อาหารไทยรับมือ เศรษฐกิจโลกถดถอย ลุ้นส่งออกปีหน้า 1.53 ล้านล้าน

23 ธ.ค. 2565 | 23:51 น.

อาหารไทยสู้ศึกเศรษฐกิจโลกถดถอย เล็งส่งออกปี 66 ขยายตัว 0-2 % มูลค่า 1.50-1.53 ล้านล้านบาท อาหารทะเลกระป๋อง น้ำตาลทราย ซอสปรุงรส โตต่อ ข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้สด ทิศทางทรงตัว

สินค้าอาหาร สินค้าจำเป็นต่อการครองชีพของคนทั่วโลก เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าส่งออกของไทยที่ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะราคาสินค้า และราคาพลังงานของโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง เงินเฟ้อทั่วโลกยังพุ่ง ฉุดกำลังซื้อหดตัว ยังเป็นปัจจัยลบที่สำคัญ โดยปี 2565 ภาครัฐและเอกชนตั้งเป้าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะมีมูลค่าที่ 1.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8% อย่างไรก็ดีตัวเลขจริงช่วง 10 เดือนแรกไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีแล้ว

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกสินค้าอาหารแล้วมูลค่า 1.26 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้คาดการส่งออกสินค้าอาหารทั้งปีนี้ในสกุลเงินบาทจะมีมูลค่าราว 1.5 ล้านล้านบาท เติบโตราว 20-25% และในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ คาดมีมูลค่าราว 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตราว 10-15%

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

 

“ฐานเศรษฐกิจ”ตรวจสอบการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่มอาหารช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 พบส่วนใหญ่มีมูลค่าและอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ ข้าว มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 32%, ไก่ 1.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 42%, น้ำตาลทราย 9.75 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 142%, อาหารสัตว์เลี้ยง 8.30 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 33%, ทูน่ากระป๋อง 5.96 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 32%, แป้งมันสำปะหลัง 5.31 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% , สิ่งปรุงรสอาหาร 2.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%, กุ้ง 2.29 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%

 

สำหรับในปี 2566 ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปคาดการส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะเติบโตที่ 0-2% หรือมีมูลค่า 1.50-1.53 ล้านล้านบาท ซึ่งอัตราการขยายตัวที่ลดลงในปีหน้า ผลพวงจากฐานตัวเลขปี 2565 ค่อนข้างสูง และยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกในหลายเรื่อง ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีผลกระทบอย่างชัดเจน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว, การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว ผลจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อลดลง จากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง, ภาคการผลิตของไทยมีแรงกดดันจากภาวะต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าแรง และวัตถุดิบที่สูงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของชาติมหาอำนาจ ภัยธรรมชาติ และมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ที่ยังต้องติดตาม

อาหารไทยรับมือ เศรษฐกิจโลกถดถอย ลุ้นส่งออกปีหน้า 1.53 ล้านล้าน

 

ส่วนปัจจัยสนับสนุนการส่งออก ที่สำคัญได้แก่ ความต้องการสินค้าอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกที่กลับมาฟื้นตัว, หลายประเทศนำเข้าอาหารมากขึ้นจากให้ความสำคัญด้านความมั่นคงทางอาหาร, ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนฟื้นตัว นอกจากนี้ภาครัฐมีการเจรจาการค้ากับตลาดใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ช่วยกระจายความเสี่ยง และเป็นโอกาสใหม่ของการส่งออก

 

ทั้งนี้สินค้าอาหารไทยที่คาดยังขยายตัวในปี 2566 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กลุ่มซอสปรุงรส (เป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับการบริโภค และรองรับภาคการท่องเที่ยว จากโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคารต่าง ๆ กลับมาฟื้นตัว) น้ำตาลทราย มูลค่าอาจเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้น และจากนโยบายควบคุมการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย

 

ขณะที่สินค้าอาหารที่มีแนวโน้มทรงตัว อาทิ ข้าว ที่ในปี 2565 การส่งออกไปยังประเทศอิรักที่กลับมาสั่งซื้อข้าวไทยครั้งแรกในรอบ 7 ปี (ช่วง 10 เดือนแรกปีนี้อิรักซื้อข้าวไทย 1.30 ล้านตัน) ซึ่งต้องติดตามว่าในปี หน้าอิรักจะยังซื้อข้าวไทยต่อเนื่องหรือไม่, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ปีนี้ผลผลิตในประเทศได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จะมีผลต่อการส่งออกในปีหน้ามากน้อยเพียงใด และกลุ่มสินค้าผักผลไม้สดและแปรรูปที่ยังต้องติดตามเรื่องปริมาณผลผลิตในปีหน้า รวมถึงจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญ เศรษฐกิจและความต้องการนำเข้าจะเป็นอย่างไร

 

อาหารไทยรับมือ เศรษฐกิจโลกถดถอย ลุ้นส่งออกปีหน้า 1.53 ล้านล้าน

 

“ข้อแนะนำผู้ประกอบการรับมือการส่งออกช่วงเศรษฐกิจโลกถดถอย เช่น ต้องรับออเดอร์อย่างเป็นทางการก่อนทำการผลิตจริง และผลิตตามคำสั่งซื้อและสต๊อกสินค้าพอสมควร ไม่เยอะจนเกินไป เป็นต้น”

 

นายชนินทร์  ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย

 

ด้าน นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า การส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องและอาหารสัตว์เลี้ยงปี 2566 คาดจะยังขยายตัวได้ในตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากทูน่ากระป๋องเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพ และความมั่นคงด้านอาหาร ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงก็เป็นสินค้าจำเป็นต่อสัตว์เลี้ยง ไมว่าจะเป็น สุนัข แมว และอื่น ๆ โดยภาพรวมสินค้าอาหารใน 2 กลุ่มนี้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง ในอัตราที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

 

หน้า  1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3847 วันที่ 25-28 ธันวาคม พ.ศ. 2565