การขยายธุรกิจของสายการบิน ไทยไลอ้อนแอร์ ในปีนี้ กำลังจะกลับมาเปิดแนวรุกในการดำเนินธุรกิจอีกครั้ง โดยในปีนี้มีแผนจะนำเครื่องบินเข้าฝูงบินอีก 14 ลำ พร้อมเดินหน้าขยายเน็ตเวิร์ค เพื่อกู้ตลาดให้กลับมาได้อีกอย่างน้อย 50 % ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 “อัศวิน ยังกีรติวร” ซีอีโอ และ “นันทพร โกมลสิทธิ์เวช” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ได้เปิดกลยุทธการดำเนินธุรกิจในปีนี้
นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของสายการบินในปี 2568 ว่า ในปีนี้สายการบินฯ จะขยายฝูงบินเพิ่มอีก 14 ลำ จากปัจจุบันมี 26 ลำ แบ่งเป็นโบอิ้ง 737 - 800 ขนาด 189 ที่นั่ง จำนวน 19 ลำ และโบอิ้ง 737 - 900 ER ขนาด 215 ที่นั่ง จำนวน 7 ลำ
โดยมีแผนรับมอบเครื่องบิน ในครึ่งปีแรกอย่างน้อย 5 ลำ เพื่อนำมาเปิดเส้นทางบินใหม่ และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน โดยสายการบินฯ พร้อมสนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งเอเชีย (Tourism Hub)
การเกิดโควิด-19 สายการบินมีเครื่องบินทั้งหมดประมาณ 40 ลำ แต่จากผลกระทบของโควิด เกิดการชลอตัวในการเดินทาง ทำให้สายการบินต้องคืนเครื่องบินออกไป และทยอยรับมอบเครื่องบินเข้ามาเมื่อสถานการณ์การบินฟื้นตัวดีขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา สายการบินมีเครื่องบินจำนวน 26 ลำ
ในปีนี้จะรับมอบเข้ามาเพิ่มอีก 14 ลำ ซึ่งเราก็หวังว่าในช่วงปลายปีนี้ สายการบินก็จะมีจำนวนเครื่องบินรวม 40 ลำ ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่ในระหว่างทางก็ต้องพิจารณาด้วยว่าตลาดจะกลับมาเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นในปีนี้เราจะมีเครื่องบินในฝูงรวมกันอยู่ที่ 30 แน่นอน โดยเข้ามาแน่นอนแล้วอย่างน้อย 5 ลำในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
สำหรับทิศทางของสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ในปีนี้ จะเน้นใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่
1.การขยายฝูงบินของสายการบินให้กลับมาให้ใกล้เคียง กับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด โดยเรามองเห็นว่าตั้งแต่ปี 2566 ตลาดค่อยๆฟื้นตัว พอมาในปี 2567 เห็นเทรนด์ตลาดที่กลับมาดี ดังนั้นในปีนี้เราจึงจะพยายามกลับมาให้ได้เท่ากับปีก่อนเกิดโควิด
2. เน้นสนับสนุนภาครัฐเพิ่มเครือข่ายการบินโดเมสติก โดยจะมีแผนจะเปิดทำการเบินเข้าสู่เมืองรองเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันบินเส้นทางในประเทศอยู่ที่ 13 จุดบิน ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศ ก็จะกลับมาทำการบินในเส้นทางบินที่เคยทำการบินอยู่เดิม
3.กลับมาทำการบินในจุดบินที่สายการบินเคยทำการบินให้ได้ตัวเลขที่ชัดเจนก่อน
นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ เสริมว่า ในปีนี้สายการบินตั้งเป้าที่จะรักษาอัตราการบรรทุกเฉลี่ยทั้งเส้นทางบินในประเทศและต่างประเทศ เฉลี่ยอยู่ที่ 85 % โดยการนำเครื่องบินใหม่เข้าฝูงบินในปีนี้เพิ่มอีก 14 ลำ แน่นอนแล้วจะเริ่มทยอยรับมอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะเข้ามาในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ รวมจำนวน 5 ลำ
โดยเป็นเครื่องบินของสายการบินไลอ้อน แอร์ กรุ๊ป เพื่อจะนำมารุกตลาดเปิดเส้นทางบินใหม่ เพิ่มเที่ยวบินและขยายฝูงบิน ซึ่งวางเป้าปี 2568 กลับมาบิน 50% จากช่วงก่อนโควิด
ทั้งนี้สายการบินได้วางแผนเพิ่มเที่ยวบินของเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มเติมปัจจุบันสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ให้บริการ เส้นทางบินภายในประเทศ บินตรงจากดอนเมืองไปยัง จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, พิษณุโลก, อุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, ภูเก็ต, หาดใหญ่, ตรัง, นครศรีธรรมราช และมีเส้นทางบินข้ามภูมิภาคในประเทศ 2 เส้นทาง ได้แก่ อุดรธานี - หาดใหญ่ และ อู่ตะเภา – เชียงใหม่
อีกทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศ บินตรงจากดอนเมืองไปยัง เมืองจาการ์ตา, มุมไบ, สิงคโปร์, กาฐมาณฑุ, ไทเป, บังคาลอร์, โตเกียว (แวะไทเป), มาเก๊า, เฉิงตู, หางโจว, เซี่ยงไฮ้, กวางโจว, เซินเจิ้น, ซีอาน, ปีนัง, โกชิ, อาห์เมดาบัด, ฮ่องกง, อัมริตสาร์, เชนไน, กัลกัตตา, เกาสง (เริ่มบินวันที่ 21 ม.ค. 2568), และโอกินาว่า (เเวะเกาสง) (เริ่มบินวันที่ 21 ม.ค. 2568)
โดยจะเน้นเปิดเที่ยวบินใหม่เน้นเส้นทางบินในเอเชียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราไม่ได้มองการบินเป็นแค่ Point To Point (จุดบินต่อจุดบิน) เท่านั้น อีกทั้งด้วยข้อจำกัดของเครื่องบินกับระยะทางบิน สายการบินจึงเปิดบินในลักษณะจากไทยแวะ 1 จุด ก่อนเดินทางต่อไปอีกประเทศหนึ่ง อย่างในการเปิดเส้นทางบินสู่โอกินาว่า สายการบินก็จะแวะที่เกาสง ไต้หวันก่อน
อีกทั้งในเดือนมี.ค. 2568 จะกลับมาบินเส้นทางนาโกย่า แวะเกาสง เช่นกัน เพราะถ้าไม่แวะสายการบินต้องลดโหลดของเครื่องบินลง ทำให้ขายตั๋วได้ไม่เต็มลำ เราไม่อยากจะลดตรงนี้ จึงเลือกที่จะแวะเกาสงก่อน และยังสามารถรับผู้โดยสารจากเกาสง และไทเป มาใช้บริการสายการบินได้อีกด้วย
ทั้งในปลายเดือน มี.ค. 2568 จะเพิ่มความถี่เส้นทางจาการ์ตาจาก 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และกลับมาบินบาหลี 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ นอกจากนี้ไทย ไลอ้อน แอร์ ยังมองการเพิ่มเส้นทางบินเมืองรองเพิ่มขึ้น รวมถึงมองการขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศ จากจุดบินอู่ตะเภา เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เปิดทำการบินในประเทศ เส้นทางอู่ตะเภา – เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา มองไว้ในเส้นทางบินเอเชียเหนือ อย่าง ญี่ปุ่น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา
ส่วนจุดบินในจีน และอินเดียจะไม่ได้เพิ่มเส้นทางบินใหม่ เพราะไทย ไลอ้อน แอร์ มีเส้นทางบินไปมากพอแล้ว โดยจีน ทำการบิน 6 เส้นทาง ได้แก่ เฉิงตู, หางโจว, เซี่ยงไฮ้, กวางโจว, เซินเจิ้น, ซีอาน ในปี 2568 ไทยไลอ้อนแอร์ ไม่ได้เน้นตลาดจีนเป็นหลัก ไม่ได้คาดหวังจากนักท่องเที่ยวจีน ที่ผ่านมามีคนไทยไปเที่ยวจีนมากกว่าคนจีนมาไทย
ดังนั้นจึงไม่ได้เน้นจุดไหนเป็นพิเศษ และนักท่องเที่ยวจีนชะลอตัวจากเศรษฐกิจจีนเอง และรัฐบาลกลางก็สนับสนุนใหัคนจีนเที่ยวในประเทศ อย่างไรก็ดี จะขอทำการศึกษาตัวเลขตลาดให้ชัดเจนก่อนที่จะเริ่มกลับไปไปบินเพิ่มในจีน ซึ่งก่อนโควิด ไทยไลอ้อนแอร์บินไปจีนกว่า 30 เมือง รวมเครื่องเช่าเหมาลำ
เป้าหมายของการทำตลาดจีนปีนี้คือพยายามรักษาเส้นทางบินเอาไว้ ปัจจุบันมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) เฉลี่ยทุกเส้นทางประมาณ 50% โดยสัดส่วนผู้โดยสารเปลี่ยนไป จากก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน แต่ปัจจุบันเป็นชาวจีน 50% และชาวไทยเพิ่มขึ้นเป็น 50% หลังมีนโยบายยกเว้นวีซ่าถาวรระหว่างไทย-จีนเมื่อเดือน มี.ค. 2567 เป็นต้นมา
ส่วนอินเดีย ทำการบิน 7 เส้นทาง ได้แก่ มุมไบ, บังคาลอร์, โกชิ, อาห์เมดาบัด, อัมริตสาร์, เชนไน, กัลกัตตา โดยอาจจะพิจารณาเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินเมืองรองอินเดีย
การขยายเส้นทางบินของสายการบิน เรามองที่จะรักษาสัดส่วนเที่ยวบินในประเทศอยู่ที่ 60 % เส้นทางบินระหว่างประเทศ อยู่ที่ 40 % โดยปีนี้ราคาขายตั๋วเส้นทางบินในประเทศน่าจะอยู่ที่ราว 1,200-1,500 บาทต่อเส้นบินใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
ส่วนจำนวนผู้โดยสาร ในปี 2567 ไทยไลอ้อนแอร์ มีจำนวนผู้โดยสาร 6 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ย 85% ส่วนในปี 68 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ซึ่งยังต้องรอดูในช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถรับมอบเครื่องบินได้ตามเป้าหมายหรือไม่ โดยตั้งเป้า Load Factor เส้นทางระหว่างประเทศเฉลี่ย 75% ส่วนเส้นทางในประเทศเฉลี่ย 85%
ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการดำเนินธุรกิจของไทย ไลอ้อนแอร์ ในปีนี้
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,066 วันที่ 30 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568