CAAT จ่อลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นไทย แจ้งเกิดธุรกิจแอร์คาร์โก้ ปลดล็อคอายุเครื่องบิน

27 เม.ย. 2568 | 03:07 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2568 | 03:20 น.

CAAT จ่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทย ผลักดันตั้งแอร์คาร์โก้ สัญชาติไทย ทั้งศึกษายกเลิกกำหนดอายุเครื่องบิน ที่ใช้ในการปฏิบัติการบิน เปิดทางจัดหาเครื่องบินได้ง่ายขึ้น

CAAT จ่อลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นไทย แจ้งเกิดธุรกิจแอร์คาร์โก้

พล.อ..มนัส ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการดำเนินของการดำเนินงานของ CAAT ในการส่งเสริมธุรกิจการบิน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้ 

มนัส ชวนะประยูร

ผมมีแผนส่งเสริมธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo)ให้เกิดผู้ประกอบการไทยรายใหม่ๆเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมากจากปัจจุบันผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศสัญชาติไทยยังมีจำนวนน้อยมาก

ดังนั้น CAAT จึงมีแนวคิดที่จะพิจารณาทบทวนข้อกำหนดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 51% ซึ่งเห็นควรว่าน่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง หรือการผ่อนปรนข้อกำหนดลง 

ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถระดมทุนและจัดตั้งสายการบินขนส่งสินค้าได้ง่ายขึ้น และอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้ในอนาคตเมื่อเติบโตแล้ว สามารถเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยจนกลายเป็นบริษัทสัญชาติไทยอย่างเต็มตัว

ทั้งนี้การจะทำให้เกิดสายการบินขนส่งสินค้าทางอากาศสัญชาติไทยรายใหม่ๆ ได้ จะเริ่มด้วยการลดสัดส่วนถือหุ้นลง จากเดิมที่มีข้อกำหนดว่าต้องมีคนไทยถือหุ้นอย่างน้อย51%

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการรวบรวมทุน และค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนเงินทุนแบบขั้นบันได จนเติบโตเป็นสายการบินขนส่งสินค้าสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์ 

"หากยังคงข้อกำหนดสัดส่วนแบบเดิม เชื่อว่าคงเกิดยาก เบื้องต้นเริ่มแรกอาจปรับเป็นสัดส่วนคนไทยถือหุ้น20%และให้เวลา5ปี ต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 30%ในลักษณะซื้อหุ้นเพิ่มทุน จนในที่สุดต้องปรับเพิ่มสัดส่วนเป็น100%"

ขณะนี้ CAAT อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องดังกล่าว และพิจารณาข้อกฎหมายต่างๆคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ1ปี จะได้เห็นผลการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ เป็นธุรกิจที่ดำเนินการได้ทั้งขาเข้า และขาออก จึงต้องทำให้การขนส่งสินค้าทั่วโลก มามีจุดเปลี่ยน หรือขนถ่ายสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะกลายเป็นฮับในการขนส่งสินค้าทางอากาศ และคนไทยก็จะได้ประโยชน์ เพราะวันนี้จะเห็นว่ามีแต่แอร์คาร์โก้ของต่างชาติ เข้ามาขนส่งสินค้าในไทยได้ แต่คนไทยจะทำแอร์คาร์โก้ ต้องมีข้อจำกัด ทำให้ธุรกิจไม่โต”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีสายการบินขนส่งสินค้าทางอากาศสัญชาติไทย อาทิ เค-ไมล์ แอร์ และพัทยา แอร์เวย์ เป็นต้น

เล็งยกเลิกกำหนดอายุเครื่องบิน ที่ใช้บิน เปิดทางจัดหาเครื่องบินได้ง่ายขึ้น

 

พล.อ.อ.มนัส ยังกล่าวต่อว่า CAAT ยังจะเตรียมจะทบทวนข้อกำหนดอายุเครื่องบินในการนำเครื่องบินเข้ามาประกอบธุรกิจ จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ว่าต้องมีอายุไม่เกิน 16 ปี การทบทวนข้อกำหนดนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาเครื่องบินมาดำเนินกิจการได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19 ที่ธุรกิจการบินกลับมาเติบโต และการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ต้องรอคิวเป็นเวลานาน

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม เพราะความปลอดภัยของเครื่องบินไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับมาตรฐานความปลอดภัยหรือความพร้อมในการบิน (Airworthiness) และประวัติการซ่อมบำรุงของเครื่องบินลำนั้นๆ ดังนั้นการตรวจสอบมาตรฐานและประวัติการซ่อมบำรุงเครื่องบิน น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจเป็นหลัก ไม่ใช่ดูที่อายุของเครื่องบิน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,082 วันที่ 27 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2568