“กรมการข้าว” พลิกเกมสู้ศึกข้าวโลก เปิดรับรองพันธุ์ใหม่เอกชน ให้ผลผลิตสูง

05 ก.พ. 2567 | 04:53 น.

“กรมการข้าว” พลิกเกม เปิดทางเอกชน-สถาบันการศึกษา นำพันธุ์ข้าวมาให้รับรองได้เป็นครั้งแรก “สมาคมชาวนาฯ-โรงสี” ลุ้นได้หลากพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูงแจ้งเกิด เพิ่มรายได้เกษตรกร ห่วงปั่นราคาขายเกินจริง ด้านส่งออกข้าวไทยคึกคัก “เอเซีย โกลเด้นไรซ์” รั้งเบอร์หนึ่ง 7 ปีซ้อน

จากนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ประกาศว่า ปีนี้ “กรมการข้าว” จะมีรับรองพันธุ์ข้าว 8 สายพันธุ์ใหม่ในเดือนเมษายน โดยจะเป็นพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ทั้งปี มีอายุการเก็บเกี่ยวไม่เกิน 95 วัน เพื่อนำไปแข่งขันส่งออกในตลาดโลกที่มีอินเดีย และเวียดนาม เป็นคู่แข่งสำคัญ

“กรมการข้าว” พลิกเกมสู้ศึกข้าวโลก เปิดรับรองพันธุ์ใหม่เอกชน ให้ผลผลิตสูง

แหล่งข่าวจากกรมการข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากภารกิจ และนโยบายเร่งด่วนดังกล่าว อธิบดีกรมการข้าว ได้มีคำสั่งให้กองวิจัยและพัฒนาข้าว เปิดรับข้อมูลสายพันธุ์ข้าว เพื่อเสนอขอรับการรับรองพันธุ์ ประจำปีงบประมาณ 2567 ตามแผนดำเนินงานยุทธศาสตร์ข้าวไทย เพื่อขยายพันธุ์เผยแพร่แนะนำแก่เกษตรกรทั่วไปได้ใช้เป็นพันธุ์ปลูกและใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ซึ่งประกาศในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก จากปกติทางกรมฯซึ่งมีศูนย์วิจัยข้าว 28 แห่งทั่วประเทศ จะมีการจัดงบประมาณนำไปใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อมาเป็นพันธุ์รับรอง

“ที่ผ่านมาไม่มีพันธุ์ข้าวที่มาจากสถาบันการศึกษาที่ศึกษาวิจัยกัน เพราะไม่สามารถระบุพ่อแม่พันธุ์ได้ และไม่ได้มีการนำไปปลูกทดสอบในแปลงนาของเกษตรกร ทำให้การรับรองพันธุ์ไม่สมบูรณ์ตามหลักวิชาการ ในอนาคตหากเกษตรกรนำไปปลูกต่อ พันธุ์อาจจะผิดเพี้ยน เสี่ยงต่อการถูกเกษตรกรฟ้องภายหลังได้”

“กรมการข้าว” พลิกเกมสู้ศึกข้าวโลก เปิดรับรองพันธุ์ใหม่เอกชน ให้ผลผลิตสูง

นายจารึก กมลอินทร์ ประธานกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการร้องเรียนจากบริษัท และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ว่ากรมการข้าวไม่เปิดให้มีการรับรองพันธุ์ข้าวจากภายนอกเลย เหมือนเป็นการปิดกั้น ดังนั้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีพันธุ์ข้าว อยากให้กรมฯรับรอง จึงเป็นที่มาของโครงการในครั้งนี้

“กรมการข้าว” พลิกเกมสู้ศึกข้าวโลก เปิดรับรองพันธุ์ใหม่เอกชน ให้ผลผลิตสูง

ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ทางกรมการข้าวจะเปิดให้มีการยื่นรับรองพันธุ์ข้าวจากภายนอก เพราะการวิจัยพันธุ์ข้าวแต่ละชนิดต้องใช้เวลานาน หากมีมหาวิทยาลัยหรือภาคเอกชนเข้ามาร่วม ก็เปรียบเหมือนเวทีประกวด ซึ่งพันธุ์ข้าวแต่ละชนิดจะดี-เด่นไม่ได้จบที่การวิจัยพันธุ์ แต่จบด้วยการนำไปเพาะปลูกจริง ได้ผลผลิตที่ดีจริง และมีความเสถียรของคุณภาพเมล็ดพันธุ์

อย่างไรก็ดีสิ่งที่กรมการข้าวต้องระมัดระวังคือ พอรับรองพันธุ์ข้าวซึ่งถือเป็นการการันตีคุณภาพแล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดกระแสการปั่นราคา จากคุณสมบัติเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกินจริง ทำให้เกษตรกรหลงเชื่อ และซื้อไปปลูก และอาจได้รับความเสียหายตามมา

 

“กรมการข้าว” พลิกเกมสู้ศึกข้าวโลก เปิดรับรองพันธุ์ใหม่เอกชน ให้ผลผลิตสูง

ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ฟังเสียงชาวนา จากก่อนหน้าเคยเสนอเรื่องนี้ไป ซึ่งที่ผ่านมาอธิบดีกรมการข้าวห่วงว่า ไม่รู้ที่มาที่ไปของพ่อแม่พันธุ์ข้าวแต่ละชนิดที่นำมาใช้พัฒนาสายพันธุ์อย่างชัดเจน หากรับรองไปจะผิดระเบียบกรมการข้าว ว่าด้วยหลักเกณฑ์การรับรองพันธุ์ข้าว พ.ศ. 2560 ครั้งนี้ถือเป็นการปลดล็อก หากมีการพิสูจน์เพื่อรับรองสายพันธุ์ที่ดีตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน และช่วยให้เกษตรกรปลูกข้าวได้ผลผลิตไม่ตํ่ากว่า 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตันต่อไร่ ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

“กรมการข้าว” พลิกเกมสู้ศึกข้าวโลก เปิดรับรองพันธุ์ใหม่เอกชน ให้ผลผลิตสูง

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวที่ผ่านการรับรองจากกรมการข้าวแล้ว 172 พันธุ์ ในอดีตใช้เวลาในการพัฒนาและปรับปรุงประมาณ 10-12 ปีต่อสายพันธุ์ ปัจจุบันได้พยายามลดขั้นตอน โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้มีระยะเวลาสั้นที่สุด

“กรมการข้าว” พลิกเกมสู้ศึกข้าวโลก เปิดรับรองพันธุ์ใหม่เอกชน ให้ผลผลิตสูง

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว เผยว่า ในปี 2566 ไทยสามารถส่งออกข้าวได้มากกว่า 8.7 ล้านตัน โดยผู้ส่งออกข้าว 10 อันดับแรก ใน 2 อันดับแรกยังไม่เปลี่ยนแปลง อันดับ 1 ยังเป็นกลุ่มเอเซีย โกลเด้นไรซ์ ส่งออกได้ 1.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.04 ล้านตัน ยังครองอันดับหนึ่ง 7 ปีต่อเนื่อง ส่วนอันดับ 2 กลุ่มนครหลวงค้าข้าว ส่งออกได้ 1.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกได้ 858,214 ตัน (กราฟิกประกอบ)

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,963 วันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567