กรมวิชาการเกษตร ชงร่างอนุบัญญัติ รองรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

24 ธ.ค. 2566 | 04:00 น.

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมเสวนา “เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา ดาวก็รักเธอ”พร้อมเสนอ ร่างอนุบัญญัติกฎหมายเกษตร เพื่อรองรับ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด

ผู้สื่อข่าวรายงาน (24 ธ.ค. 2566) ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมรับฟัง และมอบนโยบายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา ดาวก็รักเธอ” ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้และขยายผลการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในโอกาสนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมเสวนาวิชาการ และนำเสนอร่างอนุบัญญัติกฎหมายเกษตร เพื่อรองรับ พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

กรมวิชาการเกษตร ชงร่างอนุบัญญัติ รองรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ร่างอนุบัญญัติกฎหมายเกษตร จัดทำเพื่อรองรับพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด โดยกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาในระยะยาว ตามโครงการศึกษาเชิงนโยบายเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเกษตรเพื่อให้สอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมีบทเฉพาะกาล เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3R ทางกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงาน เพื่อร่าง อนุบัญญัติฯ สำหรับภาคเกษตร เพื่อรองรับ พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยมีสาระหลัก ๆ 4 หมวด ประกอบด้วย

หมวด 1 กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน

เป็น การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์การใช้ที่ดินสำหรับปลูกพืชต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสม และมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของภาคธุรกิจ  เข้าลักษณะเป็นการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา  5 (2) แห่งพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522

กรมวิชาการเกษตร ชงร่างอนุบัญญัติ รองรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

หมวด 2 การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูง  

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูง อาจมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นเลขานุการ

กรมวิชาการเกษตร ชงร่างอนุบัญญัติ รองรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

หมวด 3 การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรแบบไม่เผาสำหรับการเพาะปลูกข้าว

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การปรับเปลี่ยนมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลัก ได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน

หมวด 4 ระบบการรับรองผลิตผลทางการเกษตรแบบไม่เผา (PM 2.5 Free)

มีการแยกข้อกำหนดตามชนิดพืชสำคัญ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน โดยกรมวิชาการเกษตร และ ข้าว โดยกรมการข้าว

กรมวิชาการเกษตร ชงร่างอนุบัญญัติ รองรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

อธิบดีกรมวิชาการ กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ดำเนินการในหลายๆ กิจกรรมดังนี้ การร่วมจัดนิทรรศการ และดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เพื่อลด PM2.5 ภาคเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ จำนวน 7 ตำบล 10 หมู่บ้าน 32,160 ไร่ 2,048 ครัวเรือน รวมถึงการตรวจรับรอง GAP ข้าวโพดเมล็ดแห้ง (มกษ.4402-2553) ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 โดยจัดทำแปลงต้นแบบการผลิตพืชแบบไม่เผาตามแนวทาง 3R ลดปัญหาฝุ่นควันภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ใน 3 ส่วนคือ

1.Re-Habit ปรับเปลี่ยนนิสัย/พฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผา เช่น การปลูกข้าวโพด อ้อย ในพื้นที่เดิมแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกที่ไม่เผา

2.Replace with High value crops ปรับเปลี่ยนพืชจากพืชล้มลุกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น ไม้ผล (กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวกาโด) หรือไม้ยืนต้น และไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน

 3.Replace with Alternate crops ปรับเปลี่ยนพืชในพื้นที่นาปรัง หรือพื้นที่นอกชลประทานเป็นข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น

กรมวิชาการเกษตร ชงร่างอนุบัญญัติ รองรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด

นอกจากนี้ยังมีการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู สำหรับข้าว ช่วยตรึงไนโตรเจน ละลายฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เพิ่มการนำธาตุเหล็ก เข้าเซลล์พืช โดยใช้พีจีพีอาร์-ทู 1 ถุงคลุกเมล็ดก่อนปลูก หรือใช้ผสมกับปุ๋ยหมักหมัก 250 กก./ไร่ หรือใช้คลุกเคล้ากับปุ๋ยเคมีรองพื้น 15-20 กก./ไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดน้ำและปุ๋ย 15% เพิ่มปริมาณราก 20% เพิ่มผลผลิตข้าว 10% ลดการใช้ปุ๋ยเคมี 25%

การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายวัสดุอินทรีย์เพื่อลดการเผาตอซังข้าวและทำปุ๋ยหมัก ช่วยหมุนเวียนธาตุอาหารในนาข้าว ประหยัดต้นทุนการไถ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินและลดฝุ่น PM2.5 รวมถึงการจัดทำโครงการการพัฒนากระบวนการผลิต ถ่านชีวภาพ (Biochar) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) และทดสอบการใช้ประโยชน์ในการผลิตกาแฟอะราบิกาและโรบัสตาแบบ Low carbon ต่อไป

“การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ประชาชน และเกษตรกรโดยทั่วไปต้องรับรู้ และร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขให้ทันการณ์ มีความเข้าใจสาเหตุของปัญหาที่ถูกต้อง รวมถึงตระหนักว่าการก่อมลพิษมีต้นทุนที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ และขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกัน ในการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมี สุขภาพที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่สะอาด สามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้าง และขยายผลการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้าย