พาณิชย์ผนึกผู้ประกอบการ ซื้อนำตลาด ดันหอมหัวใหญ่พุ่ง 15 บาทต่อ กก.

12 มี.ค. 2566 | 07:00 น.

“พาณิชย์”ผนึกผู้ประกอบการรับซื้อราคานำตลาด ดันราคาหอมหัวใหญ่พุ่ง 15 บาทต่อ กก. เกษตรกร อ.พร้าว เมืองเชียงใหม่ขอบคุณช่วยต่ออาชีพ หลังก่อนหน้าราคาตกหนีทำอาชีพอื่นอื้อ คาดสิ้นฤดูการผลิตมีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 800 ตัน

ปัจจุบันแหล่งปลูกหอมหัวใหญ่ของไทยมีอยู่ในหลายพื้นที่ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ กาญจนบุรีและแม่ฮ่องสอน แต่สัดส่วนกว่าร้อยละ 65 อยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย 3 อำเภอได้แก่ อ.แม่วาง อ.ฝาง และอ.พร้าว โดยเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลิตมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2566  ที่อ.แม่วาง  คิกออฟโดย นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ

จากนั้นกลางกุมภาพันธ์ 2566 คิกออฟ ที่อ.ฝาง โดยอธิบดีกรมการค้าภายในเช่นกัน ล่าสุด (ณ วันที่ 9 มี.ค.66) คิกออฟที่ อ.พร้าว เป็นจุดสุดท้าย โดยมี นายกรนิจ  โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อหอมหัวใหญ่ถึงแหล่งผลผลิต โดยปีนี้ในพื้นที่ อ.พร้าว คาดจะมีผลผลิตหอมหัวใหญ่รวมประมาณ 800 ตัน โดยมีเป้าเข้าไปรับซื้อประมาณ 200 ตันในราคานำตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท ส่งผลราคารับซื้อหอมหัวใหญ่ในท้องตลาดเริ่มขยับตัวขึ้นตาม จากก่อนหน้านี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10-12 บาทเท่านั้น

พาณิชย์ผนึกผู้ประกอบการ ซื้อนำตลาด ดันหอมหัวใหญ่พุ่ง 15 บาทต่อ กก.

นายจตุรงค์ ถนอมบุญ ประธานสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เผยว่า หอมหัวใหญ่เป็นพืชเศรษฐกิจของ อ.พร้าวที่เกษตรกรปลูกกันมากรองจากข้าวหอมมะลิ105 แต่ราคาจำหน่ายสู้ข้าวหอมะลิไม่ได้ ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกหอมหัวใหญ่เริ่มหันไปหาพืชชนิดอื่นปลูกแทน

สำหรับในปีนี้ผลผลิตหอมหัวใหญ่ของ อ.พร้าว คาดจะอยู่ที่ประมาณ 800 ตัน เวลานี้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 20-30% ปีที่ผ่านมาพ่อค้าในพื้นที่รับซื้ออยู่ที่กิโลกรัม(กก.) ละ 10-12 บาท แต่ปีนี้ราคาเฉลี่ยที่ 15 บาทต่อ กก.ซึ่งเกษตรกรยังพออยู่ได้ ท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปุ๋ย และน้ำมัน และอื่น ๆ

ทั้งนี้ขอขอบคุณกรมการค้าภายในที่นำผู้ประกอบการเข้ามาช่วยยกระดับราคาหอมหัวใหญ่ให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยเข้ามารับซื้อในราคานำตลาดที่ กก.ละ 15 บาท ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้รับซื้อราคานี้ไปเรื่อย ๆ เพราะหากราคาไม่ต่ำกว่า 15 บาทเกษตรกรอยู่ได้ ต่างจากที่ผ่านมาจะมีพ่อค้าในพื้นที่มารับซื้อแต่เป็นไปตามราคาที่เขากำหนด โดยที่เกษตรกรไม่สามารถต่อรองอะไรได้

พาณิชย์ผนึกผู้ประกอบการ ซื้อนำตลาด ดันหอมหัวใหญ่พุ่ง 15 บาทต่อ กก.

อย่างไรก็ดีแม้ปีนี้ราคาหอมหัวใหญ่ที่เกษตรกรขายได้จะดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ผลผลิตปีนี้กลับมีน้อยกว่าปีก่อนเนื่องจากช่วงที่เริ่มปลูกประมาณเดือนตุลาคม 2565 มีฝนตกลงมาทำให้หน่อเน่าได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ปีนี้ได้ผลผลิตน้อยกว่าปีก่อน แต่ขายได้ราคาดีกว่า

ด้าน นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การนำผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อหอมหัวใหญ่ในพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งให้ผลผลิตหอมหัวใหญ่เป็นช่วงสุดท้ายของจังหวัดเชียงใหม่ ทางกรมฯ มั่นใจว่าการเดินหน้าเชื่อมโยงผู้ประกอบการในการเข้าไปรับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่องที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั้น จะสามารถช่วยดูแลราคาผลผลิตให้กับเกษตรกรให้อยู่ในระดับสูงตลอดทั้งฤดูกาลผลิตปีนี้ 

นายกรนิจ  โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน

“กรมฯ มั่นใจว่าหอมหัวใหญ่จะเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ ตลาดรองรับผลผลิต ทั้งร้านอาหาร โรงแรม สถานบริการต่าง ๆ มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ทำอาหารบริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลดีจากการเดินทางท่องเที่ยว และจากการเปิดประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวมีความคึกคักเพิ่มมากขึ้น และกรมฯ จะประสานให้ผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ เข้าไปรับซื้ออย่างต่อเนื่อง” 

 ขณะเดียวกัน จะติดตามและประเมินสถานการณ์การผลิต ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์เป็นระยะ และเตรียมพร้อมดำเนินการรับมือด้านปริมาณและราคาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกรให้สามารถขายสินค้าเกษตรได้ในเกณฑ์ดีตลอดฤดูกาล

พาณิชย์ผนึกผู้ประกอบการ ซื้อนำตลาด ดันหอมหัวใหญ่พุ่ง 15 บาทต่อ กก.

ทั้งนี้หากประชาชนและเกษตรกร พบเห็นการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ