นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การรับมือกับแนวโน้มการท่องเที่ยวในยุคโลกผันผวน ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และวิกฤตสุขภาพโลก โดยเฉพาะการปรับตัวของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ที่มีความคาดหวังและความต้องการท่องเที่ยวที่แตกต่างจากเดิม การเชื่อมโลกกับไทยในยุคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
นโยบายการท่องเที่ยวของไทยต้องสอดคล้องกับแนวโน้มโลก โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ความครอบคลุม (Inclusive Tourism) และความยืดหยุ่น (Resilience Tourism) ซึ่งต้องยกระดับมาตรฐานให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ
ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของไทยในช่วงปี 2568-2573 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้กำหนด 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะช่วยพลิกเกมการท่องเที่ยวไทยในอนาคต ประกอบด้วย
1.การปรับการวัดผลการดำเนินงาน (KPI) จากการเน้นปริมาณนักท่องเที่ยว มาเป็นการเน้นคุณภาพมากขึ้น โดยจะต้องสร้างสมดุลระหว่างคุณภาพและปริมาณ เพื่อให้การท่องเที่ยวมีความยั่งยืนและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
2.การกระจายรายได้สู่เมืองรองและชุมชนผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism) ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและส่งเสริมวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่เมืองใหญ่
3.การผสมผสานการใช้ Soft Power และ Digital Economy โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม อาหาร กีฬา และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อทำให้การท่องเที่ยวมีความทันสมัยและเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
4.การกระจายความเสี่ยงของตลาด (Market Diversification) โดยขยายฐานนักท่องเที่ยวไปยังภูมิภาคใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย ลาตินอเมริกา และแอฟริกา รวมถึงตลาดเก่าที่เคยมีนักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านั้นมาก่อน
5.การเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤตต่างๆ เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสถานการณ์ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ
อีกทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัย มีการส่งเสริมการใช้ SHA Plus และการพัฒนาระบบ Digital Health Passport เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางข้ามพรมแดน รวมถึงสื่อสารเชิงรุกเพื่อสร้างความเชื่อมั่น
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา Tourism Risk Match Map และติดตั้งระบบ Early Warning System ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ พร้อมใช้บิ๊กดาต้าและ Tourism Intelligence ในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักท่องเที่ยว
สำหรับการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ กระทรวงได้ส่งเสริมแคมเปญ “ไทยเท่” และสนับสนุนการพัฒนาเอสเอ็มอีและชุมชนท้องถิ่นให้มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นต่อการผันผวนทางเศรษฐกิจ
“เป้าหมายสำคัญของเราคือการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนระดับโลก (Sustainable Tourism Hub) โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ
ซึ่งเรามีจุดแข็งทั้งวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และความเชี่ยวชาญในภาคบริการด้วย ‘ยิ้มสยาม’ ที่มีชื่อเสียง” นายสรวงศ์กล่าว
ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดทำแผนงานเชิงรุกใน 3 มิติ มุ่งเน้นการสร้าง Strategic Partnership ระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในระดับสากล (Building Global Trust) ผ่านเวทีต่างๆ เช่น เวทียูเอ็น เวทีอาเซียน และเวทีเอเปค
นายสรวงศ์ยังเน้นย้ำว่า “ทุกคนในปัจจุบันเป็นสื่อหมด ทุกคนมีความคิดเห็นของตัวเองและการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียบางครั้งอาจมีผลกระทบต่อประเทศ
ซึ่งเราจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในวงกว้าง” พร้อมเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Future-Proof Destination จุดหมายปลายทางแห่งอนาคตสำหรับนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่
บทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับอนาคตการท่องเที่ยวไทย ก็จัดว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและการยกระดับประสบการณ์นักท่องเที่ยว
Mr. Daniel Wu, Head, Global Affairs, Agoda กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังได้รับการปฏิวัติด้วย AI ทั้งในแง่การบริการ การวางแผนการท่องเที่ยว และการพัฒนาระบบนิเวศใหม่ที่เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้บริโภค
โดย Agoda ใช้ AI ให้บริการนักท่องเที่ยวกว่า 80 ล้านคนต่อปี และวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบต่างๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มและความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยเขาได้เสนอ 3 แนวทางหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต ได้แก่
1.การพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและ AI
2.การปรับปรุงนโยบายและการกำกับดูแลที่ชัดเจนจากภาครัฐ
3.การส่งเสริมความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมโดยพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวแต่ละบุคคล
ขณะที่ Ms. Michelle Jie Gao, Regional Manager, Booking.com เปิดเผยว่า โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงในการค้นหาข้อมูลจากมากกว่า 145 หน้าเว็บไซต์ก่อนตัดสินใจเดินทาง โดยในปี 2025 คาดการณ์ว่า 10% ของผู้ใช้ AI จะใช้ในการวางแผนท่องเที่ยว
และ 80% ของผู้ใช้งานระบุว่า AI ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์และแม่นยำ นอกจากนี้ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประมาณ 66% ของนักท่องเที่ยวใช้ AI บ่อยครั้งในการวางแผนการเดินทาง
สำหรับการท่องเที่ยวชุมชน “สมศักดิ์ บุญคำ” ผู้ก่อตั้ง Local Alike เผยว่า AI ช่วยลดระยะเวลาในการติดต่อและให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวจาก 1-2 สัปดาห์เหลือเพียง 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวชุมชนยังต้องการการพัฒนาในหลายด้าน เช่น ระบบนิเวศ โครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยให้ทุกอย่างดำเนินไปได้เร็วขึ้น
ด้านนายธีระศิลป์ เทเพนทร์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ได้พัฒนา tourismthailand.org สู่ระบบ 3.0 ที่ทันสมัย สามารถปรับข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวและบริการได้รวดเร็ว ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน
รวมถึงการใช้ Virtual Reality (VR) ในการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวเสมือนจริงผ่าน 34 โครงการที่กำลังพัฒนา นอกจากนี้ ททท. ยังเปิดตัว “ททท. เอไอ” ที่งาน ITB Berlin เมื่อเดือนมีนาคม 2568 เพื่อตอบคำถามและให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสม
สำหรับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้วางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เข้าสู่ความยั่งยืนภายในปี 2571 โดยมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวทุกด้าน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งการท่องเที่ยวไทย ถือเป็นความหวังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,096 วันที่ 15 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2568