โคราชประตูอีสาน สู่… เจ้าภาพ “มหกรรมพืชสวนโลก 2029” สะพัดกว่า 1.8 หมื่นล้าน

10 พ.ย. 2566 | 06:14 น.

โคราชตื่นตัว พร้อมเป็นเจ้าภาพ จัดงาน “มหกรรมพืชสวนโลก 2029” ทุ่มกว่า 4,000 ล้าน คาดรายได้สะพัดกว่า 18,000 ล้านบาท ลุ้น!กรรมการ AIPH เคาะกลางปี 2567

จังหวัดนครราชสีมาประตูสู่ภาคอีสาน ได้ชื่อว่าเป็น "มหานครแห่งภาคอีสาน"  มีพื้นที่ปกครองมากถึง 32 อำเภอ มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ราว 2.6 ล้านคนไม่รวมประชากรแฝง รองจากกรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 20,493.964 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 12,808,728 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.12 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดจังหวัดนครราชสีมาเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด "งานมหกรรมพืชสวนโลก พ.ศ. 2572"  ซึ่งเป็นงานมหกรรมพืชสวนโลกขนาดใหญ่ที่สุด ระดับ A1 หรือ World Horticultural Exhibition ใน 6 ปีข้างหน้า ระยะเวลาจัดงานรวม 110 วัน ระหว่างวันที่ 10 พ.ย. 2572-28 ก.พ. 2573

โดยเลือกสถานที่จัดงานในพื้นที่ป่าสาธารณะประโยชน์โคกหนองรังกา ต.เทพาลัย อ.คง จ.นครราชสีมา เนื้อที่กว่า 678 ไร่ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการจัดงานประมาณ 4,280 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาในการจัดงานมีมูลค่าจีดีพี  9,163 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 36,003 อัตรา และรายได้จากการเก็บภาษี 3,429 ล้านบาท จะทำให้เกิดรายได้สะพัดกว่า 18,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 คณะกรรมการสมาคม
พืชสวนโลกระหว่างประเทศ หรือ AIPH  Sie inspection
นำโดย Mr.Leonado Capitanio ประธานคณะกรรมการพืชสวนโลก พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อประกอบการพิจารณาการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว  มีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และคณะให้การต้อนรับพร้อมให้ข้อมูลพื้นที่ฐานเกี่ยวกับพื้นที่ ทั้งนี้ทางคณะกรรมการ AIPH  ได้นำเดินลงพื้นที่ Expo Site  โดยได้ขึ้นรถไถลงพื้นที่โคกหนองรังกา ต.เทพาลัย อ.คง จ.นครราชสีมา เพื่อตรวจสอบความพร้อมของพื้นที่ที่จะใช้จัดงาน

 

โคราชประตูอีสาน สู่… เจ้าภาพ “มหกรรมพืชสวนโลก 2029” สะพัดกว่า 1.8 หมื่นล้าน

นายสยาม  สิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา  กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาได้รับการอนุมัติในหลักการจากรัฐบาลในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว ซึ่งมติครม.ได้ให้กรอบวงเงินประมาณกว่า 4,000 ล้านบาทในการจัดงานครั้งนี้

แต่การอนุมัติให้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานนั้นต้องรอการตัดสินจากเจ้าของลิขสิทธิ์ AIPS ที่อยู่ต่างประเทศ   ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้ลงมาดูพื้นที่ในเบื้องต้นแล้ว และค่อนข้างพอใจ แต่ในปีที่โคราชเสนอตัวเป็นเจ้าภาพอาจจะมีคู่แข่งจากหลายประเทศที่อยากจะจัดงานเสนอตัวเข้ามาแข่งเราได้เช่นกัน ซี่งทางคณะกรรมการฯ จะต้องเลือก 

 

นายสุดที่รัก  พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงคณะกรรมการ AIPH ลงมาพื้นที่ โดยนำเสนอความเป็นวัฒนธรรมไทยที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด จากอีก 2 ประเทศที่เป็นคู่แข่ง ความมีไมตรีจิตที่ดีของคนไทย การพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคงต่อไปได้  จึงมั่นใจ อ.คง จะเข้าไปนั่งในใจของคณะกรรมการ

การที่คณะกรรมการได้ลงพื้นที่และเห็นได้ชัดว่า อ.คงยังต้องการการพัฒนาขึ้นอีกมาก ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่อนุมัติงบประมาณในการจัดงานครั้งนี้เกือบ 5,000 ล้านบาท โดย 2,000 ไร่จะเป็นจุดที่กระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคักทั่วเมืองโคราช หากได้รับการคัดเลือก จะทำให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก และจะได้รับการรู้จัดในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นไปต่อในระดับโลก

คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท และหลังจากนั้น สามารถต่อยอดพื้นที่ไปได้หลังการจบงานโดยจะให้งานพืชสวนโลกเป็นแม็กเน็ตที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวที่ อ.คง จ.นครราชสีมา  ต่อยอดการทำธุรกิจและพัฒนาธุรกิจต่อยอดไปด้วยดี 

รวมถึงอำเภอรอบนอก และ อ.คงยังเป็นจุดเชื่อมต่อไปทางอีสานเหนือและอีสานล่าง  เรามีแผนที่จะดึงนักธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ตรงนี้ เพราะยังมีพื้นที่เหลือจากการจัดงานที่ใช้แค่ 600 กว่าไร่ แต่ยังมีพื้นที่เหลืออีกกว่า 2,000 ไร่ สามารถให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ โดยสามารถพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นศูนย์ค้นคว้าวิจัยต่อยอดทางด้านการศึกษาการพัฒนาพันธุ์ไม้ต่างๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป