มติ ครม.ไฟเขียว วีซ่าฟรีถาวรนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน

18 เม.ย. 2567 | 07:49 น.

ครม.ไฟเขียว วีซ่าฟรีถาวร นักท่องเที่ยวคาซัคสถาน รองนายกฯ-รัฐมนตรีต่างประเทศคาซัคสถาน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ 21-24 เมษายน 67 ลงนามความตกลง

วันนี้ (18 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

นายชัยกล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานมีกำหนดจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2567 โดยทั้งสองประเทศเห็นชอบที่จะจัดให้มีการลงนามความตกลงฯ ในวันที่ 23 เมษายน 2567 เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของทั้งสองฝ่าย

นายชัยกล่าวว่า โดยสาระสำคัญของร่างความตกลงฯ เป็นการระบุรายละเอียดและเงื่อนไขของการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างไทยและคาซัคสถาน สรุปสาะสำคัญได้ดังนี้ ข้อตกลง ผู้ถือหนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนนับจากวันที่เดินทางเข้าของรัฐภาคี (ไทยและคาซัคสถาน) จะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้า เดินทางออกจากเดินทางผ่าน และพำนักอยู่ชั่วคราวในดินแดนของรัฐภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่เดินทางเข้า

โดยระยะเวลาพำนักสะสมรวมกันจะต้องไม่เกิน 90 วันภายในแต่ละช่วงเวลา 180 วัน และในกรณีที่มีความประสงค์จะพำนักเกินกว่า 30 วัน จะต้องได้รับการตรวจลงตราตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐภาคีนั้นๆ

นายชัยกล่าวว่า ผลบังคับใช้ ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด และจะมีผลบังคับใช้ใน 30 วันหลังจากวันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้าย ผ่านช่องทางการทูตว่าได้ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายภายในที่จำเป็นต่อการบังคับความตกลงฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว 

นายชัยกล่าวว่า การจัดทำความตกลงฯ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน และเสริมสร้างศักยภาพและรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม รวมถึงเป็นการช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านอื่นๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม