"DITP"ผุดคู่มือส่งออกแกลมปิงชี้ช่องโอกาสตลาด Niche ศักยภาพสูง

14 พ.ย. 2566 | 04:24 น.

"DITP"ผุดคู่มือส่งออกแกลมปิงชี้ช่องโอกาสตลาด Niche ศักยภาพสูง หลังการท่องเที่ยวแกลมปิงในตลาดโลกเป็นตลาดเฉพาะที่มีมูลค่าสูงและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดอีก 7 ปีมูลค่าสูงถึง 5.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นายพรวิช ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้ดำเนินการนำเสนอคู่มือการตลาดเชิงลึกโอกาสและแนวทางการเข้าสู่ตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่มสินค้าแกลมปิง (Glamping) เพื่อผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาด

ทั้งนี้ สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นกลุ่มแกลมปิง เป็นสินค้าตลาดเฉพาะ (Niche) กลุ่มใหม่ที่ DITP มองเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการส่งออก เนื่องจากการท่องเที่ยวแกลมปิงในตลาดโลก เป็นตลาดเฉพาะที่มีมูลค่าสูงและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

“แกลมปิง หรือ Glamping มาจากคำว่า ‘Camping’ บวก ‘Glamorous’ หมายถึงการท่องเที่ยวแคมปิง (Camping) แบบหรูหราหรือมีสไตล์ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ชอบแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ยังคงยึดติดความสะดวกสบาย บวกกับกระแสนิยมสร้างคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์แกลมปิง จากแบรนด์คุณภาพสูง มีดีไซน์และฟังก์ชัน ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่หรูหราหรือมีสไตล์ แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าสินค้าแคมปิงทั่วไป"

"DITP"ผุดคู่มือส่งออกแกลมปิงชี้ช่องโอกาสตลาด Niche ศักยภาพสูง

อย่างไรก็ดี จากรายงานของ Grandview research พบว่าขนาดตลาดของธุรกิจแกลมปิงโลกเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด -19 โดยในปี 2566 ตลาดแกลมปิงโลกมีมูลค่าถึง 3.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.2% และคาดว่าในอีก 7 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าสูงถึง 5.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ 

ซึ่ง DITP มองว่าแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าแกลมปิงในตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน สำหรับประเทศไทยความนิยมการท่องเที่ยวแกลมปิงยังอยู่ในวงจำกัด ทำให้ผู้ประกอบการไทยกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นส่วนใหญ่ ยังขาดข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปพัฒนาสินค้าให้รองรับกับรสนิยมของผู้บริโภคสินค้าแกลมปิงในตลาดโลก
 

สำหรับการส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท ขยายตัวลดลงร้อยละ 15 จากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของไทยที่ชะลอตัวลงอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกในไตรมาส 4 ของปี 2566 จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากเสถียรภาพทางการเมืองของไทย รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดส่งออกสำคัญที่เริ่มกลับมาเป็นบวก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดแกลมปิงที่มีศักยภาพสูงของไทย