เทรนด์ Delivery Drone มาเเรง ตลาดโดรนขนส่งโลกบูม เพิ่มโอกาสทางการค้า

03 พ.ย. 2566 | 04:03 น.

เทรนด์ Delivery Drone มาเเรง ตลาดโดรนขนส่งโลกบูม 9 ปี โตเฉลี่ยต่อปี 42.6 % ประเทศยักษ์ใหญ่ มีทิศทางเปิดกว้างมากขึ้น ภาครัฐ-ผู้ประกบการไทยต้องเตรียมพร้อมเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า

ยุคนี้ต้องเร็ว !  เรื่องความสะดวกสบายเเละความรวดเร็วทันใจ กลายเป็นมาตรฐานบริการสินค้าไปแล้ว ผู้ผลิตสินค้า ต่างหารูปแบบการจัดส่งโดยตรงถึงมือลูกค้าให้ได้เร็วที่สุด อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle :UAV) หรือ "โดรน" เป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการให้แก่ภาคธุรกิจในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่การผลิตในภาคการเกษตร การจัดเก็บสินค้าคงคลังไปจนถึงการส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค โดยมีการพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีหลายประเภท เพื่อให้ตอบสนองความต้องการการใช้งานของแต่ละอุตสาหกรรม ทำให้ในปัจจุบันโดรนมีความหลากหลายซึ่งการใช้โดรนในภาคการขนส่งนั้นถือเป็นหนึ่งในแนวทางการใช้งานโดรนที่มีศักยภาพที่จะเพิ่มโอกาสทางการค้าให้มากขึ้นได้ 

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ชี้ให้เห็นว่า โดรนขนส่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ตลาดของโดรนขนส่งของโลกในปี 2565 มีมูลค่า 530.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 42.6 ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2573 โดยปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของโดรน คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดรนที่ทำให้การขนส่งด้วยโดรนมีความปลอดภัยมากขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อการขนส่งที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นแนวโน้มของโลกในปัจจุบัน

อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle :UAV) หรือ "โดรน"

เนื่องจากการขนส่งด้วยโดรนตอบโจทย์อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นทางเลือกที่ดีในการขนส่งไมล์สุดท้าย (Last-Mile Delivery) ที่ขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปจนถึงปลายทางที่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการทั้งในด้านการใช้น้ำมันและค่าบำรุงรักษาแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับสินค้าเร็วขึ้น ลดปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน รวมถึงยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

กฎระเบียบที่จำกัดการใช้งานโดรนเเต่ละประเทศ 

เพื่อให้การขนส่งด้วยโดรนมีความปลอดภัย แต่ละประเทศจึงมีกฎระเบียบที่จำกัดการใช้งานโดรนค่อนข้างมาก เช่น ต้องมีการขึ้นทะเบียนโดรนและผู้บังคับโดรน กำหนดความสูง เวลาและเขตในการบิน และการบินให้อยู่ในระยะที่สายตามองเห็น (Visual Line of Sight: VLOS) ซึ่งหากเทคโนโลยีมีการพัฒนาให้มีความปลอดภัยมากขึ้น หลายประเทศก็มีทิศทางที่จะเปิดกว้างต่อการใช้โดรนในการขนส่ง

สหรัฐอเมริกา องค์การบริหารการบินแห่งชาติ (The Federal Aviation Administration: FAA) ของสหรัฐฯ ออกใบอนุญาตให้บริษัทที่ยื่นขอยกเว้นตามประมวลกฎหมายของสหรัฐอเมริกา (Code of Federal Regulations) ให้สามารถบินโดรนในระยะนอกสายตา (Beyond Visual Line of Sight: BVLOS) ได้ในบางพื้นที่ที่ขออนุญาต แม้จะยังมีข้อจำกัดหลายประการ แต่แนวโน้มของการใช้โดรนเพื่อการขนส่งในสหรัฐฯ มีทิศทางที่เปิดกว้างเป็นอย่างมาก

โดยหลายบริษัทมีการขออนุญาตและทดสอบการใช้โดรนเพื่อการขนส่ง เช่น Walmart ให้บริการขนส่งสินค้าด้วยโดรนใน 36 สาขาใน 7 รัฐ ซึ่งในปี 2565 ขนส่งสำเร็จแล้วกว่า 10,000 ครั้ง และปัจจุบันมีการร่วมมือกับ Wing บริษัทให้บริการโดรนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ภายใต้การพัฒนาของบริษัท Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) เพื่อทำการขนส่งเพิ่มอีก 2 สาขาในเมืองดัลลัส ที่จะสามารถเข้าถึงได้อีก 60,000 ครัวเรือน

เทรนด์ Delivery Drone มาเเรง ตลาดโดรนขนส่งโลกบูม เพิ่มโอกาสทางการค้า

จีน

แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และบริการจัดส่งอาหารของจีน เหม่ยถวน ได้รับการอนุมัติจากสำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (Civil Aviation Administration of China: CAAC) ให้ดำเนินโครงการนำร่องทดสอบการให้บริการที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งการให้บริการขนส่งของเหม่ยถวนมีความแตกต่างจากของสหรัฐฯ คือ โดรนไม่ได้ขนส่งสินค้าไปที่บ้านของผู้บริโภค แต่จะส่งไปที่จุดกลางที่มีตู้รับสินค้าตั้งอยู่ โดยแม้ว่าการอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคจะน้อยลง แต่ก็ทำให้สามารถกำหนดเส้นทางการบินที่ชัดเจน ลดความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดคิดได้มากกว่าจึงสามารถดำเนินการในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นอย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2565 เหม่ยถวน ทำการขนส่ง 100,000 คำสั่งซื้อในเมืองเซินเจิ้น

สหภาพยุโรป

คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้รับรองแผนยุทธศาสตร์โดรน 2.0 (The European Drone Strategy 2.0) โดยระบุนโยบายสำคัญที่จำเป็นต่อการอำนวยความสะดวกในการนำโดรนมาใช้ในยุโรป ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมองว่าการบริการเกี่ยวกับโดรนจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ปัจจุบันมีการลงทุนมากกว่า 1.6 พันล้านยูโร (1.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเร่งสร้าง Digital European Sky ให้โดรนสามารถรวมเข้ากับการจราจรทางอากาศได้อย่างปลอดภัย โดยสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่า ในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ตลาดโดรนขนส่งจะมีมูลค่า 1.45 หมื่นล้านยูโร (1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสร้างงาน 145,500 งานในสหภาพยุโรป

ไทย การใช้งานโดรนของไทยจะต้องขึ้นทะเบียนผู้ครอบครอง

โดรนที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรนที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ยังมีข้อกำหนดสำหรับโดรนหลายข้อ เช่น ต้องบินอยู่ในระยะสายตา ห้ามบินในเขตที่ไม่ได้รับอนุญาต ห้ามทำการบินเหนือพื้นที่ที่มีคนชุมนุม เเต่จากศักยภาพและประโยชน์ของโดรนทำให้มีการทดสอบการใช้งานโดรนเพื่อการขนส่ง

เช่น ไปรษณีย์ไทย ได้นำโดรนมาใช้ในการทำการทดลองจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 และบริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด ร่วมกับภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ตสาธิตการนำส่งของจาก วิลล่า มาร์เก็ต โบ๊ท อเวนิว (Boat Avenue) ไปส่งยังโครงการชัมบาลา เเกรนด์ วิลล่า (Shambala Grand Villa) โดยบริการขนส่งด้วยโดรนในปัจจุบันยังต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ ซึ่งผู้ให้บริการโดรน เพื่อการขนส่งอาจพิจารณาหาวิธีดำเนินการภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวและร่วมมือกับผู้ผลิต ร้านค้า หรือร้านอาหารเพื่อเป็นตัวกลางในการจัดส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคให้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวโน้มการขนส่งด้วยโดรน ระบุว่า โดรนเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้ประโยชน์ทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น การใช้โดรนเพื่อสนับสนุนภาคการผลิต การใช้โดรนเพื่อการรดน้ำและใส่ปุ๋ยให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ภาคการผลิต การใช้โดรนเพื่อการกระจายสินค้า เพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพโดยลดระยะเวลาและลดมลภาวะที่เกิดจากการขนส่ง การใช้โดรนเพื่อการสนับสนุนภาคบริการ เช่น การขนส่งเวชภัณฑ์และอวัยวะในธุรกิจบริการสุขภาพ และการให้บริการโดรนเก็บภาพและวิดีโอเพื่อการประชาสัมพันธ์ การใช้โดรนเก็บข้อมูลในคลังสินค้า

การใช้โดรนเพื่อการรดน้ำและใส่ปุ๋ยให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

"การเตรียมพร้อมสำหรับการใช้โดรนเพื่อการขนส่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาสทางการค้าที่มากขึ้นในอนาคต โดยภาครัฐและผู้ประกอบการอาจพิจารณาดำเนินการเตรียมการเพื่อรองรับกับแนวโน้มและการใช้ประโยชน์จากของโดรน" ผอ. สนค. กล่าว 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

สิ่งที่ภาครัฐ-ผู้ประกอบการ ควรพิจารณาเตรียมการเพื่อรองรับ

  1. พิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้โดรน ศึกษาการใช้โดรนเชิงพาณิชย์ และพิจารณาการใช้โดรนเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า
  2. ส่งเสริมผู้ประกอบการให้ประยุกต์ใช้โดรนขนส่งในห่วงโซ่อุปทานอย่างเหมาะสมเพื่อลดต้นทุนพลังงานที่ใช้ในการขนส่งด้วยยานยนต์ รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการใช้พลังงานดังกล่าวและการจราจรจากยานยนต์บนถนน และ
  3. สร้างเครือข่ายระหว่างธุรกิจโดรนกับธุรกิจอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของผู้ให้บริการขนส่งด้วยโดรนในห่วงโซ่อุปทาน

เทรนด์ Delivery Drone มาเเรง ตลาดโดรนขนส่งโลกบูม เพิ่มโอกาสทางการค้า