อาหารสัตว์กระทุ้งรัฐ นำเข้าเสรีข้าวโพด 3 ล้านตัน

11 ก.พ. 2566 | 09:00 น.

เอกชนเสนอผ่าทางตันอาหารสัตว์แพง ชงรัฐเปิดเสรีนำเข้าข้าวโพด 3 ล้านตัน ห่วงอนาคตไม่ปลดล็อก รายเล็กแบกต้นทุนไม่ไหวทยอยม้วนเสื่อ เหลือแต่รายใหญ่ หวั่นตกเป็นแพะผูกขาดตลาด เซ่นถูกบังคับซื้อข้าวโพด 8 บาทคงมาตรการ 3:1 นำเข้าข้าวสาลี

ในทุกปีประเทศไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราว 8 ล้านตัน แต่มีผลผลิตในประเทศเพียง 5 ล้านตันต่อปี ยังขาดแคลนถึง 3 ล้านตัน ในส่วนนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อทดแทนส่วนที่ขาด ปี 2566 ปัญหาดังกล่าวจะเป็นอย่างไรนั้น

 

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และเลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ และราคาสูงยังคงเป็นปัญหาและภาระต่อเนื่องของโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ตัวอย่างข้าวโพดเลี้ยงในปี 2564 เฉลี่ยที่ 10.05 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ปี 2565 เฉลี่ยที่ 12.34 บาทต่อกก. ข้าวสาลี ปี 2564 เฉลี่ย 8.94 บาทต่อ กก. และปี 2565 เฉลี่ย 14.17 บาทต่อ กก. (กราฟิกประกอบ)

 

 

อาหารสัตว์กระทุ้งรัฐ นำเข้าเสรีข้าวโพด 3 ล้านตัน

 

ที่ผ่านมาในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ช่วยเกษตรกรที่ 8.50 บาทต่อ กก.โดยให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อไม่ตํ่ากว่า 8 บาทต่อ กก. และมีมาตรการช่วยเหลืออีกชั้นหนึ่งคือมาตรการ 3:1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) และในส่วนของกากถั่วเหลืองที่เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญยังเก็บภาษีนำเข้าที่ 2% เพื่อช่วยเหลือโรงสกัดนํ้ามันถั่วเหลืองในประเทศที่ได้ประโยชน์จากการขายกากถั่วเหลืองราคาสูงให้โรงงานอาหารสัตว์ก็ควรยกเลิกเช่นกัน เพราะรัฐได้ภาษีไม่กี่บาท แต่ทำให้อาหารสัตว์มีราคาแพง

 

 

“เมื่อรัฐบาลมีประกันรายได้ข้าวโพดที่ 8.50 บาทต่อกิโลฯ ให้เกษตรกรแล้ว ก็ควรปล่อยให้ราคาข้าวโพดขึ้นลงตามราคาตลาด แต่ยังมาบังคับ  (ขอความร่วมมือ) ให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพด กิโลฯละ 8 บาท (คลิกอ่าน) และให้ส่งออกข้าวโพดได้ด้วย เทียบกับมันสำปะหลังปล่อยให้นำเข้าโดยไม่จำกัดโควตา (โดยกำหนดด่านนำเข้า) ทั้งที่มีประกันรายได้เช่นกัน มองว่าวันนี้รัฐลำเอียงมาก”

 

อาหารสัตว์กระทุ้งรัฐ นำเข้าเสรีข้าวโพด 3 ล้านตัน

 

ทั้งนี้เสนอให้การนำเข้าข้าวโพด 3 ล้านตันทดแทนส่วนที่ขาดในประเทศเป็นการนำเข้าเสรี โดยผู้ต้องการนำเข้าให้ไปจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้า โดยรัฐออกใบอนุญาต และจัดสรรโควตาให้แต่ละบริษัทถือครองไว้ และให้นำเข้ามาในช่วงที่รัฐบาลกำหนด ส่วนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ได้โควตา และไม่มีใบอนุญาต หากมีการนำเข้ามาให้ถือเป็นของเถื่อน ที่ต้องมีบทลงโทษสูง รวมถึงการยกเลิกสัดส่วน 3:1 ที่เป็นอุปสรรค และเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ รวมถึงผลต่อราคาสินค้าที่บริโภคต้องแบกรับ

 

อาหารสัตว์กระทุ้งรัฐ นำเข้าเสรีข้าวโพด 3 ล้านตัน

 

“ที่น่าห่วงคือผู้ประกอบการอาหารสัตว์รายเล็กๆ ที่มีมากกว่า 10% ของโรงงานอาหารสัตว์ทั่วประเทศที่ใช้ข้าวโพดประมาณปีละ 5 แสนตัน จากที่ผลิตในประเทศได้ 5 ล้านตัน ในรายที่ทำอาหารสัตว์อย่างเดียวไม่ได้เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ที่ต้องซื้อวัตถุดิบอาหารสัตว์จากเกษตรกร หรือจากพ่อค้าราคาสูง เวลานี้ลำบากมาก ระยะยาวหากแบกภาระขาดทุนไม่ไหวเลิกกิจการไป จะเหลือแต่บริษัทใหญ่ จะมาโทษกันไม่ได้” นายพรศิลป์ กล่าว

 

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,860 วันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566