จับตาเอลนีโญ กระทบลดนำเข้าปุ๋ย ชี้ราคาปี 66-68 ปรับลดแบบค่อยเป็นค่อยไป

20 ส.ค. 2566 | 12:38 น.

สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทยจับตาเอลนีโญกระทบการใช้-การนำเข้าปุ๋ย ชี้ทิศทางราคาปุ๋ยเคมีปี 66-68 ปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังฐานปี 65 ยังทรงตัวระดับสูง ชี้ 3 พืช “ข้าว-ยาง-ปาล์ม” ใช้ปุ๋ยสูงสุด ระบุเป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการทำการค้ายาก เสี่ยงขาดทุน

ในงานนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรและก้าวไปในทรรศวรรษที่ 6” จัดโดยกรมวิชาการเกษตร ในช่วงเสวนา “ทิศทางการนำเข้าปุ๋ย เคมีเกษตร และปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไทย”

นางสาววรัญญา  บุญวิวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย กล่าวใจความสำคัญถึงทิศทางการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2566-2568 ว่า อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีแนวโน้มเติบโตไม่สูงมากมากนัก โดยราคาปุ๋ยในประเทศจะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากระดับราคาปี 2565 ที่อยู่บนฐานที่สูง เนื่องจากต้นทุนปุ๋ยเคมีในตลาดโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ผลจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ และล่าสุดมีการซ้อมรบที่คาบสมุทรบอลข่าน

วรัญญา  บุญวิวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย

ส่วนอุปทานปุ๋ยในตลาดโลก ยังได้รับแรงกดดันจากรัสเซียและจีนที่จำกัดปริมาณการส่งออกปุ๋ยเพื่อไว้ใช้ในประเทศ โดยเฉพาะจีนตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ภายในปี 2603 ทำให้โรงงานผลิตปุ๋ยส่วนใหญ่ของจีนต้องปรับลดกำลังการผลิตเพื่อลดคาร์บอน ตรงนี้ไทยจะกระทบแน่นอนจากไทยขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อตอบโจทย์เป็นครัวของโลก ขณะที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร อาทิ อินเดียเวลานี้งดส่งออกข้าว(ข้าวขาว) และมีการประมูลนำเข้าปุ๋ยเข้าไปมาก

จับตาเอลนีโญ กระทบลดนำเข้าปุ๋ย ชี้ราคาปี 66-68 ปรับลดแบบค่อยเป็นค่อยไป

ธนาคารโลกคาดว่าปี 2566 และ 2567 ราคาปุ๋ยยูเรียเฉลี่ยจะอยูที่ประมาณ 600-650 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน DAP เฉลี่ยที่ 650-750 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน MOP เฉลี่ยที่ 479-500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน อย่างไรก็ตามไทยมีแนวโน้มที่จะกระจายปุ๋ยนำเข้าจากแหล่งอื่นเข้ามามากขึ้น แต่หลัก ๆ ยังนำเข้าจากแหล่งเดิมคือ จากตะวันออกกลาง และประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง

จับตาเอลนีโญ กระทบลดนำเข้าปุ๋ย ชี้ราคาปี 66-68 ปรับลดแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับการรับมือกับราคาปุ๋ยที่ยังผันผวนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ ในระยะสั้นหากเป็นยูเรีย (46-0-0) มีการนำเข้าจากคูเวต บรูไน และซาอุดีอาระเบีย แต่มีการเบรกการนำเข้าจากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซียที่ระงับการส่งออกปุ๋ย ส่วนอินเดียเองก็ประมูลนำเข้าปุ๋ยไปในปริมาณมาก ทำให้ราคาปุ๋ยในตลาดโลกปรับขึ้นมาระดับหนึ่ง แต่อยู่ในระดับที่พอรับได้ไม่น่าตกใจ

ส่วนแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม ปลายปีที่ผ่านมา ทางสมาคมฯได้รับการร้องขอจากกรมการค้าภายในให้ช่วยตุนสต๊อกปุ๋ยไว้ส่วนหนี่ง จากไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลนเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งทางผู้ประกอบการก็ตุนเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นยูเรีย หรือโพแทสเซียม แต่ตรงนี้ถือเป็นความทุกข์ผู้ประกอบการปุ๋ย เนื่องจากในมูลค่าของการนำเข้า 2-2.5 หมื่นบาทต่อตัน

จับตาเอลนีโญ กระทบลดนำเข้าปุ๋ย ชี้ราคาปี 66-68 ปรับลดแบบค่อยเป็นค่อยไป

มาปีนี้ปุ๋ยมีระดับราคาลดลงมาเรื่อย ๆ จนมาจบอยู่ที่เวลานี้ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นบาทต่อตัน เพราะฉะนั้นการปรับราคาลงต้องให้สอดคล้องกับสต๊อกที่มีอยู่ เรื่องนี้ทางสมาคมก็ระมัดระวังพอสมควรในการที่จะเปิดราคาขาย ไม่ต้องการเปิดราคาแพงเกินไปแล้วเกษตรกรอยู่ไม่ได้ และต้องเทียบกับราคาคู่แข่งขันในตลาดเพื่อให้แข่งขันได้ด้วย แต่ถ้าราคาแข่งขันไม่ได้ก็ต้องยอมขาดทุน เวลานี้มีผู้ประกอบการจำนวนมากประสบภาวะขายขาดทุน ดังนั้นลักษณะเวลานี้ผู้ประกอบการซื้อมาขายไป ไม่กล้าสต๊อกมาก เพราะวันนี้ซื้อ พรุ่งนี้ลง ทุกบริษัทต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์

“ทุกสมาคมยอมตอบโจทย์ของภาครัฐ เพราะในความเข้าใจคือ ไม่ว่าจะเป็นกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ มีความมุ่งมั่น และตั้งใจที่จะทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนผู้ผลิตก็ได้แต่ปลอบใจกันว่า ตอนที่เราขาดทุนก็ไปถัวเฉลี่ยกับตอนที่เรามีกำไรก็แล้วกัน ก็ปลอบกันไป”

จับตาเอลนีโญ กระทบลดนำเข้าปุ๋ย ชี้ราคาปี 66-68 ปรับลดแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับทิศทางการใช้ปุ๋ยเคมีในอนาคตจากความต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร หนุนให้เกษตรกรไทยมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่สินค้าเกษตรหลายชนิดไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก อาทิ ข้าว (มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 50% ของพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ) ขณะที่ยางพารา ราคายังดี ผลผลิตยางพาราจะเพิ่มขึ้น 4.5-5% ต่อปี ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น 3-4% ต่อปี โดยพืช 3ชนิดนี้ใช้ปุ๋ยเคมีมากที่สุดรวมกันกว่า 80% ของการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด

ส่วนน้ำตาลที่เวลานี้ส่งออกเป็นพระเอก จากราคาดี คาดผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 7-9% ต่อปี เนื่องจากอ้อยราคาดีมาก ๆ มันสำปะหลังก็คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 1.5-2.5% ต่อปี

ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 5 ชนิดมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นถ้าไม่มีเอลนีโญ แต่หากมีเอลนีโญปุ๋ยก็ยังคาดว่าน่าจะยังใช้เหมือนเดิมแต่รูปแบบการใช้ปุ๋ยจะเปลี่ยนไป เช่น เป็นปุ๋ยสั่งตัด แต่แทนที่จะใช้ปุ๋ย 2 รอบก็จะใช้เป็นรอบเดียวโดยใช้ปุ๋ยสูตรสูง ซึ่งมูลค่าก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นปริมาณการนำเข้าปุ๋ยก็อาจจะลดลง