ลุยปราบสินค้าเถื่อน “กรมวิชาการเกษตรฯ-ปศุสัตว์ “ โชว์ 99 วันทำได้จริง!

21 ธ.ค. 2566 | 06:02 น.

เปิดผลงาน 2 อธิบดี “กรมวิชาการเกษตรฯ-ปศุสัตว์ “ สนองนโยบายรัฐมนตรีเกษตรฯ ลุยปราบสินค้าเถื่อน โชว์ 99 วันทำได้จริง!

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้การกำกับดูแลของ 3 รัฐมนตรี ประกอบด้วย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการฯ นายไชยา พรหมมา รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ เตรียมแถลงผลงาน “เกษตรฯ 99 วันทำได้จริง” ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้ “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์ 2 อธิบดีถึงผลการดำเนินงานรอบ 99 วันเพื่อเป็นหนังตัวอย่าง

ลุยปราบสินค้าเถื่อน “กรมวิชาการเกษตรฯ-ปศุสัตว์ “ โชว์ 99 วันทำได้จริง!

เริ่มจาก นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ที่เผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้นำนโยบายของรัฐมนตรีมาปฎิบัติอย่างเข้มข้น โดยบังคับใช้กฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ 5 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ร.บ.วัตถุอันตราย, พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ร.บ.กักพืช และ พ.ร.บ. ควบคุมยาง  ทั้งนี้ได้จัดตั้งทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.เพื่อดำเนินการ เพื่อรองรับนโยบายรัฐมนตรีเกษตรฯ ในด้านต่าง ๆ อาทิ จัดตั้งทีม “ฉก.พญานาคราช” ลุยปราบสินค้าเกษตรเถื่อน (สินค้าพืช ประมง ปศุสัตว์) บูรณาการร่วมกับกองทัพบก แม่ทัพภาคที่ 1-4 ปปง., กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และอัยการสูงสุด เพื่อลดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจและการแทรกแซงกลไกตลาดตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี

 

โดยการปฏิบัติงาน 99 วัน ได้มีการบูรณาการร่วมตรวจห้องเย็นร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ทั้งหมด 107 จุด ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แพร่ มุกดาหาร หนองคาย บึงกาฬ สุรินทร์ สระแก้ว ตราด จันทบุรี ระยอง ระนอง กาญจนบุรี และสมุทรปราการ

 

ในส่วนการปราบปรามยางพาราผิดกฎหมาย ได้สนธิกำลังกับหน่วยงานด้านความมั่นคงอายัดยางพาราที่ต้องสงสัยผ่านพรมแดนจังหวัดกาญจนบุรีจำนวน 29 ตัน มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท และ จังหวัดระนอง จำนวน 75 ตัน มูลค่ากว่า 3.75 ล้านบาท ทั้งนี้ได้ทำหนังสือถึงศุลกากรตรวจสอบความผิดการลักลอบ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร และอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของพนักงานสอบสวน

 

ลุยปราบสินค้าเถื่อน “กรมวิชาการเกษตรฯ-ปศุสัตว์ “ โชว์ 99 วันทำได้จริง!

 

 “จากการปฏิบัติภารกิจทำให้ราคายางพารามีแนวโน้มสูงขึ้นโดยรวมทุกชนิด อาทิ ยางแผ่นดิบ ปรับขึ้น 3.89 บาท ต่อกิโลกรัม (กก.) เป็นต้น สร้างความเชื่อมั่นและสร้างเสถียรภาพราคายางให้กับเกษตรกร”

 นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า การปฏิบัติการต้องเป็นไปตามยุคสมัย เนื่องจากปัจจุบันสื่อออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรให้ได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ จึงได้จัดตั้งสารวัตรเกษตรไซเบอร์ เพื่อตรวจสอบร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร มีผลงานเด่น อาทิ สามารถจับกุมการลักลอบนำเข้าวัตถุอันตรายทางด่านท่าเรือกรุงเทพฯ 2 ครั้ง จำนวน 2.08 แสนลิตร มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ดีเอสไอกำลังสืบสวนเพื่อขยายผล เป็นต้น

มารู้จักอีกหนึ่งในคณะทำงานทีม ฉก.พญานาคราช “นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์” อธิบดีกรมปศุสัตว์ ที่กล่าวถึงผลงานเด่นในรอบ 99 วัน เริ่มจากโครงการพระราชดำริ อาทิ โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ (ธคก.) มีเกษตรกรได้รับการสนับสนุนโค-กระบือ จำนวน 2,120 ราย โค-กระบือ จำนวน 2,368 ตัว คิดเป็นมูลค่า 66.34ล้านบาท และเกษตรกรได้รับมอบกรรมสิทธิ์โค-กระบือ จำนวน 2,634 ราย โค-กระบือ จำนวน 3,517 ตัว คิดเป็นมูลค่า 71.92 ล้านบาท

 

ลุยปราบสินค้าเถื่อน “กรมวิชาการเกษตรฯ-ปศุสัตว์ “ โชว์ 99 วันทำได้จริง!

รวมถึงเตรียมมาตรการรองรับภัยพิบัติ โรคระบาดพืชและสัตว์ การสนับสนุนเสบียงสัตว์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ได้แก่ หญ้าอาหารสัตว์พระราชทานสนับสนุนเสบียงสัตว์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) จำนวน 675,820 กก. เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือ 6,675 ราย และการสนับสนุนอาหารสัตว์ช่วยเหลือทั่วไป จำนวน 49,440 กก. แก่เกษตรกร 949 ราย พร้อมยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร อาทิ โครงการสถานที่จำหน่ายปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค (ปศุสัตว์ OK) มีมากถึง 9,239 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์จำนวน 5,621 แห่ง และสถานที่จำหน่ายไข่สดจำนวนแห่ง 3,671 แห่ง และ มีการตรวจสถานที่จำหน่าย 277 แห่ง และตรวจเฝ้าระวังเชื้อจุลชีพและสารตกค้าง 48 ตัวอย่าง

 

ลุยปราบสินค้าเถื่อน “กรมวิชาการเกษตรฯ-ปศุสัตว์ “ โชว์ 99 วันทำได้จริง!

“หลังประเทศไทยได้คืนสถานะประเทศปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse sickness: AHS) มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2566 ก็ได้มีการจัดการแข่งขันขี่ม้ารายการใหญ่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คนทั่วโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยไม่มีโรคนี้แล้ว และปิดท้ายข่าวดีไทยสามารถส่งออกโคกระบือไปเวียดนาม โดยมีฟาร์มที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 14 ฟาร์ม จำนวนโคกระบือประมาณ 7,000 ตัว มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 295 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 จนถึงธันวาคม 2566 ได้มีการส่งโคเนื้อไปยังเวียดนามแล้ว 2,101 ตัว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 89 ล้านบาท นับว่าเป็นข่าวดีต่อเกษตรกรไทยที่สามารถขยายตลาดการส่งออกโคกระบือมีชีวิตไปยังต่างประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยต่อไป” นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าว