“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของดุสิตธานีแต่อย่างใด ทุกอย่างยังดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ในฐานะที่ตนเองเป็นกรุ๊ปซีอีโอ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ตนทำงานเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายที่มีข่าวความขัดแย้ง ผู้ถือหุ้นทั่วไป รวมทั้งพนักงานอีกกว่าหมื่นชีวิต
รวมถึงการสานต่อเจตนารมณ์ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุยผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี ที่ต้องการนำพาดุสิตธานี ซึ่งเป็นแบรนด์โรงแรมไทยไปสู่ต่างประเทศ ให้ทั่วโลกประทับใจ ตนไม่ได้ทำงานให้ทายาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การบริหารงานได้รับนโยบายมาจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งก็มีทายาททั้งสองฝั่งอยู่ในบอร์ด
ซีอีโอมีหน้าที่สนองผู้ถือหุ้นทุกคน ไม่ได้อยู่ข้างผู้ถือหุ้นข้างใดข้างหนึ่ง และล่าสุดบริษัทได้พยายามอย่างเต็มที่ จนสามารถแจ้งงบการเงินไตรมาส 1/2568 ได้ทันตามกำหนดโดยไม่ติดเครื่องหมาย SP (ระงับการซื้อขายหุ้นชั่วคราว) เพื่อยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัทได้สำเร็จ
“ตัวเองก็เชื่อมั่นว่าผู้ถือหุ้นที่กําลังอาจจะมีข้อตกลงกันได้ ไม่ได้อย่างไร ท่านเองท่านก็ต้องมองจากประโยชน์ส่วนรวม และมองถึงบริษัทที่ท่านผู้หญิงชนันต์ ปิยะอุย ได้ก่อตั้งดุสิตธานีขึ้นมา เพราะทุกท่านก็เป็นทายาทโดยตรง และส่วนตัวหวังว่าใจว่าผู้ถือหุ้นที่อาจมีข้อขัดแย้ง จะเจรจาความกันได้ และดำเนินการในสิ่งที่ควรเป็นก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเกิดขึ้น ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งต่อไปในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้”
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความขัดแย้งแต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจของดุสิตธานี โดยนับจากที่ตนเองเข้ามาบริหารดุสิตธานี นับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งจะครบ 9 ปีในปีนี้ และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ตนก็ได้วางแผนการขับเคลื่อนธุรกิจของดุสิตไว้ชัดเจน ใน 3 ช่วง โดยช่วง 3 ปีแรก จะ สร้างพื้นฐานขององค์กรให้แข็งแรง ช่วงที่ 2 อีก 3 ปี จะเน้นขยายธุรกิจให้มีความหลากหลาย ไม่พึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง และ 3 ปีสุดท้าย เปลี่ยนแปลงแชปเตอร์ของบริษัท
แม้ว่าแผนการจะถูกรบกวนด้วยโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในแผน 3 ปีช่วงที่ 2 ก็อาจจะช้าไปบ้างเล็กน้อย แต่เป้าหมายหลักยังคงเดิม คือการทำให้พอร์ตโฟลิโอ และรายได้ของบริษัทมีความแข็งแรงและสมดุลมากขึ้น และปัจจุบันบริษัทได้ก้าวเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของแผนและกำลังเก็บเกี่ยวผลจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา
“ในอดีตก่อนที่ตนเองจะเข้ามาบริหาร ดุสิตธานีพึ่งธุรกิจโรงแรมมากกว่า 90% เราต้องการให้ธุรกิจมีความสมดุลมากขึ้น โดยลดการพึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากเกินไป เราต้องการขยายการให้บริการครอบคลุมเซ็กเมนท์ใหม่ๆ เพราะเซ็กเมนท์เดิมเริ่มลดลงตามอายุของลูกค้า มีเจเนอเรชั่นใหม่ๆ เข้ามาเราจึงต้องขยายการให้บริการที่ตอบโจทย์และครอบคลุมมากขึ้น
เช่น โครงการใหม่อย่าง “อาศัย” ซึ่งเป็นแบรนด์โรงแรมเจาะตลาดกลุ่มมิลเลนเนียลและเจเนอเรชัน Z ก็ถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของวิสัยทัศน์นี้ และเป็นหนึ่งในโรงแรมที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดใน Tripadvisor รวมถึงการให้ความสำคัญในการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจ”
ทำให้ตลอด 9 ปี ดุสิตธานีมีโรงแรมภายใต้การบริหารเพิ่มจาก 27 แห่ง เป็น 58 แห่ง มีการให้บริการในรูปแบบวิลล่าอีกเกือบ 300 แห่ง ขยายธุรกิจจาก 8 ประเทศ เป็น 19 ประเทศ มีนักงานเพิ่มจาก 7-8 พันคน เป็นหมื่นคน และเพิ่มธุรกิจจาก 2 บิสิเนสยูนิต จากอดีตมีแค่โรงแรมและการศึกษา มาเป็น 4 บิสิเนสยูนิต โดยเพิ่มธุรกิจอาหารและอสังหาริมทรัพย์
ทำให้สามารถขยายแบรนด์จาก 4 แบรนด์ เป็น 10 แบรนด์ เพื่อในอนาคต สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมจะลดลงจาก 90% เหลือประมาณ 60% โดยที่เหลือจะมาจากธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างรายได้ระยะสั้นและระยะยาว
“ความเสี่ยงที่สูงที่สุดในการทำธุรกิจ คือ การไม่ทำอะไรเลย เราต้องกระจายความเสี่ยง สร้างฐานธุรกิจให้แข็งแรงเพื่อให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ถ้าเรายังอยู่กับโรงแรมอย่างเดียว วันนั้นที่โควิดมา เราอาจไม่เหลืออะไรเลย”
อีกทั้งแม้จะเกิดโควิด จะทำให้บริษัทประสบปัญหาการขาดทุน แต่ดุสิตธานีก็ยังคงสามารถประคับประคองตัว และเดินหน้าขยายกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายรวมถึง การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งมีมูลค่าโครงการมากกว่า 46,000 ล้านบาท โดยที่บริษัทฯ ไม่เคยขอรบกวนท่านผู้ถือหุ้นด้วยการเพิ่มทุนแต่อย่างใด
โดยทุนจดทะเบียนยังคงอยู่ที่ 850 ล้านบาท เพราะจะส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการถือหุ้นเดิม (share dilution) อย่างมีนัยสำคัญ แต่ช่วยเหลือตนเอง ด้วยการหาแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การออกหุ้นกู้ การขอสินเชื่อ เพื่อนำมาบริหารจัดการกิจการ
แม้ที่ผ่านมาดุสิตธานีจะประสบปัญหาการขาดทุนจากโควิด แต่ผลประกอบการมีทิศทางดีขึ้นมาก โดยในปีที่ผ่านมารายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของดุสิตธานี โดยมีรายได้ 11,204 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4,794 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า EBITDA เติบโตจาก 862 ล้านบาท เป็น 1,650 ล้านบาท เกือบเท่าตัว แม้ว่าจะยังมีผลขาดทุนสุทธิ 237 ล้านบาท
แต่ถ้าดูจริงๆเป็นการขาดทุนจากการขาดทุนมีสาเหตุหลักมาจากภาระดอกเบี้ย ซึ่งมาจากหุ้นกู้และเงินกู้ยืมที่ออกเพื่อรองรับสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 ประมาณ 281 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากการบันทึกสัญญาเช่าตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 (TFRS 16) ประมาณ 297 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในขณะนี้โครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของบริษัท และทยอยเริ่มเปิดให้บริการ จึงทำให้ผลประกอบการของดุสิตธานี จึงจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากการรับรู้รายได้ที่เกิดขึ้น ทำให้จะมีการชำระหนี้คืน ช่วงลดภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น โดยโครงการนี้ประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก
ได้แก่ “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา “ดุสิต เรสซิเดนซ์” โครงการที่พักอาศัย แบ่งเป็น “ดุสิต พาร์คไซด์” (ชั้น 8-29) และ “ดุสิต เรสซิเดนซ์” (ชั้น 30-69) ปัจจุบันขายได้แล้ว 87.9% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15,850 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มทยอยโอนได้ปลายปี 2568 และทยอยรับรู้รายได้เต็มที่ในปี 2569
ส่วน “อาคารสำนักงาน” สูง 40 ชั้น คาดว่าจะพร้อมใช้งานในไตรมาส 3 ของปีนี้ บริหารโดย CPN “พื้นที่รีเทล” ที่ส่งมอบโครงสร้างให้ CPN แล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว กำหนดเปิด 15 สิงหาคมปีนี้ และสวนลอยฟ้า สวนขนาดใหญ่ 7 ไร่ ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 มิ.ย.นี้
สำหรับแผนธุรกิจใน 5 ปีข้างหน้า ดุสิตธานีมีโครงการสำคัญ ได้แก่ การขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนอกจากโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ก็ยังมี โครงการดุสิต อจารา หัวหิน ที่พัฒนาพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ที่หน้าโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ให้เป็นที่พักอาศัยภายใต้คอนเซ็ปต์ “มัลติเจนเนอเรชั่น ลิฟวิ่ง” การขยายธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศ ในลักษณะการรับบริหาร โดยมีแผนเปิดโรงแรมในโอซาก้า ฮานอย มะละกา(มาเลเซีย) อินเดีย และมัลดีฟส์
รวมไปถึงการสร้างรายได้จากธุรกิจอาหาร อย่าง ดุสิตฟู้ด เป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อยหลายแห่ง อาทิ Epicure Catering ให้บริการด้านอาหารแก่โรงเรียนนานาชาติ Bonjour ธุรกิจขนมและเบเกอรี่ ซึ่งตอนนี้ได้เข้าไปถือหุ้นผ่าน Epicure และ Bonjour จากเดิม 20 % เป็น 70 % แล้ว ก็ทำให้รายได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ เรายังมีพาร์ทเนอร์ที่ค่อนข้างแข็งแรงเข้ามาช่วยทำให้เรามีการขยายเพิ่มเติมโดยที่ไม่ได้ใช้ทุนของเรา และมีแผนจะนำธุรกิจอาหารเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปีหน้า
ส่วนธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหาร เดอะ ฟู้ด สคูล (TFS) เป็นการลงทุนใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 โดยปกติแล้ว ธุรกิจโรงเรียนจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี หรือกว่านั้นจึงจะคุ้มทุน ดังนั้น สำหรับ TFS นั้น จึงถือได้ว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ปัจจุบันได้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 2 ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมาทาง TFS มีจำนวนนักเรียนหลักสูตรระยะสั้น 1,401 คน และหลักสูตรระยะยาว 181 คน ซึ่งถือว่า อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับโรงเรียนอื่น ๆ ที่เปิดมาก่อนหน้านี้
สำหรับเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจในปีนี้เดิมวางไกด์ไลน์ไว้ว่ารายได้จะเติบโต 30- 35% ซึ่งวางไว้ตั้งแต่ต้นปี แต่ตอนยังไม่มีปัญหาเรื่องภาษีทรัมป์ สงครามการค้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้น อาจมีความยากลำบากในการที่จะถึงเป้านี้ แต่ก็ยังเห็นการเติบโตของรายได้ของดุสิตธานีอยู่ โดยปัจจัยบวกสำคัญมาจากการกลับมาเปิดให้บริการของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เต็มปี ซึ่งเป็นพระเอกด้านรายได้ของกลุ่ม
ดังนั้นปีนี้รายได้โรงแรมต้องดีขึ้นค่อนข้างมาก น่าจะได้สัก 1,500-1,600 ล้านบาท โดยราคาห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพจากเดิม 4,000 บาท ตอนนี้ขายเฉลี่ย 12,000 บาท เพิ่มขึ้น 3 เท่า หลังการกลับมาเปิดให้บริการใหม่อีกครั้ง ทำให้บริษัทยังมั่นใจในการเติบโตของรายได้ในปีนี้ และบริษัทจะเน้นการลงทุนที่ระมัดระวัง โดยใช้กลยุทธ์ “Optimize พื้นที่ของตัวเอง” และลงทุนร่วมกับพาร์ทเนอร์ ใช้เงินของพาร์ทเนอร์แต่ใช้ที่และแบรนด์ของบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนนั่นเอง
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,098 วันที่ 22 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2568