“PJUS GROUP ” รับลูกพาณิชย์ สั่งลุย “ข้าว-ผลไม้แปรรูป” สู้ศึก ศก.มะกันผันผวน

24 ก.พ. 2567 | 08:01 น.

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ในปี 2566 สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ หรือจีดีพีใหญ่สุด เป็นอันดับ 1 ของโลก มีมูลค่าจีดีพี 26.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 943 ล้านล้านบาท )

ขณะที่สหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2566 ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังชะลอตัว(ปี 2566 ขยายตัว 2.5% จากปี 2565 ขยายตัว 2.1%) เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐยังอยู่ระดับสูง ไทยยังสามารถส่งออกไปสหรัฐได้ 1.68 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในปี 2567 การค้า การบริโภคภายในของสหรัฐจะเป็นอย่างไร “นายประมุข เจิดพงศาธร” ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท PJUS GROUP,USA ผู้จัดหาและนำเข้าสินค้าไทยป้อนให้กับตัวแทนจำหน่าย ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และเรือนจำในสหรัฐ และเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ (HTA) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในโอกาสเดินทางมาเมืองไทยเพื่อพบกับคู่ค้า พันธมิตร รวมถึงผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือถึงช่องทางโอกาสสินค้าไทยในตลาดสหรัฐเพิ่มเติม

“PJUS GROUP ” รับลูกพาณิชย์ สั่งลุย “ข้าว-ผลไม้แปรรูป” สู้ศึก ศก.มะกันผันผวน

รุกหนัก“ข้าว” สู้ศึกเศรษฐกิจสหรัฐผันผวน

นายประมุข สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐในเวลานี้ ในเรื่องอัตราเงินเฟ้อยังไม่ลดลงมาก ( ณ ม.ค.67 อยู่ที่ระดับ 3.1%) กำลังซื้อ และอัตราว่างงานดีขึ้น แต่ผู้บริโภคยังระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐในปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ยังมองต่างมุม มีทั้งมองว่าจะดีขึ้น ยังชะลอตัว หรือจะแย่ลงอีก

แต่ในข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งยังมีการประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงานต่าง ๆ ในการขอปรับเพิ่มค่าแรง ขณะที่ผลกระทบจากโควิดและจากเศรษฐกิจของสหรัฐที่ชะลอตัวในปีที่ผ่านมา มีผลให้มีบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ในสหรัฐจำนวนมากได้เลย์ออฟพนักงาน หรือเลิกกิจการไป ส่วนหนึ่งถูกซื้อกิจการจากต่างประเทศ เช่น จากจีน ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ และส่วนหนึ่งมีการควบรวมกิจการเพื่ออยู่รอด ในความเห็นส่วนตัวมองว่า ตราบใดที่ยังมีสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้น เศรษฐกิจโลกคงดีไปไม่ได้

ประมุข เจิดพงศาธร” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท PJUS GROUP,USA

อย่างไรก็ดีสหรัฐเป็นประเทศบริโภคนิยม และยังเป็นโอกาสของสินค้าไทย ในส่วนของ PJUS GROUP ในปีที่ผ่านมารวมถึงปีนี้ยังรุกหนักในการทำตลาดสินค้าอาหาร เฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวออร์แกนิค ทั้งในแบรนด์ของทางกลุ่มเอง (แบรนด์ QUEEN ELEPHANT) และในแบรนด์ของลูกค้า หรือในแบรนด์ของห้าง โดยทางกลุ่มได้ลุยโปรโมทข้าวหอมมะลิ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส (แอลเอ)ในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นพันธมิตรของบริษัทอย่างต่อเนื่อง มีการหุงข้าวให้ชิมรสชาติผ่านรสสัมผัสของผู้บริโภคโดยตรง ทำให้สินค้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในกลุ่มลูกค้าฮิสแปนิก ลูกค้าชาวเอเชีย และชาวอเมริกันที่นิยมบริโภคข้าว ซึ่งในปีนี้ทางกลุ่มจะลุยโปรโมทข้าวในกลุ่มลูกค้าภัตตาคารหรือฟู้ดเซอร์วิสที่ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก

 

 

  • เล็งเป้าทำตลาดสินค้า 50 รายการ

นอกจากนี้ยังได้ทำตลาดในกลุ่มนํ้ามะพร้าวที่ได้แตกไลน์ทำนํ้ามะพร้าวในรสชาติต่าง ๆ นํ้าผลไม้ ผักผลไม้กระป๋องต่าง ๆ ซอสศรีราชา นํ้าจิ้มไก่ ซอสกระเทียม และอื่น ๆ ซึ่งเวลานี้สินค้าที่ทางกลุ่มทำตลาดอยู่ในตลาดสหรัฐมีกว่า 20 รายการ และมีเป้าหมายจะทำไปให้ถึง 50 รายการ ผ่านคู่ค้าที่ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจำหน่าย(ดิสทริบิวเตอร์) ผู้จัดการ /เจ้าของห้างสรรพสินค้าที่มีสายสัมพันธ์อันดีส่วนตัวมากกว่า 100 ราย มีสาขารวมกันหลายพันสาขา

“ในปี 2566 ภาพรวมรายได้ของทางกลุ่มใกล้เคียงกับปีก่อน แต่กำไรทำได้ดีกว่า เพราะเราได้มูลค่าของแบรนด์ของเราเอง และแบรนด์ที่ทำให้กับลูกค้า ปีนี้เราตั้งใจจะทำยอดขายให้กลับไปอยู่ในระดับหลักพันล้านเหมือนที่เคยทำได้ก่อนเกิดโควิด”

 

 

  • ผลไม้อบแห้งโอกาสใหม่สินค้าไทย

ล่าสุดลูกค้าในสหรัฐได้มอบหมายให้ทางกลุ่มช่วยทำผลไม้อบแห้ง และผลไม้แปรรูปที่มองว่ามีโอกาสทางการตลาด สอดคล้องกับที่ตนได้มีโอกาสเข้าพบ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอยากให้ทางกลุ่มช่วยทำตลาดผลไม้แปรรูปจากประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เบื้องต้นจากที่ได้ศึกษาพบว่าสินค้าผลไม้อบแห้ง และผลไม้แปรรูปจากไทยมีศักยภาพ ทั้งรสชาติและคุณภาพมาตรฐานที่ดีกว่าคู่แข่งขัน ในเร็ว ๆ นี้ตนจะนำคณะเจ้าของห้างและคู่ค้ามาประเทศไทย เพื่อมาดูแปลงเพาะปลูก และให้ลูกค้าตรวจรับรองโรงงานของพันธมิตรเพื่อให้เกิดความมั่นใจและร่วมกันขยายตลาดต่อไป

 “การทำธุรกิจในปีนี้ยังมีปัจจัยลบอยู่มาก ที่สำคัญคือวิกฤตในทะเลแดง ที่มีการยิงเรือสินค้า ทำให้เรือมีความเสี่ยง และปรับขึ้นค่าระวาง บวกค่าประกันภัย และค่าเซอร์ชาร์จต่าง ๆ ส่งผลค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าไปยังฝั่งตะวันตกของอเมริกาปรับขึ้นเป็น 4,000 เหรียญต่อตู้ (20 ฟุต) จากปกติ 1,200 เหรียญ ส่วนฝั่ง East Coast ขึ้นไปถึง 7,000-8,000 เหรียญต่อตู้ ทำให้การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์มีความยุ่งยากมากขึ้น และมีต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีแนวคิดในการทำธุรกิจของผมคือไม่โลภ ทำเฉพาะสินค้าที่ลูกค้าต้องการให้เราทำ ไม่ใช่ทำสินค้าที่เราอยากจะทำ”

นายประมุข กล่าวอีกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดโควิดทางห้างค้าปลีก และซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐ ได้มีแนวคิดที่จะทำแบรนด์สินค้าของตัวเองมากขึ้น เพราะการทำแบรนด์ตัวเองทำให้สินค้ามีราคาถูกกว่าแบรนด์ดัง ๆ ในท้องตลาด  ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างผลกำไรได้มากขึ้น ซึ่งจากที่ 10 กว่าปีมานี้ ตนได้เดินทางพบปะกับเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงของห้างจนเกิดความสนิทสนม และทำให้ได้รับความไว้วางใจเชื่อใจ ดังนั้นเมื่อลูกค้ามีสินค้าอะไรที่อยากให้ช่วยทำ หรือจัดหาให้ ทางกลุ่มจึงได้รับอานิสงส์ และเริ่มมาผลิดอกออกผลในเวลานี้