าร้องทุกปี  1.มีวัตถุประสงค์อะไร 2.พอร้องแล้วตรวจสอบไปที่กองปราบฯ กองปราบก็ตรวจแล้วไม่มีความผิด แล้ววันนี้ลองย้อนไปดูในเรื่องที่ร้อง ทุกเรื่องที่เป็นข้อกล่าวหาร้องหมดทุกเรื่องแล้ว แล้วขบวนการตรวจสอบ ทุกปลัดก็ได้ดำเนินการแล้ว ไม่พบความผิด ดังนั้นการร้องในครั้งนี้มีนัยยะอะไรหรือไม่”

 

นายนัยฤทธิ์ กล่าวว่า ผมในฐานประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ วันนี้อยากให้หน่วยงานราชการต่างๆ เข้าไปตรวจสอบผู้ร้องว่ามีน้ำนมดิบจริงหรือไม่ แล้วผมทราบเบื้องต้นแล้วว่าไม่มีน้ำนมดิบ และ เสียสิทธิในการจัดสรรโควตานมโรงเรียนในครั้งนี้ และวันนี้ผมทราบว่าปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เซ็นลงนามประกาศลงนามแล้ว  ซึ่งทางผู้ร้องพยายามยับยั้งไม่ให้เซ็นประกาศ เพราะถ้าเซ็นจะเสียสิทธิ เพราะไม่มีน้ำนมดิบ จึงเป็นเหตุผลที่มาในการเรียกร้องในครั้งเพื่อยับยั้งทุกวิถีทางไม่ให้ปลัดลงนาม

 

“ฝากวิงวอนให้นายกรัฐมนตรีไปดูว่าน้ำนมดิบเอ็มโอยูในประเทศ มี 3,200 ตัน/วัน สหกรณ์ เอกชน ที่ดูแลเกษตรกรไม่อยากมีเรื่องมีราว ดูแลองค์กร เกษตรกร  ตั้งคำถามว่า วันนี้คนที่ร้องเรียนมีอยู่รายเดียว คนอื่นไม่ร้อง ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำไมคนอื่นไม่ร้อง ไม่เดือดร้อน ช่วยพิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกร”

4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น”  นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน

นายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ กล่าวถึงการร้องเรียนครั้งนี้พอทราบบ้าง แล้วก็รับฟัง ก็คาดว่าเป็นหนังม้วนเดิม ร้องเรียนทุกปี เพราะคงจะมองอีกมุมหนึ่งของอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่จะมีการจัดสรรสิทธิ์นมโรงเรียน และเขียนหลักเกณฑ์ในการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ ก็จะมาในลักษณะแบบนี้

 

“ปัจจุบันคนส่วนใหญ่อยู่ในกติกา ทุกคนเคารพกติกา เพราะกติกาจะมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการโดยข้าราชการทำ 100% และทุกคนเป็นผู้เล่น (สหกรณ์-เอกชน) ดังนั้นในเมื่อข้าราชการออกกติกามาอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติตาม แล้วที่ผ่านมาเรื่องร้องเรียนเรื่องนมไม่ได้คุณภาพก็น้อยลงไป รวมทั้งในเรื่องร้องเรียนความเป็นธรรมก็น้อยลง รวมทั้งมีการประกันให้กับเด็กนักเรียน ตลอดจนการกระจายการบริหารงานในกลุ่มต่างๆตามภูมิภาคได้รับความเป็นธรรม และมีปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้ทันที เร็วกว่าจัดส่วนกลาง สรุปก็คือ นมโรงเรียนมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น”

4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น”  นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน

 

นายวสันต์ กล่าวว่า กติกาที่ออกมาปกป้องเกษตรกร สามารถขายน้ำนมดิบให้กับผู้ประกอบการได้ ผู้ประกอบการก็สามารถที่จะได้สิทธิ์ในการจัดสรรมากกว่า รวมทั้งต้องรับผิดชอบน้ำนมดิบ 365 วัน ขณะที่นมโรงเรียนมีแค่ 260 วัน ส่วนน้ำนมดิบเกษตรกรที่ลดลง เกิดจากปัญหาต้นทุนสูงขึ้น ที่เกษตรกรเลิกเลี้ยง ปัญหาลากยาวมาจากช่วงโควิด สงคราม ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับ สิทธิ์ลดลงของนมโรงเรียน ก็ลดลงทุกปีตามจำนวนเด็ก สวนกับผู้ประกอบการที่มากขึ้น ก็ทำให้เกิดการแข่งขัน ก็เกิดผลดี ไม่ผูกขาดแข่งกันทำความดี เรียกว่าตั้งแต่มีหลักเกณฑ์นี้เกษตรกรไม่ต้องเทน้ำนมดิบทิ้ง ไม่มีนมล้น

 

หนังสือร้องเรียน

 

4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น”  นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน

 

4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น”  นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน

 

4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น”  นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน

4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น”  นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน

 

4 มี.ค. “สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น”  นัดรัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดโปงทุจริตนมโรงเรียน