กล้วยหอมทองโคราช โกอินเตอร์ ญี่ปุ่นสั่งซื้อ 5พันตัน ค่ากว่า 100 ล้าน

09 ธ.ค. 2566 | 04:09 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2566 | 04:19 น.

เกษตรกรปลูกกล้วยหอมโคราช เฮ ! ญี่ปุ่นออเดอร์กล้วย 5,000ตัน มูลค่า 100 ล้านบาท เริ่มส่งมอบปี 67 ชี้กล้วยไทยคุณภาพสูงเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่น คุมเข้มปลอดสาร

เมื่อเร็วๆ นี้ที่ห้องประชุมลำตะคอง โรงแรมแคนทารี่ จ.นครราชสีมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มีการจัดพิธีเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมทองระหว่างคณะตัวแทนผู้ซื้อ จากประเทศญี่ปุ่น กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอม ตำบลสุขไพบูลย์ ตั้งอยู่ที่ ต.สุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ได้ทำการเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมทอง ปริมาณกว่า 5,000 ตัน มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

กล้วยหอมทองโคราช โกอินเตอร์ ญี่ปุ่นสั่งซื้อ 5พันตัน  ค่ากว่า 100 ล้าน

ทั้งนี้ เป็นการขยายช่องทางในการจำหน่ายกล้วยหอมทองให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ ถือเป็นครั้งแรกที่จะได้นำผลผลิตในพื้นที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ 

 

นายสมศักดิ์  แสงรัมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมตำบลสุขไพบูลย์ กล่าวว่า ในฐานะประธานกลุ่มฯ รู้สึกดีใจและภูมิใจที่กล้วยหอมทองจากอำเภอเสิงสางได้ส่งไปขายยังต่างประเทศซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่กล้วยหอมในพื้นที่ถูกนำไปขายยังต่างประเทศ

กล้วยหอมทองโคราช โกอินเตอร์ ญี่ปุ่นสั่งซื้อ 5พันตัน  ค่ากว่า 100 ล้าน

โดยก่อนหน้านี้ผลผลิตกล้วยหอมของกลุ่มฯนั้นจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศ โดยตนเชื่อมั่นว่ากล้วยหอมจากอำเภอเสิงสางนั้นจะต้องถูกใจคนญี่ปุ่นแน่เนื่องจากลูกใหญ่ หวาน หอม อร่อย ซึ่งจากการเซ็นสัญญาซื้อกล้วยหอมจากตัวแทนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
 

ขณะที่นายสยาม  สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า อำเภอเสิงสางนั้นเป็นแหล่งผลิตกล้วยหอมทองใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา  โดยมีพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมทองถึง 1,350 ไร่ มีปริมาณผลผลิตได้ถึง 8,100 ตันต่อปี และทางจังหวัดนครราชสีมาเองก็เตรียมส่งเสริมในด้านการขยายพื้นที่การผลิตกล้วยหอมทองในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ขณะนี้คงต้องมุ่งเน้นไปที่คุณภาพของกล้วยหอมทองให้อยู่ในเกณฑ์ที่ผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นต้องการ

กล้วยหอมทองโคราช โกอินเตอร์ ญี่ปุ่นสั่งซื้อ 5พันตัน  ค่ากว่า 100 ล้าน

ขณะที่ตัวแทนผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า  จากการลงพื้นที่แปลงปลูกกล้วยหอมของเกษตรกร พบว่ามีการปลูกเป็นระบบรวมตัวกันเข็มแข็ง ซึ่งตลาดญี่ปุ่นจะเข้มงวดเรื่องการใช้สารเคมี กล้วยที่ส่งไปขายในตลาดญี่ปุ่นต้องเป็นกล้วยปลอดสารเคมีและมีขนาดตามที่ต้องการ เชื่อว่าเกษจรกรไทยจะสามารถผลิตกล้วยหอมได้ตามที่ญี่ปุ่นต้องการ