รง.น้ำตาลยังกังวล บราซิลฟ้อง WTO ตัดสินไทย  ชี้ร่างกม.ใหม่ยังมีช่องโหว่

19 ต.ค. 2565 | 11:00 น.

รง.น้ำตาลยังกังวล บราซิลฟ้อง WTO ตัดสินไทย ชี้ร่างกฎหมายใหม่ยังมีช่องโหว่ โดยฉพาะการอุดหนุนของกองทุนน้ำตาล   สุดท้ายแล้วคงเป็นเรื่องที่กรมเจรจาฯจะต้องมองว่าจะกระทบกับการค้าของไทยอย่างไร  ส่วนปลายปีนี้จะเปิดหีบอ้อยได้หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ

นายสมคิด บรรยาย  ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล กล่าวในการเสวนา The Big Issue :น้ำตาลขม มรสุม WTO กฎหมายใหม่ ช่วงเสวนา  “ความเสี่ยงน้ำตาลไทยและทางออกบราซิลฟ้อง WTO” ว่า ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการยกร่างกฎหมายอ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ ยังมีความกังวลว่าเรามีการแก้ตามที่ทางบราซิลฟ้องร้องไทยหรือไม่ ซึ่งก็ได้เห็นรายงานของศาสตราจารย์ทัชมัย  ฤกษะสุต นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

 

นายสมคิด บรรยาย  ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย3สมาคมโรงงานน้ำตาล

 

ทั้งนี้ยอมรับว่ายังมีความกังวล เหมือนเราไปเปิดหน้าชี้ช่องให้ทางบราซิลรู้ว่าไทยยังมีการอุดหนุนและแทรกแซง

 

 

ประเด็นที่มองว่าเป็นการแทรกแซงคือ การที่มีคณะกรรมการซึ่งมีส่วนของภาคราชการอยู่ในนั้นด้วย และพ.ร.บ.ฉบับเดิมระบุว่ากรรมการ หรืออนุกรรมการชาวไร่ หรือโรงงานถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าไปกำหนดไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา  หลักเกณฑ์ประมาณการรายได้ หรือจัดสรรปริมาณน้ำตาล ก็จะเป็นลักษณะของการแทรกแซงก็เป็นข้อกังวลว่าเราแก้มาถูกทางหรือครบถ้วนหรือไม่

 

“เหมือนที่ อ.ทัชมัย เขียนในรายงานการสรุปกรรมการบริหารมาตรการ 49 ประมาณการรายได้ไว้ในระบบ ตรงนี้ผมว่าเราแก้แต่ก็เหมือนไม่ได้แก้ ตรงจุดนี้บราซิลจะมองว่าราชการก็หน่วยงานรัฐยังมาแทรกแซงอยู่ในเรื่องของการกำหนดราคา กำหนดรายได้ของระบบเพื่อจะไปกำหนดราคาอ้อย ราชการก็เข้าไปแทรกแซง ทำให้ราคาอ้อยอาจจะไม่เป็นไปตามกลไกตลาด และช่วงปี 2561-62 ก็มีการแก้ไขว่าไม่กำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากที่กรมการค้าภายในไปกำหนดราคาน้ำตาลทรายก็ยังเหมือนเดิม ผมก็มองว่าบราซิลอาจจะฟ้องเพิ่มหรือเปล่านี่เป็นข้อกังวล และการไปกำหนดหลักเกณฑ์ราคาน้ำตาลทรายในปี 64 นี้ก็เหมือนกัน สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายก็ไปกำหนดปริมาณจัดสรรให้น้ำตาลแต่ละโรงงานขาย ใช้ในการ

คำนวณราคา อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าอาจจะเข้าข่ายการแทรงแซงกำหนดปริมาณโรงงาน คุณต้องขายเท่านี้ถ้าเกินก็เอาเข้ากองทุนและกองทุนก็มาจ่ายคืนโรงงาน ซึ่งกองทุนก็หน่วยงานของรัฐก็มองว่าเข้าข่ายการอุดหนุนที่บราซิลจะฟ้องเราเพิ่มหรือเปล่า จากที่เขาฟ้องเรา เราดันไปเปิดเผยว่าเรายังมีประเด็นที่ยังไม่จบก็อาจจะฟ้องเราเพิ่มได้”

 

ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากสุดท้ายแล้วบราซิลฟ้องไทย มองว่าคงเป็นเรื่องที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะต้องมองว่าจะกระทบกับการค้าของไทยอย่างไร ส่วนกฎหมายที่แก้ มองว่ามาตรา 56 ยังไม่ชัดเจน ร่างแรกที่ห่วงที่บอกว่าถ้าราคาน้ำตาลตามขั้นต้นให้ไปหักจากราคาอ้อย ตรงนี้ยังพอรับได้  แต่พอหลังจากร่างผ่านสภามาแล้วกองทุนยังอุดหนุนเหมือนเดิมซึ่งประเด็นนี้เหมือนยังไม่ได้แก้ตามที่ทางบราซิลฟ้องไทย ที่กองทุนยังไปอุดหนุดชดเชยให้โรงงาน 

 

ส่วนปลายปีนี้จะสามารถหีบอ้อยได้หรือไม่นั้น ก็มีการพูดคุยกับชาวไร่และโรงงาน ซึ่งต้องพูดคุยและตกลงกันได้ก่อนที่จะมาออกกฎหมาย กฎระเบียบ แต่เมื่ออกมาแล้วก็อาจจะถึงจุดบอดจะเดินต่อไปไม่ได้เพราะเมื่อกฎหมายออกมาแล้วอยู่ในประมาณการรายได้ที่จะเอาไปกำหนดราคาอ้อยว่าจะคิดหรือไม่คิด ซึ่งก็ยังมองไม่ออกว่าจะคุยกับรู้เรื่องในประเด็นใด เพราะเป็นเรื่องกฎหมายที่ออกมาแล้ว เท่าที่คุยกับครั้งแรกว่าจะทำเป็นข้อตกลง ซึ่งตนมองว่าข้อตกลงมาหักร่างข้อกฎหมายไม่ได้เมื่อกฎหมายเขียนไว้แล้วว่ากากอ้อยเป็นผลพลอยได้ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ของระบบ ผมมองว่ายังไม่ควรเอามาคิดและราชการคงไม่กล้าทำโดยที่จะไม่เอากากอ้อยมาคำนวณเป็นรายได้ของระบบ เพราะตามกฎหมายต้องเอามาคำควณ ซึ่งตรงนี้อาจจะกระทบโรงงานก็ยอมไม่ได้

ขณะที่ตัวแทนฝ่ายโรงงานที่ทยอยลาออกจากคณะกรรมการทั้ง 5 คณะตาม ตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่ถอดตัวออกไปก่อนหน้านั้นจะกลับเข้ามาหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ แต่ก็มีการหารือกับทางผู้แทนโรงงานซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ