ชาวนา หนุนงบกลาง 6,000 ล้าน ผ่าน “กรมการข้าว”

07 ก.พ. 2566 | 05:25 น.

สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ประกาศหนุนงบกลาง 6,000 ล้านบาท ผ่านกรมการข้าว ผวาสุญญากาศ ไร้โครงการรัฐช่วยอุ้ม คลอบคลุมทุกกลุ่ม พร้อมปล่อยหมัดเด็ด "เงินเดือน-บำนาญชาวนา" พรรคไหนนำนโยบายไปหาเสียง การันตีได้คะแนนเสียงอื้อ

จากกรณี กรมการข้าวได้จัดทำรายละเอียดของแผนเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการขอรับการสนับสนุนงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2566 เพื่อใช้ใน “โครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก” วงเงิน 6,000 ล้านบาท (คลิกอ่าน) โดยมีพื้นที่ผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ที่อยู่ในกลุ่มของศูนย์ข้าวชุมชนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าวจำนวน 2,000 ศูนย์ ซึ่งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่มีความพร้อมในการดำเนินงาน ในพื้นที่ 74 จังหวัด ดำเนินการศูนย์ละ 200 ไร่ เพื่อดำเนินการปลูกข้าวรักษ์โลก ซึ่งมีรูปแบบการเกษตรแบบปลอดภัยนั้น

เดชา นุตาลัย

นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ในส่วนตัวเห็นด้วยที่กรมการข้าวของบประมาณมา เพราะตอนนี้รัฐบาลหมดโครงการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประกันรายได้ข้าว หรือ เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จ่ายสูงสุด 2 หมื่นบาท ก็จ่ายหมดแล้ว แต่ช่วงจากนี้ไปรัฐบาลไม่มีโครงการช่วยเหลือชาวนาจากใกล้หมดวาระแล้ว 

จากไทม์ไลน์ที่คาดการณ์จะยุบสภา กว่าจะเลือกตั้ง จะได้รัฐบาลชุดใหม่มาบริหาร มองว่าในปีนี้อย่างไรก็ไม่มีแน่นอนในโครงการช่วยเหลือชาวนา ดังนั้นชาวนาจะมีความหวังคือจาก “กรมการข้าว

“มองว่าสิ่งที่กรมการข้าว ทำ เห็นดีด้วย จะทำโครงการอะไรก็ขอให้เร่งทำ โดยของบกลาง ยิ่งเยอะยิ่งดี มองว่า 6,000  ล้านบาท จะเพียงพอหรือไม่ เพราะชาวนาทั่วประเทศ อยากจะให้ครอบคลุมชาวนาทุกกลุ่ม”

 

 

ชาวนา หนุนงบกลาง 6,000 ล้าน ผ่าน “กรมการข้าว”

นายเดชา กล่าวอีกว่า จากหลายคนที่พูดว่าชาวนามีต้นทุนการผลิตสูง ในความจริงอยากจะตำหนิภาครัฐ ต้องยอมรับความจริงว่า ต้นทุนที่สูงเกิดจากอะไร ยกตัวอย่าง ชาวนาที่เช่าที่ทำนา มีค่าเช่า จะมีคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล อำเภอ จังหวัด หรือ คชก. ซึ่งคนที่กำหนดอัตราค่าเช่า คือ คชก.ระดับตำบล ในคณะกรรมการมีทั้งฝ่ายให้เช่าที่ดิน และผู้เช่าที่ดิน จะคำนวณต้นทุนทั้งหมด แล้วมาคิดเป็นค่าเช่า  ในพื้นที่ได้ทำงานกันหรือไม่

"ยกตัวอย่างพื้นที่เขตหนองจอก มี 8 แขวง ค่าเช่าที่ดินทำนา 800 บาทต่อไร่ต่อปี ส่วนแขวงหนึ่ง ก็มี 1,000 บาทต่อไร่ต่อปี แต่ละแขวงจะดูพื้นที่เท่าไร ถ้าต้นทุนสูง มาคำนวณค่าใช้จ่ายแล้ว 3 ปี จะหนดอัตราค่าเช่าครั้งหนึ่ง เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายเมื่อค่าใช้จ่ายสูง กำไรน้อย จะคิดค่าเช่าให้ราคาต่ำลง แต่ถ้ากำไรสูงขึ้นก็จะคิดต้นทุนสูงขึ้น ต้นทุนมีความผันผวนอยู่ตรงนี้"

นายเดชา กล่าวว่า  เจ้าของที่ดินไม่ต้องกลัวว่าจะขาดทุน ยกตัวอย่างซื้อที่ดิน ไร่ละ 100,000 บาท ผ่านไป 10 ปี วันนี้ไร่ละ  1 ล้านบาท เป็นกฎหมายฉบับก้าวหน้า ยิ่งเช่านาน ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินย่อมได้รับประโยชน์ในที่ดินนั้น ๆ จากราคาที่ดินสูงขึ้น แต่ชาวนาก็ยังอยู่เหมือนเดิม ขณะเดียวกันควรมีน้ำมันราคาถูกพิเศษกว่าราคาตลาด สำหรับเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นนาข้าว ปาล์ม ข้าวโพด อ้อย สัตว์ประมง 

 

 

 

ที่ผ่านมาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ สมาคมได้พยายามร้องขอไปยังแกนนำพรรคการเมืองต่าง ๆ แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ซึ่งหากนำเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ไปเป็นนโยบายในการหาเสียง มั่นใจว่าจะได้เป็นรัฐบาล ได้แก่ เงินเดือนเกษตรกร หรือเงินเดือนชาวนา ซึ่งในเมื่อข้าราชการมีเงินเดือนได้ ตัวเอง  ภรรยา สามี พ่อแม่เจ็บป่วยรักษาได้ ลูกรักษาฟรี เรียนฟรี สุดท้ายเกษียณอายุราชการยังมีบำเหน็จบำนาญอีก ส่วนเกษตรกรไม่มีอะไรเป็นหลักประกันในชีวิต หากรัฐบาลมีนโยบายมีเงินเดือนให้ชาวนา โดยไม่มีจำนำข้าว หรือประกันรายได้เกษตรกร  เชื่อว่าพรรคใดนำนโยบายนี้ไปหาเสียงได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

“ยกตัวอย่าง นาย ก. ทำนาอายุ 100 วันแล้วเก็บเกี่ยว ก็จ่ายเงินเดือน เฉพาะช่วงรอเก็บเกี่ยว หากค่าแรงวันละ 300 บาท ทำ 3 เดือนก็ตกเกือบ 3 หมื่นบาท ก็ไม่ต้องมีโครงการอย่างอื่นแล้ว ส่วนข้าวที่ชาวนาเก็บเกี่ยวก็ไปขายโรงสี ชาวนาก็ได้ 2 เด้ง ส่วนจะจ่ายกี่รอบ ที่ชาวนาทำก็แล้วแต่รัฐบาลไปหาเสียง แล้วถ้าได้เงินเดือน 2 รอบ ก็ยิ่งดี แล้วก็ควรจะมีบำเหน็จ บำนาญให้กับชาวนา โดยตรงนี้รัฐบาลไม่ต้องไปออกเงินเลย โดยอาจไปเก็บจากโรงสีข้าว สมมติว่าชาวนาเอาข้าวไปขายได้ 20 ตัน ก็เก็บตันละ 1 บาท 20 ตันก็ได้ 20 บาท หากเก็บทั่วประเทศได้เท่าไร ก็เอาเงินส่วนนี้ไว้ช่วยชาวนา “