เปิดโปงเส้นทาง “หมูเถื่อน” ใครบงการ-ทำไมไม่มีใครกล้าหือ?

30 ก.ย. 2565 | 07:23 น.

ตั้งแต่ต้นปีมีข่าวความผิดปกติเรื่องปริมาณหมูในท้องตลาดที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนหมูที่เกษตรกรเลี้ยง ออกมาเป็นระยะๆ กระทั่งเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในภาคเหนือตั้งข้อสังเกตดัง ๆ ผ่านสื่อว่ามีการนำเข้าซากหมู ขึ้นไปทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นสูงมากกว่าเท่าตัว

จากปกติที่ 2-6 ล้านกิโลกรัม(กก.) ต่อเดือน เพิ่มเป็น 5 ล้าน กก. ต่อเดือน ส่งผลให้เกษตรกรขายหมูมีชีวิตในฟาร์มได้ช้าลง 30% ขณะที่ผลผลิตหมูไทยที่เกษตรกรกำลังช่วยกันเลี้ยงจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณหมูเข้าสู่สมดุลได้ราวสิ้นปี แต่จู่ ๆ กลับมีปริมาณหมูในตลาดเพิ่มขึ้นผิดปกติเช่นนี้ ระบุสาเหตุได้ทันทีว่าเป็นเพราะ “หมูเถื่อน” ที่มีการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฏหมาย

 

จากนั้นไม่นานเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศก็ทนไม่ไหว ตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงความเดือดร้อนที่กำลังกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะตามมาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นหายนะในรูปเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกา(ASF) หรือสารเร่งเนื้อแดง ไปจนถึงการทำลายอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ เชื่อมโยงไปถึงเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ กระทั่งเกิดเป็นแรงกระเพื่อมให้ภาครัฐจริงจังกับการปราบปรามหมูเถื่อนมากยิ่งขึ้นซึ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีหมูที่ถูกอายัดและตรวจจับมากถึง  85 ตัน หรือ 85,000 กก. มหาศาลจนน่าตกใจ และนี่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะยังมีอีกมากที่เล็ดลอดการตรวจจับไปได้ 

ทำไม “ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน” จึงไม่เกรงกลัวกฏหมาย หมูเหล่านี้มีเส้นทางเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอย่างไร มีหน่วยงานของรัฐหน่วยใดบ้างที่อยู่ในเส้นทางของขบวนการดังกล่าว และมีโอกาสแค่ไหนที่จะสาวไปจนถึง “ผู้บงการ”

 

จุดเริ่มต้นของหมูเถื่อนเหล่านี้ เป็นหมูแช่แข็งที่มีแหล่งที่มาจากประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ออก และควบคุมใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะเครื่องในสุกรเท่านั้น และต้องขอนำเข้าโดยบริษัทผู้นำเข้าที่มีรายชื่อที่ลงทะเบียนไว้ ปัจจุบันน่าจะมีอยู่ราว 25-30 แห่ง ซึ่งความฉ้อฉลของขบวนการดังกล่าวเริ่มต้นได้ ณ จุดนี้ โดยเป็นไปได้ว่าได้ทำการขออนุญาตนำเข้าปลาทะเล อาหารสัตว์ หรือสินค้าอื่น ๆ แต่ในตู้คอนเทนเนอร์กลับบรรจุเป็น “หมูเถื่อน” มาทั้งตู้ หรือ “สอดไส้” แทรกหมูเถื่อนเข้าไปรวมกับสินค้าที่ขออนุญาต

 

เปิดโปงเส้นทาง “หมูเถื่อน” ใครบงการ-ทำไมไม่มีใครกล้าหือ?

หมูเหล่านี้เข้ามาบ้านเราได้ทุกทิศทาง โดยเฉพาะทางน้ำ และทางบก การขนส่งทางเรือดูจะเป็นที่นิยมมากที่สุด ดังปรากฏเป็นข่าวว่าขนกันมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์เดือนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ ด้วยความสะดวกที่สามารถเทียบท่าเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ท่าเรือแหลมฉบัง”ซึ่งสามารถขนส่งต่อไปยัง “ห้องเย็น” ในจังหวัดใกล้ ๆ ได้ทันที อาทิ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี  

 

ในขั้นตอนที่เรือขนส่งมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องผ่านกระบวนการภาครัฐมากมายหลายขั้น เปรียบเหมือนยามเฝ้าประตูบ้านที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งยุ่งยากมากกว่าจะผ่านด่านเหล่านี้ได้ เพราะมีทั้งการตรวจเอกสารจากเจ้าหน้าที่ “กรมศุลกากร” การสุ่มตรวจสินค้าของ “กรมประมงและกรมปศุสัตว์” ที่ต้องเข้าตรวจสอบสินค้าตามที่ระบุในใบขออนุญาตนำเข้า ทั้ง ๆ ที่ยากเย็นกว่าจะผ่านด่านนี้ได้ กลับยังพบหมูเถื่อนเต็มเมือง จึงมีหลายคนตั้งขัอสังเกตว่าหมูเถื่อนผ่านด่านอรหันต์เหล่านี้เข้ามาได้อย่างไร เป็นความหละหลวมบกพร่องของเจ้าหน้าที่จริงหรือ? และที่ข่าวระบุว่ามี “ค่าเคลียร์ตู้” มันคืออะไร?  ที่สำคัญ ยังไม่เคยมีการตรวจจับหมูเถื่อนได้ ณ ท่าเรือแหลมฉบังเลย

 

ภาพจากกรมปศุสัตว์

 

ส่วนทางรถยนต์ก็เป็นการขนส่งเข้ามาตามตะเข็บชายแดนรอบบ้านเรา แล้วส่งเข้าสู่ “ห้องเย็น” เพื่อเก็บสต๊อกเช่นกัน ดังนั้นการติดตามตรวจสอบ “หมูเถื่อน” ตามบริษัทห้องเย็นต่าง ๆ จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ดังจะเห็นว่าหลายครั้งที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ที่นี่  นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการตรวจสอบ “การกักตุนสินค้า” ที่น่าจะช่วยปราบขบวนการหมูเถื่อนนี้ได้อีกทางหนึ่งซึ่งก็คือหน้าที่ของ  “กรมการค้าภายใน”

 

ในด้านการกระจายสินค้า ผู้นำเข้าหรือผู้ค้าส่งหมูเถื่อนจะใช้วิธีประกาศขายผ่านทางโซเชียลมีเดีย และนัดแนะรับส่งของกัน จนกระทั่งวางขายทั่วไป ทั้งร้านอาหาร ตลาดนัด และตลาดสด รวมถึงร้านค้ารายย่อย  และเมื่อมีการกวดขันจับกุมมากขึ้นขบวนการหมูเถื่อนก็พัฒนารูปแบบการฉ้อฉลไปอีกขึ้น จากที่เคยขนส่งด้วยรถแช่เย็นรักษาอุณหภูมิ ก็ตบตาเจ้าหน้าที่ด้วยการใช้รถบรรทุกพ่วงธรรมดาจนดูไม่ออกว่านี่คือ รถขนหมูแช่แข็ง

 

ภาพจากกรมปศุสัตว์

 

นี่คือเส้นทางหมูเถื่อนที่กำลังเข้ามาทำลายเกษตรกร ทำร้ายผู้บริโภค และเศรษฐกิจชาติ แม้ดูเหมือนว่าภาครัฐจะเร่งปราบปราม แต่ก็ยังมีคำถามตามมาว่า การแถลงข่าวจับกุมหมูเถื่อนควรจะเป็นผลงานยิ่งใหญ่ เหตุใดจึงไม่เคยเปิดเผยชื่อผู้กระทำผิดแม้แต่คดีเดียว ทั้ง ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงบริษัทที่นำเข้าได้ไม่ยาก

 

เปิดโปงเส้นทาง “หมูเถื่อน” ใครบงการ-ทำไมไม่มีใครกล้าหือ?

 

เสียงลือเสียงเล่าอ้างถึง “ผู้มีอิทธิพลตัวพ่อ” ว่าอยู่เบื้องหลังขบวนการนี้จนทำให้ไม่มีใครกล้าหือ แม้แต่รถบรรทุกที่ถูกตรวจจับ ยังต้องปิดทะเบียนป้องกันการสาวไปถึงผู้บงการ นัยว่าเป็นการเตรียมงบประมาณรองรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ถ้าเป็นจริงตามนี้ความหวังที่จะได้เห็นขบวนการนี้ถูกถอนรากถอนโคน ก็คงเลือนลาง!!  

 

เรื่องโดย "ชำนาญ เชี่ยวชาญ : คอลัมนิสต์วงการปศุสัตว์"