ข้อเท็จจริง ศก.สหรัฐถดถอย เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยพุ่ง โอกาสอาหารไทย

26 ม.ค. 2566 | 10:45 น.

สหรัฐอเมริกา มีความสำคัญกับเศรษฐกิจและการค้าของไทย โดยในแง่การค้าสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 (ไม่นับรวมอาเซียน) และแง่การค้าในภาพรวม (ส่งออก+นำเข้า) สหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยรองจากจีน

ในปีนี้ทุกสำนักพยากรณ์ทั้งในและต่างประเทศต่างฟันธงเศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวถึงถดถอย (Recession) ในมุมมองและข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น “นายประมุข  เจิดพงศาธร” ประธานบริษัท PJUS GROUP, USA ผู้จัดหาและนำเข้าสินค้าไทยป้อนให้กับผู้จัดจำหน่ายรวมถึงห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”โดยระบุท่ามกลางวิกฤตินี้ยังเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทย เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าอาหารที่จำเป็นต่อการบริโภค

  • จากโควิดถึงค่าระวางเรือพุ่ง

นายประมุข ฉายภาพ เศรษฐกิจของสหรัฐฯที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกในเวลานี้ว่า มีแนวโน้มชะลอตัวถึงถดถอย ซึ่งเป็นผลพวงนับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิดในปี 2563 ที่มีชาวสหรัฐฯติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยในช่วงแรก ๆ ไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ช่วงหลังวัคซีนออกมา อัตราการเสียชีวิตดีขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางก็ปรับตัวดีขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯมีการแจกเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชน ภาคธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ เพื่อให้ยังพออยู่ได้

ปัจจัยต่อมาที่ส่งผลทำให้ภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของผู้บริโภคในสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลพวงจากโควิดทำให้ซัพพลายเชนการค้าโลกเกิดความปั่นป่วนและติดขัด ค่าระวางเรือหรือค่าเฟรทปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่นค่าระวางเรือจากไทยไปลอสแอนเจลิส(แอลเอ)ของสหรัฐฯจากเคยต่ำสุดที่ 850-900 สหรัฐฯต่อตู้ และสูงสุดที่ 2,000-2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ ปรับขึ้นเป็น 6,000 และสูงสุดที่ 12,000-15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ จากดีมานต์ที่มีมาก ซัพพลายมีน้อย เนื่องจากผลพวงจากโควิด มีเรือไปติดอยู่ที่ท่าเรือแอลเอเป็นจำนวนมาก จากคนงานติดเชื้อ ไม่มีคนลงของ ทำให้ต้องใช้เวลานานในกระบวนการนำเข้า ส่งผลสินค้าตกค้างที่ท่าเรือจำนวนมหาศาล

นายประมุข  เจิดพงศาธร ประธานบริษัท PJUS GROUP,USA

 

“สินค้าของไทยไปสหรัฐฯส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์สัดส่วนประมาณ 70% นอกนั้นเป็นสินค้าอาหารและอื่น ๆ สัดส่วนอีก 30%  ซึ่งในส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ แม้ค่าระวางเรือจะขึ้นไปหลักหมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ ก็ไม่กระทบมาก เพราะสินค้าเหล่านี้มีมูลค่าสูง แต่ในสินค้าอาหารเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูงมาก การปรับขึ้นของค่าระวางเรือถือเป็นเรื่องใหญ่ และเมื่อนำสินค้าไปจำหน่ายก็มีราคาแพงขึ้นตามต้นทุนนำเข้า กระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่มีกำลังซื้อลดลง ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ”

อย่างไรก็ดีในส่วนของผู้นำเข้าที่เป็นคู่ค้ากับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ ๆหรือสินค้าแบรนด์ดัง ๆ ในสหรัฐฯ ที่การค้าจะมีการทำสัญญากันไว้ แม้ค่าระวางเรือแพงเท่าไรเขาก็ยอมจ่าย  เป็นอีกต้นตอหนึ่งที่ทำให้ความต้องการเรือและตู้คอนเทนเนอร์สูงขึ้น บางรายเหมาเรือทั้งลำเพียงรายเดียว บรรจุตู้สินค้า 5,000 -10,000 ตู้ต่อลำ เพื่อให้ได้สินค้าไปจำหน่าย จากปกติจะรวมสินค้าจากหลายรายในเรือลำเดียวกัน

ข้อเท็จจริง ศก.สหรัฐถดถอย เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยพุ่ง โอกาสอาหารไทย

จะสังเกตเห็นว่าสายเดินเรือของยุโรป 2-3 สาย รวมถึงสายเดินเรือทั่วโลกแจกโบนัสแก่พนักงานในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาสูงถึง 40-50 เดือน จากมีผลประกอบการที่ดีและมีกำไรสูงกันถ้วนหน้า ซึ่งจากผลกระทบจากโควิดก่อนหน้านี้ ทำให้เรือต้องจอดเป็นร้อยลำ จากขาดคนงานลงของ ส่วนเรือที่ลงของเสร็จขากลับที่ปกติต้องขนสินค้าจากประเทศปลายทางกลับมาด้วย  แต่จากเรือขาด ค่าระวางเรือสูงก็ยอมตีเรือเปล่ากลับมา ปล่อยให้ตู้คอนเทนเนอร์กองอยู่เป็นหมื่นเป็นแสนตู้ หากนำมาเรียงต่อกัน คาดจะมีความยาวกว่า 20 ไมล์ทะเล เมื่อเกิดช็อตซัพพลายเรือและตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ทุกอย่างก็เพี้ยนหมด”

  • สงครามรัสเซีย-ยูเครนทุบซ้ำ

ล่าสุดในปีที่ผ่านมา จากที่รัสเซียทำสงครามกับยูเครน ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันและพลังงานของโลกแกว่งในทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ซัพพลายด้านพลังงานและราคาวัตถุดิบในการผลิตขาดแคลน ราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาหลายครั้งโดยมีการปรับขึ้นครั้งละ 0.75% ถึง 2 ครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ณ ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 4.25-4.50% ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี และคาดจะปรับขึ้นอีกในปีนี้

จากผลพวงสหรัฐฯขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า กระทบเงินบาทไทยอ่อนค่าลง โดยอ่อนค่ามากสุดในเดือนกันยายน 2565 ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มากลางเดือนมกราคม 2566 ก็แข็งค่าขึ้นเร็ว หลังดอลลาร์สหรัฐฯเริ่มอ่อนค่าตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยค่าเงินบาทแข็งค่าที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้ส่งออก พวกที่ไม่ได้บุ๊กค่าเงิน หรือทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้จะเสียหาย

  • บ้าน-รถ ขายฝืดแข่งลดราคา

“จากสถานภาพเงินเฟ้อของสหรัฐฯและไทยที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่างกัน ยกตัวอย่าง สหรัฐฯครอบครัวหนึ่งมีรายได้ปีละ 1 แสนดอลลาร์ มีรายจ่ายประจำ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ากินอยู่ เมื่อเงินเฟ้อสูงของแพงขึ้นเขาก็มีปัญหา เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ก็ไม่เปลี่ยน ใช้ของเดิม ส่วนอาหารการกินก็บริโภคเท่าที่จำเป็น ไม่ออกไปอาหารนอกบ้าน  ส่งผลภัตตาคาร ร้านอาหารในสหรัฐฯช่วงที่ผ่านมาต้องปิดตัวไป 50% ส่วนห้างร้านต่าง ๆ สาขาที่ขายไม่ได้ หรือขายลดลงมากก็ปิดตัวลงไปเยอะ ส่งผลกระทบรุนแรงมาก พวกมีอันจะกินก็ยังต้องประหยัดยับยั้งการซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ใหม่ บ้าน รถยนต์ในสหรัฐฯต้องปรับลดราคาลงจากขายไม่ออก ทั้งหมดเป็นภาพที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯในเวลานี้"

  • โอกาสสินค้าอาหารไทย

อย่างไรก็ดีสำหรับสินค้าไทยมองว่ายังมีโอกาสในตลาดสหรัฐฯ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าอาหารที่จำเป็นต่อการครองชีพ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องมีความพยายามมากขึ้น ต้องขยัน และต้องไปหาลู่ทาง

“บนเชลฟ์สินค้าในสหรัฐพร่องไปเยอะ เราต้องไปเติมเต็ม ในส่วนของผมเอง โชคดีที่มีคอนเน็กชั่นกับผู้บริหารของห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในสหรัฐฯมานานนับสิบปี โดยในนโยบายสเปเชียลคอนเน็กชั่นของผม เรารู้จักกับเจ้าของบริษัทห้างร้าน บริษัทใหญ่ ๆ  มีการพามาประเทศไทยหลายครั้ง ทำให้ได้เปรียบ และเราก็พยายามที่จะเติมเต็ม ซึ่งที่สำคัญผมจะทำในสิ่งที่ตัวเองมั่นใจว่าทำได้ ไม่มีการผิดพลาด หากไม่มั่นใจเราก็ไม่รับ เพราะห้างเหล่านี้เป็นห้างที่ใหญ่โต และมีชื่อเสียง เราไม่สามารถไปอ้างเหตุได้ว่าส่งสินค้าให้เขาไม่ได้เหตุจากเอ็กซิเดนท์ เขาไม่รับผิดชอบหรอก” นายประมุข กล่าว