ฝากพรรคการเมืองไทย “แก้ไขปัญหาภาคเกษตรให้ตรงจุด”

23 เม.ย. 2566 | 05:49 น.

ภาคเกษตรกรรมไทยใน 4 ปีข้างหน้าจะไปในทิศทางใดขึ้นกับนโยบายเกษตรของพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงกันอยู่ขณะนี้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศักยภาพการแข่งขันภาคเกษตรไทยลดลงเรื่อย ๆ เฉพาะต้นทุนการผลิตอย่างเดียว “ก็แพ้แล้ว” “ต้นทุนการผลิตข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม 2 เท่าตัว”

ฝากพรรคการเมืองไทย “แก้ไขปัญหาภาคเกษตรให้ตรงจุด”

บทความโดย : นายหัวอัทธ์

หน่วยงานรัฐฯ รายงานปี 2562 ต้นทุนข้าวนาปี อยู่ที่ 7,701 บาทต่อตัน เมื่อเทียบกับต้นทุนของเวียดนามอยู่ที่ 4,972 บาทต่อตัน หรือ 4,972 บาทต่อไร่ นั้นคือ ต้นทุนเวียดนามต่ำกว่าไทย 2 เท่าตัว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมราคาส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกจึงสูงกว่าเวียดนาม ทำให้ข้าวเวียดนามมาแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในหลายตลาด

มี 6 เหตุผลที่ต้นทุนข้าวเวียดนามต่ำ 1.นโยบาย “3R3G” หรือ “Three Reductions Three Gains” หรือ “3 ลด 3 เพิ่ม” ลดคือ ลดใช้ปุ๋ยเคมี ลดยาฆ่าแมลงและลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม  และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มคุณภาพและเพิ่มกำไร

2.ชาวนาเวียดนามลงมือทำเอง ทำให้ช่วยลดต้นทุนและผลผลิตต่อไร่จะสูงขึ้น

3.ดินไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปทำอย่างอื่น ตามนโยบายของรัฐบาลเวียดนามและตามภูมิปัญญาตลอดจนค่านิยมที่ไม่ขายที่นาเพื่อเปลี่ยนเป็นสนามกอล์ฟ โดยการมีสุสานของบรรพบุรุษอยู่ในที่นา

ฝากพรรคการเมืองไทย “แก้ไขปัญหาภาคเกษตรให้ตรงจุด”

4.ดินดำ น้ำชุ่ม มากกว่าร้อยละ 50 ที่ผลผลิตข้าวเวียดนามมาจากบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta River)

5.มีการพัฒนาพันธุ์หลากหลายโดยเฉพาะข้าวพันธุ์ไฮบริดที่ให้ผลผลิตมากกว่า 1 ตันขึ้นไป และ 6.มีการพัฒนาข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลิตข้าวนุ่มขายในประเทศจีน

ฝากพรรคการเมืองไทย “แก้ไขปัญหาภาคเกษตรให้ตรงจุด”

ต้นทุนปาล์ม ไทยสูงกว่ามาเลเซีย “60 สตางค์” ต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันไทยอยู่ที่ 3 บาทต่อ กก. ในขณะที่ต้นทุนมาเลเซียอยู่ที่ 2.40 บาทต่อ กก. เหตุผลเพราะ

1.โครงสร้างสวนปาล์มของมาเลเซียแตกต่างจากไทย โดยสวนปาล์มาเลเซียแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือมาจากรายใหญ่ 70% ในจำนวนนี้ร้อยละ 20 เป็นสวนปาล์มในการดูแลของหน่วยงานราชการ และที่เหลือเป็นสวนปาล์มรายย่อย ในขณะที่สวนปาล์มของไทยร้อยละ 80 เป็นสวนปาล์มรายย่อย การที่มาเลเซียมีสวนปาล์มขนาดใหญ่ทำให้การบริหารจัดการด้านต้นทุนได้ดีกว่า

2.การจัดเก็บผลปาล์มสดของมาเลเซียเน้นเก็บผลปาล์มสดสุกทำให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันและราคาสูงอีกด้วย

3.รัฐบาลมาเลเซียหันมาส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอย่างจริงจัง ทั้งการขยายผลผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลหลากหลายผลิตภัณฑ์ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของมาเลเซียจึงเข้มแข็งและผลิตครบวงจร และ 4.ราคาน้ำมันปาล์มขายปลีกต่ำกว่าไทย

ฝากพรรคการเมืองไทย “แก้ไขปัญหาภาคเกษตรให้ตรงจุด”

 

“ต้นทุนยางพาราไทยสูงกว่าหลายประเทศ” ผมได้เปรียบเทียบต้นทุนยางพาราไทยกับประเทศมาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา  และเวียดนามพบว่าต้นทุนการผลิตเฉลี่ยยางพาราไทยสูงกว่าหลายประเทศเช่น สูงกว่ามาเลเซีย และเวียดนาม แต่ต่ำกว่าอินเดีย และกัมพูชา

ฝากพรรคการเมืองไทย “แก้ไขปัญหาภาคเกษตรให้ตรงจุด”

เหตุผลที่ต้นทุนยางพาราไทยยังสูง คือ 1.คิดตามต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์(ต้นทุนทุกอย่างที่ เกิดขึ้นในการผลิต ไม่ว่าจะจ่ายออกไปจริงหรือไม่ก็ตาม) ในขณะที่มาเลเซียคิดตามต้นทุนทางบัญชี (ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่กิจการได้จ่ายออกไป และบันทึกรายการไว้ในบัญชีของกิจการ)

2.พื้นที่ปลูกยางพาราไทยหลายพื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา

3.มีความคิดในการคำนวณต้นทุนและแต่ละหลายพื้นที่ไม่เท่ากัน และ 4.น้ำมันและไฟฟ้ามาเลเซียถูกกว่าไทย

นอกจากต้นทุนแล้ว “ผลผลิตต่อไร่สินค้าเกษตรสำคัญต่ำกว่าคู่แข่ง” ยางพาราไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 221 กก./ไร่ ต่ำกว่าเวียดนาม (260 กก./ไร่) มาเลเซีย 248 กก./ไร่ ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ปาล์มน้ำมันไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9 ตัน/ไร่  ส่วนมากเลเซียอยู่ที่ 3.2 ตัน/ไร่ และอินโดนีเซียอยู่ระหว่าง 2.8-6.6 ตัน/ไร่ในขณะที่ข้าวไทยเฉลี่ยแล้วยังยืนไม่เปลี่ยนที่ 445 กก./ไร่ ส่วนเวียดนามไปมากกว่า 1 ตัน/ไร่ แล้ว

ในเลือกตั้งครั้งนี้ หลายพรรคการเมืองหาเสียงภาคเกษตรกรรม แต่ไปในรูปแบบเดิม ๆ คือ แทรกแซงตลาด และเอาเงินไปรับซื้อสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นอันตรายและไม่ตอบโจทย์ปัญหาของภาคเกษตรกรรมไทยในระยะยาว เอาเงินที่ไปแทรกแซงภาคเกษตร มาใช้เพิ่มศักยภาพการผลิตจะดีกว่า ใครปรับตัว ให้รางวัล ใครไม่ปรับตัว ไม่มีรางวัล ต้องแพ้ภัยตัวเองไปในที่สุด