เฉลยแล้ว ทำไม “กรมประมง” ต้องปิดอ่าวไทย

03 ก.พ. 2566 | 04:55 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2566 | 05:29 น.

มาแล้ว "ฤดูปิดอ่าวไทย" ปี 2566 อธิบดีกรมประมง ประกาศปิด 2 ช่วง วันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค. และ วันที่ 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. พร้อมเฉลย คำตอบ ผ่านความสำเร็จ "ปลาทูฝั่งอ่าวไทย " เพิ่มกว่า 63% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ชี้ใครฝ่าฝืนจับปลา โทษหนักปรับสูงสุด 30 ล้านบาท

นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์  อธิบดีกรมประมง เผยว่า กรมประมง ได้ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง (มาตรการปิดอ่าว) โดยครอบคลุมเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 และช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ครอบคุลมพื้นที่ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่รวม 26,400 ตารางกิโลเมตร

ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูได้วางไข่และช่วงที่สองอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์พื้นที่ 5,300 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2566เพื่อให้ลูกปลาทูได้มีโอกาสเจริญเติบโตเดินทางเข้าสู่พื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก

เฉลยแล้ว ทำไม “กรมประมง” ต้องปิดอ่าวไทย

ขณะเดียวกันเพื่อให้ปลาทูสาวได้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไปโดยมีการควบคุมการทำประมงเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำซึ่งจากการศึกษาทางวิชาการ พบมาตรการฯ มีความสอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู คือ เป็นช่วงที่ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศสูงสุด สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน

 

สำหรับ ปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยปีที่ผ่านมา (ปี 2565)  จับได้ถึง 31,999 ตัน มูลค่า 2,156.01 ล้านบาท มากกว่าผลการจับของปี 2564 (19,598 ตัน มูลค่า 1,375.38 ล้านบาท) ถึง 12,402 ตัน มูลค่า 780.63 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63.28 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงถึงความเหมาะสมของการใช้มาตรการปิดอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในการติดตามประเมินผลทางวิชาการของมาตรการฯพบว่าในห้วงเวลาก่อนการประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลาง ช่วงวันที่ 1 – 14 กุมภาพันธ์ พบพ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศในอัตราที่สูง ติดต่อกัน 2 ปี (ปี 2564 และ ปี 2565)โดยในปี 2564 พบมากถึง ร้อยละ 90.60  (เพศเมีย) 90.37  (เพศผู้)

ส่วนปี  ปี 2565 ร้อยละ 100 (เพศเมีย) 87.04 (เพศผู้) แสดงให้เห็นว่าปลาทูมีความสมบูรณ์เพศก่อนช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง และพบความยาวเฉลี่ยของ พ่อ-แม่ ปลาทูอยู่ที่ 18.5 เซนติเมตรซึ่งพร้อมสืบพันธุ์วางไข่จึงมีข้อเสนอแนะทางวิชาการว่าเห็นควรปรับปรุงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและให้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

อย่างไรก็ดี ขอขอบคุณชาวประมงที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตลอดมา และขอให้ระมัดระวังการทำประมงโดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น ส่วนเครื่องมืออื่น ๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 30 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมประมงยังมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวไทย ในแต่ละห้วงเวลานั้นสามารถทำให้เกิดกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชาวประมงเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและเกิดความสมดุลกับการประกอบอาชีพของพี่น้อง และได้เน้นย้ำการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ยึดหลัก 3 ป. คือ การป้องกัน การป้องปราม และการปราบปราม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์