รมต.ป้ายแดง โชว์กึ๋น เคลื่อน 3 กรม เกษตร

12 ม.ค. 2566 | 04:52 น.

เปิดตัว "สุนทร ปานแสงทอง" รมต.ป้ายแดง โชว์กึ๋น เคลื่อน 3 กรม เกษตร ฝากการบ้าน ข้าราชการ - เจ้าหน้าที่ ทำอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกร หรือประชาชนเห็นผลแบบประทับใจ หรือ “WOW” พร้อมรับมื่อฤดูแล้ง

นับตั้งแต่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 (คลิกอ่าน) ส่งผลให้ตำแหน่งนี้ว่างลง ล่าสุดก่อนที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครบวาระ ได้แต่งตั้ง นายสุนทร ปานแสงทอง ในโควต้าของกลุ่มปากนํ้าสมุทรปราการ ของพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ โดยราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

 

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายสุนทร ปานแสงทอง ถึงนโยบายในการกำกับดูแล 3 หน่วยงานตามที่ได้รับมอบหมาย (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม, กรมฝนหลวงและการบินเกษตร,กรมพัฒนาที่ดิน) รวมถึงภารกิจในการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล

 

 

 

รมต.ป้ายแดง โชว์กึ๋น เคลื่อน 3 กรม เกษตร

 

สู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว

 

นายสุนทร กล่าวถึงที่มาที่ไปบนเส้นทางการเมือง ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯในครั้งนี้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 30 ปี ได้ทำงานด้านการเมืองมาตลอด โดยมีโอกาสทำงานกับนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ โดยตนเริ่มจากตำแหน่งผู้ช่วย ส.ส.ให้กับนายวัฒนา ที่ผ่านมาก็คลุกคลีกับสภามาโดยตลอด

 

 

หลังจากนั้นได้ลงเลือกตั้งท้องถิ่นที่เดิมเรียกว่า “สมาชิกสภาจังหวัด” แต่ปัจจุบันเป็นสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ ก็ได้เป็นทุกสมัย เป็นทุกตำแหน่งทั้งสมาชิก เลขานุการ รองประธานสภา ที่ปรึกษานายกฯ และตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองนายก อบจ.ในปี 2564 ในยุคของนางสาวนันทิดา แก้วบัวสาย เป็นนายก อบจ.สมุทรปราการ ก่อนที่ล่าสุดจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโควต้าของกลุ่มปากนํ้าของพรรคพลังประชารัฐ

 

โชว์วิสัยทัศน์กำกับ 3 หน่วยงาน

 

สำหรับภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ครั้งนี้ ได้ให้กำกับดูแล 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และ กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งได้มอบนโยบายในหลักการคือ ให้ผู้บริหารและข้าราชการทุกคนมีความสมัครสมานสามัคคีให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 

 

 

รมต.ป้ายแดง โชว์กึ๋น เคลื่อน 3 กรม เกษตร

 

การทำงานจะต้องปรึกษาหารือกัน และขอให้ผู้บริหารและข้าราชการทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ขอให้ทำงานอย่างมีความสุขไม่เครียดหากทำงานอย่างมีความสุขก็จะมีความคิดสร้างสรรค์ มีวิสัยทัศน์ ผลตามมาคือ จะทำให้ประชาชนได้รับการตอบสนอง และการบริการอย่างใกล้ชิด

 

 

 

รมต.ป้ายแดง โชว์กึ๋น เคลื่อน 3 กรม เกษตร

 

“ในการมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ครั้งนี้ แม้เหลือเวลาทำงานไม่มาก แต่ก็มีความตั้งใจจะทำงานให้ดีที่สุด โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยเป็นรองนายก อบจ. ทำงานในเรื่องการบริหารงานบุคคล การพัฒนาโครงสร้าง และการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมาโดยตลอด ก็จะใช้ประสบการณ์ตรงนี้มาช่วยในการทำงาน ซึ่งการทำงานคนเดียวคงไปไม่รอด ต้องมีทีมงาน ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ สจ. ในพื้นที่ พอผมขยับตำแหน่งขึ้นมา ก็มีระดับผู้บริหารคือ “อธิบดี” ที่มาเป็นมือเป็นไม้ในการที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีความสุข”

 

รมต.ป้ายแดง โชว์กึ๋น เคลื่อน 3 กรม เกษตร

 

นายสุนทร ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ต่ออาชีพเกษตรกรว่า คนทำอาชีพนี้มีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน นํ้า อากาศ ในเรื่องของนํ้ามี 2 ส่วนที่จะต้องเข้ามาดูแลหลัก ๆ คือ ในส่วนของกรมฝนหลวงฯ จะทำอย่างไรให้พื้นที่แห้งแล้งสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี ส่วนกรมพัฒนาที่ดิน จะพัฒนาที่ดินให้มีคุณภาพอย่างไร และทำอย่างไรนํ้าที่มาจากธรรมชาติ จากฝนที่ตกลงมาแล้วให้สามารถเก็บกักนํ้าไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี เช่น การสร้างฝายกักเก็บ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ และรายได้ที่ดีขึ้น

 

 พร้อมรับมือฤดูแล้ง

 

รมต.ป้ายแดง โชว์กึ๋น เคลื่อน 3 กรม เกษตร

 

สำหรับช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ การปฏิบัติการทำฝนหลวง ทำอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกร หรือประชาชนเห็นผลแบบประทับใจ หรือ “WOW” ในระยะเวลาอันสั้น ต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง มาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน

 

 

เช่น เครื่องบินแบบใหม่ที่เหมาะสม การนำอากาศยานไร้นักบินมาใช้ในการทำฝน การตรวจสภาพอากาศ การคิดค้นวิธีการโปรยสารแบบอัตโนมัติแทนใช้คนโปรย ปรับเครื่องมือและวิธีการบดสารฝนหลวง ตอบสนองได้ตรงเป้าประสงค์ แบบ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อให้การทำฝนหลวงมีประสิทธิผลที่ดี ช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุนด้านนํ้า

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,852 วันที่ 12-14 มกราคม พ.ศ. 2566