คุมเข้มผลไม้ภาคตะวันออก ป้องส่งออก 1.9 แสนล้าน

23 เม.ย. 2566 | 08:42 น.

ปี 2565 ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นสินค้าเกษตรที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยมีมูลค่า 194,857.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.7%

ในจำนวนนี้การส่งออกทุเรียนสดมีมูลค่ามากสุด 110,144.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% และในมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดนี้ไทยส่งออกไปตลาดจีนมากสุด มูลค่า106,038.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% โดยผลผลิตทุเรียนของภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด)เป็นแหล่งใหญ่ที่ทำรายได้สูงสุด

ขณะที่ไม้ผลชนิดอื่นที่ภาคตะวันออกเป็นแหล่งปลูกที่สำคัญ เช่น มังคุด มีมูลค่าส่งออกปีที่ผ่านมา 13,534.90 ล้านบาท และเงาะ 434.56 ล้านบาท ดังนั้นแผนรับมือผลไม้ของภาคตะวันออกจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงในปีนี้

คุมเข้มผลไม้ภาคตะวันออก ป้องส่งออก 1.9 แสนล้าน

 ล่าสุด นางธีรารัตน์ สมพงษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลสรุปข้อมูลไม้ผลภาคตะวันออกปี 2566 (ข้อมูล ณ 5 เม.ย.2566) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ ภาคตะวันออก สรุปตัวเลขเอกภาพปริมาณผลผลิตของไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด)

คุมเข้มผลไม้ภาคตะวันออก ป้องส่งออก 1.9 แสนล้าน

โดยสรุปปี 2566 ปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด คาดจะมีจำนวน 1.05 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีจำนวน 1.26 ล้านตัน (ลดลง 2.09 แสนตัน หรือลดลง 17%) โดยลองกอง ลดลงมากสุด รองลงมา มังคุด เงาะ และทุเรียน ตามลำดับ (กราฟิกประกอบ)

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดที่ลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2566 สลับกับอากาศหนาวเย็น ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผลของไม้ผล อีกทั้งได้รับผลกระทบจากลมพายุหลายรอบในช่วงเดือน ธ.ค. 2565 ถึงต้นเดือน เม.ย. 2566 ทำให้ดอกและลูกร่วงเสียหาย

คุมเข้มผลไม้ภาคตะวันออก ป้องส่งออก 1.9 แสนล้าน

 อย่างไรก็ดี ผลผลิตได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงเดือนก.ย. 2566 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือน เม.ย. 2566 หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นไปต่อเนื่องถึงกลางเดือน พ.ค.2566 คิดเป็นร้อยละ 55 ของผลผลิตทั้งหมด

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ในปี 2566 ทั้ง 3 จังหวัด ในส่วนของผลไม้ส่งออกสำคัญคือทุเรียนได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด

โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์กระดุม และพันธุ์พวงมณี เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2566 พันธุ์ชะนี เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 และพันธุ์หมอนทอง เก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2566 หากเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันกำหนด ต้องนำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์นํ้าหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ณ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ จุดบริการ สถาบันที่เข้าร่วมโครงการ

คุมเข้มผลไม้ภาคตะวันออก ป้องส่งออก 1.9 แสนล้าน

ในส่วนของล้งส่งออกต้องแจ้งด่านตรวจพืชจันทบุรี หรือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) จังหวัดจันทบุรี เพื่อสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์นํ้าหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ทุเรียน มกษ. 3-2556 ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร (กวก.) โดยกำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์นํ้าหนักแห้งในเนื้อทุเรียนขั้นตํ่าของพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27% นํ้าหนักแห้ง พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30% นํ้าหนักแห้ง และ

พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 % นํ้าหนักแห้ง หากตํ่ากว่าเกณฑ์ที่กำหนดถือเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ซึ่งผู้ใดจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ จะใช้มาตรการทางการปกครองและมาตรการทางกฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดต่อไป

ทั้งนี้มาตรการคุมเข้มทุเรียนอ่อน ทั้งที่จำหน่ายในประเทศและเพื่อส่งออกถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐาน และชื่อเสียงทุเรียนไทยให้ยังคงมัดใจผู้บริโภคต่อไป ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งทุเรียนและผลไม้ชนิดอื่น จากเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศในแถบอเมริกาใต้ ดังนั้นคุณภาพและมาตรฐานเป็นเรื่องที่ต้องรักษาไว้อย่างดีที่สุด