คลังจ่อรื้อเกณฑ์ ยกเว้น VAT สินค้านำเข้า เหลือไม่เกิน 1,000 บาท

16 ก.พ. 2567 | 07:22 น.

วงในคลังเผยผลหารือเบื้องต้น เตรียมรื้อเกณฑ์ ปรับลดวงเงินสินค้านำเข้าขายออนไลน์เหลือไม่เกิน 1,000 บาทไม่ต้องเสีย VAT ชี้เหมาะสมใกล้เคียงนานาชาติ ขณะ “จุลพันธ์” จ่อเก็บ VAT สินค้านำเข้าทั้งหมด ระบุแค่แก้กฎหมายสรรพากร เอกชนชี้เหลือ 1 พันไม่ตอบโจทย์ แนะดูตัวอย่างอินโดฯ

หลังจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอรัฐบาลพิจารณาทบทวนข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ประกอบการไทย พร้อมทบทวนนโยบายและเงื่อนไขในการใช้สิทธิประโยชน์ใน Free Trade Zone รวมทั้งการออกมาตรการปกป้อง

ผู้ประกอบการในประเทศ เช่น การนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (Anti-Circumvention: AC) มาบังคับใช้ การเพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร และการเร่งออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ครอบคลุม

คลังจ่อรื้อเกณฑ์ ยกเว้น VAT สินค้านำเข้า เหลือไม่เกิน 1,000 บาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้หารือรอบนอกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการทบทวนการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่มีการสั่งซื้อและส่งเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่มีหีบห่อ ราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาทแล้ว ได้ข้อสรุปว่าจะมีการปรับวงเงินสินค้าที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีดังกล่าวลงมาเหลือไม่เกิน 1,000 บาท

ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ แล้วเห็นว่าไม่สามารถยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะจะทำให้ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ แต่สามารถปรับลดวงเงินลงมาให้เหมาะสมใกล้เคียงกับประเทศต่าง ๆ ได้ ซึ่งเห็นว่าวงเงินที่จะปรับลดลงมาเหลือ 1,000 บาทเป็นวงเงินที่เหมาะสม

ส่วนเรื่องการกำหนดเงื่อนไขใน Free Trade Zone โดยเฉพาะการนำมาตรฐานอาหารและยา หรือ มาตราฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมาใช้กับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศนั้น ทางองค์การอาหารและยา (อย.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร กำลังหารือร่วมกันอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร

ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า รัฐบาลได้มอบนโยบายให้ทบทวนการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ล่าสุด วันที่ 15 ก.พ.2567 กระทรวงการคลังได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนเรื่องดังกล่าว

สำหรับการภาษี VAT ที่มีการยกเว้นให้กับสินค้าที่นำเข้ามาราคาไม่เกิน 1,500 บาทนั้น มีนโยบายให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด เพื่อสร้างความเท่าเทียม ส่วนวิธีการ และขั้นตอน ให้หน่วยงานราชการไปศึกษาว่าจะใช้วิธีการจัดเก็บอย่างไร เพื่อให้เกิดความเหมาะสม

“ยอมรับว่า ปัจจุบันมีสินค้าที่นำเข้ามาในลักษณะนี้ และได้รับการยกเว้นภาษีมีจำนวนมากหลายสิบ ล้านชิ้น จึงเป็นเรื่องยากหากต้องมีการเปิดตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามาทั้งหมด ส่วนแนวทางที่เสนอให้แพลตฟอร์ม ผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์จัดเก็บภาษีและนำส่งรายได้ให้รัฐบาล ก็เป็นแนวทางที่เป็นไปได้ แต่เรื่องนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการสำแดงราคาสินค้าว่าจะเป็นเท็จหรือไม่”

ขณะที่การยกเว้นอากรขาเข้าในกลุ่มสินค้าที่ราคาไม่สูงก็เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีการยกเว้นเรื่องภาษีกลุ่มสินค้าราคาต่ำอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันกำหนดราคาสินค้าไว้ไม่เกิน 1,500 บาท อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าไปดูรายละเอียด ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนได้ จากในอดีตมีการปรับเปลี่ยนจากราคา 500 บาท เป็น 1,500 บาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังได้ประชุม 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมศุลกากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณาการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท มีนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ที่ประชุม ได้มีมติเห็นว่า ควรที่จะมีการจัดเก็บภาษี VAT สำหรับสินค้าที่มูลค่าดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาข้อได้เปรียบจากสินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาดไทย และจงใจหลีกเลี่ยงภาษีจากผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

ปัจจุบันสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี VAT เนื่องจากประมวลรัษฎากรได้เขียนผูกไว้กับกฎหมายศุลกากร ที่ให้ยกเว้นการเก็บภาษี VAT ในสินค้านำเข้าที่กรมศุลกากรยกเว้นอากรให้ ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการยกเว้น คือ สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า ดังนั้นหากจะต้องจัดเก็บภาษี VAT ในสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท กรมสรรพากรจะต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมาย เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษี VAT สำหรับสินค้าดังกล่าวได้

 “เรื่องการแก้ไขกฎหมายสรรพากรนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขอให้สามารถจัดเก็บภาษีได้จริง และคุ้มค่าต่อการจัดเก็บ เพราะการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าต่ำนั้น ปัจจุบันมีปริมาณเข้ามาจำนวนมากหลายสิบล้านชิ้นต่อวัน หากจะให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีทุกรายการสินค้านำเข้านั้น จะสามารถทำได้หรือไม่ หรือจะใช้แนวทางใดในการจัดเก็บ ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่พิจารณา คือ การจัดเก็บบนแพลตฟอร์มที่ขายสินค้าให้กับไทยเลย เรื่องนี้จึงต้องกลับไปพิจารณาอย่างรอบคอบ”

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่า หากจะมีการปรับลดวงเงินราคาสินค้านำเข้า เพื่อจำหน่ายในช่องทางออนไลน์จากเดิมไม่เกิน 1,500 บาท เหลือไม่เกิน 1,000 บาท ไม่ต้องเสีย VAT นั้น มองว่า สามารถลดปัญหาสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้ามาในไทยได้เล็กน้อย เพราะสินค้าที่เข้ามาส่วนใหญ่ราคาต่ำกว่า 1,000 บาท หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวจริง แนะให้ไปดูกฎหมายของอินโดนีเซีย ที่ป้องกันสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา และปกป้องผู้ประกอบการในประเทศได้ดีมาก

ขณะผู้ประกอบการห้างค้าปลีกรายใหญ่ ให้ความเห็นว่า การปรับมาตรการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อและผู้ประกอบการมากนัก เพราะราคาสินค้าเฉลี่ยในการสั่งซื้อทางออนไลน์ ส่วนใหญ่มีระดับราคาไม่สูงมากนัก โดยเฉพาะสินค้าจากจีน ที่เฉลี่ยยอดการสั่งซื้อต่อชิ้นจะอยู่ที่หลักร้อยบาท ขณะที่สินค้าส่วนใหญ่ที่สั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศมีราคาต่ำกว่าหลัก 1,000 บาท ยกเว้นการสั่งซื้อสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะต้องเสียภาษีอยู่แล้ว