ไปต่อไม่ไหว! สายการบิน เจ็ทสตาร์ เอเชีย หยุดบิน เลิกกิจการ 31 ก.ค.นี้ ปิดตำนาน 20 ปี

11 มิ.ย. 2568 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2568 | 02:25 น.

สายการบิน เจ็ทสตาร์ เอเชีย โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ที่มีฐานการบินอยู่ในสิงคโปร์ ประกาศแจ้งหยุดกิจการ เลิกจ้างพนักงานมากกว่า 500 คน ปิดตำนาน 20 ปี ธุรกิจโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ส ในสิงคโปร์ ของกลุ่มแควนตัส

วันนี้ (วันที่ 11 มิถุนายน 2568) สายการบิน เจ็ทสตาร์ เอเชีย ประกาศหยุดบินทุกเส้นทาง ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 นี้  โดยพนักงานมากกว่า 500 คนจะถูกเลิกจ้าง หลังจากสายการบินราคาประหยัดแห่งนี้ต้องเผชิญกับต้นทุนซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น ค่าธรรมเนียมสนามบินที่สูง และการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค

เจ็ทสตาร์ เอเชีย เลิกกิจการ

ปิดตำนานโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ส สิงคโปร์ ของกลุ่มแควนตัส ซึ่ง เจ็ทสตาร์ เอเชีย (3 K) เป็นสายการบินต้นทุนต่ำแบรนด์ เจ็ทสตาร์(Jetstar) สัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งมีการปฏิบัติการจากฐานการบินที่ท่าอากาศยานสิงคโปร์ ชางงี มีจุดบินไปหลายแห่งในเอเชีย รวมถึงหลายจุดบินในประเทศไทย

สายการบินแจ้งว่าการตัดสินใจหยุดกิจการเป็นการถาวร ตั้งแต่ 31 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป เป็นไปด้วยความยากลำบาก และเกิดขึ้นหลังจากการทบทวนการทำการของสายการบินที่เผชิญความท้าทายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยต้นทุนในการปฏิบัติการในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้น เจ็ทสตาร์ เอเชีย จะยังคงทำการบินโดยค่อย ๆ ลดความถี่บงนับแต่นี้ไปจนถึง 31 กรกฎาคม 2568 และจะติดต่อผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และการตัดสินใจนี้ ไม่มีผลกระทบกับเที่ยวบินของสายการบินเจ็ทสตาร์ แอร์เวย์ส (JQ) และ เจ็ทสตาร์ เจแปน(GK)

ทั้งนี้เจ็ทสตาร์ เป็นแบรนด์สายการบินต้นทุนต่ำในกลุ่มแควนตัส กรุ๊ป ของออสเตรเลีย โดยมีการตั้งสายการบินแบรนด์เจ็ทสตาร์ในประเทศต่าง ๆ ทั้ง เจ็ทสตาร์แอร์เวย์ส(JQ) ในออสเตรเลีย เจ็ทสตาร์เจแปน(GK) ในญี่ปุ่น และเจ็ทสตาร์เอเชีย(3K) ซึ่งมีสัญชาติสิงคโปร์

เจ็ทสตาร์ เอเชีย  ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2547 และเริ่มปฏิบัติการเมื่อ 13 ธันวาคม 2547 หรือ 20 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีฝูงบินเป็นเครื่องบิน แอร์บัส เอ320 จำนวน 13 ลำ ให้บริการไปยังจุดบิน 18 แห่ง

สำหรับผู้โดยสารในตลาดประเทศไทย ปัจจุบันนั้นเจ็ทสตาร์ เอเชียให้บริการเที่ยวบินระหว่างสิงคโปร์กับ กรุงเทพฯ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต และกระบี่ โดยในอดีตเคยให้บริการมายังหาดใหญ่และอู่ตะเภาด้วย

สายการบินแควนตัส ซึ่งเป็นเจ้าของสายการบินราคาประหยัดแห่งนี้บางส่วน กล่าวว่า การปิดตัวลงนี้จะช่วยให้สายการบินมีเงิน 500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อลงทุนปรับปรุงฝูงบินใหม่ และจะนำเครื่องบิน 13 ลำมาประจำการในเส้นทางทั่วออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และการปิดตัวลงของสายการบิน เจ็ทสตาร์ เอเชีย จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสายการบินเจ็ทสตาร์ แอร์เวย์ส ซึ่งมีฐานอยู่ในออสเตรเลีย และเจ็ทสตาร์ เจแปน

วาเนสซา ฮัดสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแควนตัส กรุ๊ป กล่าวในคำแถลงว่า "เราพบว่าต้นทุนซัพพลายเออร์ของเจ็ทสตาร์ เอเชีย บางส่วนเพิ่มขึ้นถึง 200% ซึ่งส่งผลให้ฐานต้นทุนของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก"

สายการบินราคาประหยัดที่ให้บริการเที่ยวบินมานานกว่า 20 ปี คาดว่าจะขาดทุน 35 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปีงบประมาณนี้ โดยให้บริการเส้นทางต่างๆ ทั่วเอเชีย รวมถึงจุดหมายปลายทางในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

เจ็ทสตาร์ เอเชีย จะยังคงให้บริการเที่ยวบินต่อไปอีก 7 สัปดาห์ แม้ว่าสายการบินจะให้บริการเที่ยวบินที่ลดลงตามลำดับก่อนจะปิดให้บริการในวันที่ 31 กรกฎาคมก็ตาม

ผู้โดยสารที่จองเที่ยวบินของเจ็ทสตาร์ เอเชีย ที่ถูกยกเลิก จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน ขณะที่ผู้โดยสารบางรายอาจได้รับการย้ายไปยังเส้นทางที่ดำเนินการโดยกลุ่มควอนตัส ส่วนพนักงานทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศ จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการเลิกจ้าง

สเตฟานี ทัลลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจ็ทสตาร์ กรุ๊ป กล่าวว่า "เรามีทีมงานที่ยอดเยี่ยมซึ่งมอบบริการลูกค้าระดับแนวหน้าของโลกและประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ดีที่สุดในระดับเดียวกัน และเรามุ่งเน้นที่การสนับสนุนพวกเขาตลอดกระบวนการนี้ และช่วยให้พวกเขาหางานใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ได้" สายการบินควอนตัสซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติของออสเตรเลีย จะยังคงให้บริการเที่ยวบินราคาประหยัดสู่เอเชียผ่านสายการบินเจ็ทสตาร์แอร์เวย์ โดยสายการบินดังกล่าวให้บริการจากออสเตรเลียไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ เช่น ประเทศไทย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

สายการบินแควนตัสเปิดตัวสายการบินเจ็ทสตาร์ เอเชีย ในปี 2547 เพื่อเจาะตลาดการเดินทางโดยเครื่องบินราคาประหยัดที่กำลังเติบโตในเอเชีย แต่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากสายการบินราคาประหยัดอื่นๆ เช่น แอร์เอเชีย และสกู๊ต