เปิดโรดแมป โปรเจ็กต์แสนล้าน โรงงานล้อยาง 4 ภาค

07 ส.ค. 2566 | 03:11 น.

ตลาดยางพาราเดือด “บอร์ด กยท.” เปิดโปรเจ็กต์แสนล้าน ผุด โรงงานล้อยางแห่งชาติ 4 ภูมิภาค สร้างงาน สร้างอาชีพ ปลุกเศรษฐกิจสะพัด 50,000-80,000 ล้านบาทต่อปี พ่วงโปรพิเศษแถม “ประกันชีวิตติดล้อ”

จากที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิต "ยางพารา" เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในต้นทุนที่ตํ่า แต่ที่ผ่านมาราคายางในประเทศยังคงผันผวน เกษตรกรยังต้องเผชิญกับราคายางที่ขึ้น ๆ ลง ๆ จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ช่วยเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศยังมีน้อย เป็นที่มาของการจุดประกายการตั้งโรงงานผลิตล้อยางแห่งชาติ ทั้งนี้มีที่มาที่ไป และเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ฟังแนวคิดจาก “ศิริพันธุ์ ตรีไตรรัตนกูล” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) ที่ให้สัมภาษณ์กับ“ฐานเศรษฐกิจ” ถึงโรดแมปดังกล่าว

เปิดโรดแมป โปรเจ็กต์แสนล้าน โรงงานล้อยาง 4 ภาค

ดันราคายาง 70-80 บาท/กก.

นายศิริพันธุ์ กล่าวว่า โรดแมปนี้มีเป้าหมายการรับซื้อยางแผ่นดิบจากเกษตรกรที่ 70-80 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) โดยจะต้องลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราแห่งชาติ มีรัฐบาลเป็นพี่ใหญ่(ผู้ลงทุนหลัก) วางเป้าหมายไทยเป็นคลังยางล้อรถยนต์ของโลก ไม่ใช่ฮับ (ศูนย์กลาง) ที่ขายยางพาราให้กับต่างประเทศในรูปแบบกลางนํ้า แต่จะขายในรูปแบบยางล้อรถยนต์นำร่อง และอาจต่อยอดออกไปในอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ ทำให้ไทยสามารถกำหนดราคายางต้นทางและปลายทางได้

เปิดโรดแมป โปรเจ็กต์แสนล้าน โรงงานล้อยาง 4 ภาค

“ยกตัวอย่าง หากไปซื้อยางรถยนต์จากบริษัทผู้ผลิตรายอื่น ๆ ขอบ 20 นิ้ว ราคาต่อล้อโดยเฉลี่ย 8,000 -10,000 บาท แต่หากซื้อที่โรงงานยางล้อแห่งชาติ ที่ตั้งอยู่ในเขตแปรรูป จะขายเส้นละ 4,000 บาท โดยมีต้นทุนล้อยางอยู่ที่ 3,000 บาท จะบวกมาร์จิ้นให้กับผู้ขายล้อยางเส้นละ 700 บาท ส่วนต่าง 300 บาท จะหักค่าเก็บ “เงินสงเคราะห์” หรือเงินเซสส์ (CESS/ค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา) ล้อละ 100 บาท โดยรถยนต์ 1 คัน จะต้องใช้ยาง 4 เส้น จะได้เงินเซสส์ 400 บาทต่อ 1 คัน เมื่อคำนวณค่าเงินเซสส์เส้นละ 100 บาท จะได้เงินกลับคืนมากกว่าที่ได้จากเงินเซสส์ที่ปัจจุบันเก็บที่ กก. 2 บาท”

 

ขณะเดียวกันเกษตรกรทั้งประเทศจะขายยางพาราได้ กก.ละ 70 บาทขึ้นไป สร้างผลประโยชน์สองต่อ เพราะนอกจากเกษตรกรได้กำไรแล้ว กยท.จะได้เงินเซสส์กลับมาไม่ใช่แค่ปีละ 8,000 ล้านบาท แต่คาดจะได้ไม่ตํ่ากว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี ได้เงินเข้าหลวงเพิ่ม ส่วนอีก 200 บาทใช้ส่งเสริมการขายผ่านออนไลน์ หนังสือพิมพ์ หรือผ่านช่องสื่อเกษตรทั่วประเทศ พ่วงทำประกันติดล้อ เรียกว่าใครมาใส่ล้อแถมประกันชีวิตให้ด้วย ซึ่งตนกำลังจะเชิญบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่มาพูดคุยกันในเร็ว ๆ นี้ เพื่อดูเบี้ยประกันที่จะใช้จ่ายในโครงการนี้

เปิดโรดแมป โปรเจ็กต์แสนล้าน โรงงานล้อยาง 4 ภาค

นายศิริพันธุ์ กล่าวว่า ในบอร์ดเองมีการถกเถียงประเด็นความเป็นไปได้ของโรงงานล้อยางแห่งชาติ ตนมองว่าเงินลงทุนแสนล้านบาท (ตั้งโรงงาน 4 ภาค ลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อแห่ง) ทำไมรัฐบาลจะทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีเงิน เพียงแค่ กยท. ต้องตั้งงบหาทีมวิจัยศึกษาค้นคว้า ทั้งข้อดีและข้อเสีย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ตนได้ให้แนวคิดไปแล้ว หลายคนในบอร์ดเริ่มเข้าใจ และมีคำถามว่าจะทำได้หรือ ตนได้ตอบไปว่า โครงการฯไม่ได้ใช้เงิน กยท. แต่จะใช้งบ กยท.ในการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ส่วนเงินลงทุนทั้งหมดต้องขอรัฐบาล มีเป้าหมาย "ไทยผลิต ไทยแปรรูป ไทยบริโภค และไทยเป็นผู้กำหนดราคา"

ดันไทยเสือยางตัวที่ 1

ทั้งนี้สิ่งที่จะตามมาคือ 1.เมื่อตั้งโรงงานที่คาดจะใช้เงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อแห่ง จะช่วยสร้างงานอย่างน้อย 1 หมื่นอัตรา ต่อ 1 ภูมิภาค โดยจะตั้งโรงงาน ใน 4 ภาคของประเทศ 2.ปัดฝุ่นสหกรณ์ให้รวบรวมยางจากเกษตรกรในราคา กก.ละ 70-80 บาท ซึ่งการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาส จะทำให้เม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในประเทศโดยอัตโนมัติ

เปิดโรดแมป โปรเจ็กต์แสนล้าน โรงงานล้อยาง 4 ภาค

โดย กยท.จะทำเป็นโรงงานขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชีย ตั้งเป้าเป็นคลังยางของโลก เรียกว่า ใครอยากได้ล้อยางราคาตํ่าต้องมาที่ประเทศไทย สุดท้ายหากวัตถุดิบยางไม่เพียงพอผลิต ก็อาจจะแก้ไข พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยเพิ่มเติม หากใครนำยางเข้ามาจากเพื่อนบ้านต้องเก็บเงินเซสส์ เพื่อนำยางราคาถูกเข้ามาผลิตส่งออก ซึ่งจะเป็นรายได้อีกเด้งหนึ่ง ซึ่งในเอเชียไทยต้องเป็นเสือตัวที่ 1 ในอุตสาหกรรมยางพารา

เปิดโรดแมป โปรเจ็กต์แสนล้าน โรงงานล้อยาง 4 ภาค

“ผมจะพยายามทำให้ได้โดยใน 8-12 เดือน เรื่องผลการศึกษาต้องเสร็จ แล้วนำเสนอผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจากที่มีเวลาเป็นบอร์ดแค่ 3 ปี ผมไม่รู้จะทำได้เท่าไหน แต่จะทำให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเจอด่านหินแค่ไหนก็จะสู้ ถ้าเป็นผลสำเร็จก็จะเป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้ประเทศชาติมีรายได้ที่มั่นคง และยืนยาว ซึ่งจะดีกว่าโครงการแทรกแซงจากรัฐบาลในอดีต โดยขายยางล้อให้คนทั้งโลกตํ่าที่สุด แต่ต้องไม่ขาดทุน สร้างเงินสะพัดทางเศรษฐกิจ แก่จังหวัด ชุมชม ไม่ตํ่ากว่า 5 หมื่นถึง 8 หมื่นล้านบาทต่อปี และสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ชาวสวนยางทั้งประเทศ ซึ่งการลงทุนแสนล้านคุ้มถือว่าคุ้มมากในระยะยาว” นายศิริพันธุ์ กล่าว