อดีตผู้ว่าททท.ชี้ทางออก หยุดวิกฤติท่องเที่ยวไทย หลังจีนลดลงอย่างรวดเร็ว

16 พ.ค. 2568 | 00:09 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2568 | 00:47 น.

อดีตผู้ว่าททท.ยุทธศักดิ์ สุภสร ชี้ทางออก หยุดวิกฤติท่องเที่ยวไทย หลังการลดลงอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวจีน แนะสูตร “3R : Rebrand-Reboot-Reform” หยุดวิกฤต พร้อมเผยเหตุผลทำไมคนจีนไปเที่ยวญี่ปุ่นมากกว่าเดินทางมาเที่ยวไทย

การท่องเที่ยวไทย กำลังเผชิญกับภาวะ “Freefall” หรือการลดลงอย่างรวดเร็ว หลังนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยหดตัว

หากย้อนกลับไปในปี 2562 ก่อนโควิดระบาด ประเทศไทยมี “นักท่องเที่ยวจีน” จำนวนมากถึง 11 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 39.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 27% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด เฉลี่ยเดือนละ 900,000 คน วันละ 30,000 คน

แต่ในปี 2568 ตั้งแต่เดือน ม.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงตามลำดับ จากเดือนละ 22,000 คนในเดือน ม.ค. เหลือประมาณ 10,000 คนเมื่อสิ้นเดือน เม.ย. หรือในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละ 13,000 กว่าคน

อดีตผู้ว่าททท.ชี้ทางออก หยุดวิกฤติท่องเที่ยวไทย หลังจีนลดลงอย่างรวดเร็ว

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)และอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรม “การท่องเที่ยวไทย” กำลังเผชิญภาวะ “Freefall” หรือ อยู่ในภาวะการลดลงอย่างรวดเร็ว  จากการลดลงอย่างรวดเร็วของ “นักท่องเที่ยวจีน” 

ยุทธศักดิ์ สุภสร

หลังจำนวนนักท่องเที่ยวจีนต่ำกว่า 10,000 คน ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. โดยวันที่ 4 พ.ค. มีจำนวน 7,770 คน วันที่ 5 พ.ค. 7,288 คน วันที่ 6 พ.ค. 8,628 คน ล่าสุดวันที่ 11 พ.ค. 8,612 คน วันที่ 12 พ.ค. 9,059 คน และวันที่ 13 พ.ค. 8,379 คน

การหดหายไปของนักท่องเที่ยวจีน ส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางเข้าประเทศไทยลดลง จนต่ำกว่า 60,000 คนต่อวันไปแล้ว เช่น วันที่ 12 พ.ค. มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 59,696 คน และวันที่ 13 พ.ค. จำนวน 57,211 คน

เปิดสาเหตุทำไมจีนเที่ยวไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้เผชิญวิกฤตหลายครั้งแต่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเหมือนช่วงหลังโควิด-19 ถือเป็นการฟื้นตัวที่รวดเร็วในอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีตลาดหลักคือจีนและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนเป็นแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัว 

การหดหายไปของตลาดจีน ทำให้ความสำคัญของตลาดจีนเหลือเพียง 14% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด เทียบกับสัดส่วน 27% เมื่อปี 2562 ที่จีนถือเป็นแหล่งรายได้ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของไทย โดยสาเหตุที่นักท่องเที่ยวจีนหายไป เป็นปัญหาภาพลักษณ์ที่สั่งสมมานาน

นักท่องเที่ยวจีน

สอดคล้องกับผลสำรวจของ Dragon Trail International บริษัทด้านการท่องเที่ยวในประเทศจีนที่พบว่า คนจีนกังวลการเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 28% ในปี 2565 เป็น 51% ในปี 2566 ทั้งภาพลักษณ์เชิงลบผ่านภาพยนตร์ อาทิ No More Bets ที่สื่อถึงวงจรฉ้อโกง การค้ามนุษย์ การค้าอวัยวะในตลาดมืด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กรณีนักแสดงจีนที่หายไปบริเวณชายแดนไทย ตอกย้ำภาพดังกล่าว และข่าวร้ายที่นำเสนอผ่านสื่อโซเชียลในจีนอย่างต่อเนื่อง

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า Tongcheng Travel ผู้ให้บริการทัวร์ท่องเที่ยวรายใหญ่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศจีน เผยว่าญี่ปุ่นกลายเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของชาวจีนตามด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์เกาหลีใต้ ส่วนไทยหล่นมาอยู่อันดับที่ 5 

สอดคล้องกับข้อมูลของทริปดอทคอม ธุรกิจบริการทัวร์ท่องเที่ยวออนไลน์ชื่อดังในจีนที่ออกมาระบุว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวหรือตรุษจีนที่ผ่านมา ปริมาณการเดินทางเข้าและออกประเทศจีนพุ่งสูงขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลเดียวกันในปี 2567

ทำไมคนจีนไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นแต่ไม่มาเที่ยวไทย

โดยญี่ปุ่นกลายเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งการฟื้นตัวของอัตราเที่ยวบินจากจีนภาพรวมอยู่ที่ 79% แต่ไทยมีการฟื้นตัวเที่ยวบินขาออกจากจีนเพียง 58% เท่านั้น อยู่อันดับที่ 21 น้อยกว่าและเป็นรองจากลาว 137% มาเลเซีย 115% สิงคโปร 103% เวียดนาม 97%

ส่วนญี่ปุ่นมีเที่ยวบินจากจีนเข้าไปกว่า 108% สอดคล้องกับยอดจองที่พักในญี่ปุ่นโตแรงถึง 300% ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา

สาเหตุที่จีนไม่มาเที่ยวไทยแต่ไปเที่ยวญี่ปุ่น เพราะเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ช่วงตกต่ำ มีนโยบายให้เที่ยวในประเทศ รวมถึงตั้งแต่ปี 2565 ค่าเงินเยนต่อเงินหยวนอ่อนค่าลงกว่า 25% ราคาสินค้าและบริการในญี่ปุ่น มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

แต่ไทยแม้ค่าเงินบาทต่อหยวนจะคงที่ แต่ต้นทุนการบริโภคในไทยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร ปรับตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ความได้เปรียบด้านราคาในฐานะจุดหมายปลายทางที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงของไทยร่วงลง 

รวมถึงญี่ปุ่นถูกมองว่า เป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในโลกมาเป็นเวลานาน แต่ไทยมีข่าวงบเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนลดลง

สอดคล้องกับข้อมูลดัชนี Travel & Tourism Development (TTDI) ที่ระบุว่า ความปลอดภัยของไทยล่าสุดปรับแย่ลงจากอันดับที่ 88 เป็นอันดับที่ 92 จาก 117 ประเทศ

แนะกลยุทธใช้สูตร “3R : Rebrand-Reboot-Reform หยุดวิกฤตท่องเที่ยวไทย

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ไทยจะต้องดำเนินการต่อไป คือ ให้เร่ง “Stop the Freefall” หยุดวิกฤติท่องเที่ยวไทย! ดึงนักท่องเที่ยวกลับมา และถือโอกาสนี้ปรับโครงสร้างนักท่องเที่ยวไปสู่กลุ่มคุณภาพเพิ่มขึ้น ภายใต้กลยุทธ “3R : Rebrand-Reboot-Reform”

เริ่มด้วยการ “Rebrand” เพื่อที่จะ “Rebuild” ความเชื่อมั่น ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในฐานะ “ประเทศแห่งรอยยิ้มของคุณภาพและความปลอดภัย”

ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงสร้างภาพลักษณ์ใหม่ แต่ต้องเน้นสร้างมั่นใจ ความรู้สึกปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานบริการนักท่องเที่ยวเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการของ “Thai Hospitality” และไม่ใช่แค่ “Free Visa” หรือ การยกเว้นวีซ่า

แต่รวมถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการเดินทางอย่างสะดวกและปลอดภัย (Ease & Safe of Traveling) เพื่อสร้างความทรงจำที่ประทับใจตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึงและตลอดระยะเวลาที่เดินทางท่องเที่ยว “สร้างความปลอดภัย” แก่นักท่องเที่ยวในทุกมิติ

โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย ปัญหาอาชญากรรมต่อทรัพย์สินส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยว อุบัติเหตุ ตลอดจนปัญหาการเอารัดเอาเปรียบและหลอกลวงนักท่องเที่ยว ในขณะที่แก้ปัญหาการคมนาคมยังไม่เป็นที่พึงพอใจของนักท่องเที่ยวมากนัก ทั้งด้านความพร้อมของสาธารณูปโภค คมนาคม (ถนน รถไฟ) และด้านคุณภาพการบริการ (แท็กซี่) พัฒนาระบบเตือนอุบัติเหตุและอุบัติภัย มีหลากหลายภาษา

ขณะเดียวกัน สามารถชู “ซอฟต์พาวเวอร์” ของประเทศไทย และ “เมืองรอง” (เมืองน่าเที่ยว) เป็นจุดขายใหม่ สร้างภาพจำใหม่ โดยให้สะท้อนถึงความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและเป็นส่วนตัว ลบภาพเดิม และแบบแผนเดิมๆ ที่เน้น “เกาะ” และ “อาหาร” โดยสร้างเสริมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเมืองน่าเที่ยวบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ท้องถิ่น ธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต มาสร้างเป็นจุดหมายปลายทางที่สดใหม่

ต่างชาติเที่ยวไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค.-11 พ.ค. 2568

ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือการสร้างสรรค์กิจกรรมด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม อาหารถิ่น งานประเพณี และความเชื่อศรัทธา

อีกกลยุทธ์ในการสื่อสารการตลาด เน้นความสนุก เพราะ “สนุก” ไม่ใช่แค่ความสุขชั่วคราว แต่เป็นหลักการที่เน้นย้ำถึงการนำความสุขและความเพลิดเพลินมาเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ต้องเร่ง “Reboot” เพื่อที่จะ “Revive” อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้กลับมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเหมือนในช่วงที่ผ่านมา โดยเน้นการเพิ่มรายได้จำนวนนักท่องเที่ยว ความถี่และจำนวนที่นั่งของเที่ยวบินเข้าสู่ประเทศไทย

รวมถึงเพิ่มการทำตลาดกับนักท่องเที่ยวกลุ่ม “Quality Mass” เช่น กลุ่มไมซ์ (MICE: ประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในระยะสั้น ขณะเดียวกันต้องเร่งส่งเสริมการขายในการนำเข้านักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง (Big Spender) ด้วย

รวมไปถึง “Reform” เพื่อที่จะ “Restructure” อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวจาก “Demand-driven” ไปสู่ “Supply-driven” ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ