ลุย 46 โปรเจ็กต์ดันไทย ฮับการบินโลก ทุ่มแสนล้านขยายสนามบินสุวรรณภูมิทิศใต้

01 มี.ค. 2567 | 02:22 น.

“เศรษฐา” ตั้งเป้าไทยฮับการบินโลก ประกาศลงทุน South Expansion สร้าง เซ้าท์ เทอร์มินัล ดันสนามบินสุวรรณภูมิ ก้าวสู่ฮับใหญ่สุดในโลก ใน 4 ปี ปูพรม 46 โครงการหนุน ยกระดับสนามบิน ทั้งชูธงไทยเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาคใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของโลก

เป้าหมายการผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวสู่การเป็น Aviation Hub ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ด้านที่นายกฯได้ประกาศวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” ยกระดับให้ไทยก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค และมุ่งเป้าพัฒนาให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก

ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุถึง แผนพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการบิน การขนส่งของภูมิภาคของประเทศไทย ว่า บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. นำโดยกระทรวงคมนาคม ขานรับนโยบายตั้งเป้าหมายศูนย์กลางการบินของโลก (Aviation hub) และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของโลก โดยจะขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นฮับที่ใหญ่ที่สุดในโลกใน 4 ปี การเพิ่มสนามบินใหม่ และยกระดับสนามบินรองให้เป็นสนามบินนานาชาติ

ประชากรที่อยู่รายล้อมประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 280 ล้านคน ที่พึ่งสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นจุดศูนย์กลางในการกระจายผู้โดยสารไปยังประเทศต่าง ๆ เราจำเป็นต้องอัพเกรด Aviation Hub ในทุกมิติ โดยสนามบินสุวรรณภูมิจะมีการสร้างอาคารผู้โดยสาร (Terminal) เพิ่ม สร้างรันเวย์เพิ่มการปรับปรุงการตรวจลงตรา (เข้าเมือง), ปรับ Landing Fee/Delay Fee การยกระดับการบริการภาคพื้นดิน การบำรุงรักษา

การทำ Private Jet Terminal & ศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งที่ผ่านมามีมหาเศรษฐีอยากจะมาเที่ยวภูเก็ต แต่เรามีที่จอดไพเวท เจ็ทไม่พอ ก็ทำให้เขาไม่มา ซึ่งก็ทำให้ไทยเสียโอกาส และสร้างระบบขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) เพื่อนำสินค้าเกษตรสดใหม่จากเกษตรกรไทย อาหารไทยปรุงสดๆ ส่งจากเมืองไทยไปทั่วโลก

“การยกระดับสนามบินไม่ใช่แค่ด้านฮาร์แวร์อย่างเดียว แต่ต้องยกระดับระบบไอที การจัดตารางการบินให้สะดวกในการต่อเครื่องบิน เพิ่มศักยภาพของสนามบินให้สายการบินทั้งไทยและต่างชาติ เข้ามาสร้างใน Homebase ในประเทศไทย ซึ่งทอท.และการบินไทย มีการทำงานร่วมกัน ในการจัดสล็อตการบิน เพิ่มผู้โดยสารทรานซิส และได้รับความร่วมมือกับฝ่ายความมั่งคง โดยจะยกระดับพื้นที่ของกองทัพอากาศ สนามกอล์ฟ ให้รัฐบาลใช้เพื่อทหารและพาณิชย์ได้ สนามบินเล็ก ใหญ่ ทั่วประเทศไทย พร้อมจะเป็นบ้านของสายการบินทั้งไทยและต่างประเทศ” นายเศรษฐากล่าวทิ้งท้าย

ไฮไลต์การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นฮับใหญ่ที่สุดในโลก ใน 4 ปี จะประกาศแผนเดินหน้าก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Expansion) ติดกับถนนบางนา-ตราด ที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ทางด้านทิศใต้ (เซ้าท์ เทอร์มินัล) มูลค่าการลงทุนราว 1.2 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างประมาณปลายปีหน้า เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 150 ล้านคนต่อปี แทนจากเดิมที่ก่อนหน้านี้ทอท.มีแผนจะขยายอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันด้านทิศเหนือก่อน โดยอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ จะรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี รวมถึงการก่อสร้างรันเวย์ 4 และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ( SAT 2)

การจะเดินหน้าสร้างSouth Expansion เป็นเพราะจะตอบโจทย์ให้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นศูนย์กลางการบิน เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของการบิน ที่จะมีการเพิ่มสล็อตบินเข้าไทยเข้าไปอีก ถ้าเราจะดันให้ถึง 150 ล้านคนต่อปี โดยไม่แออัดก็จำเป็นต้องสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพราะถ้าแค่จะขยายพื้นที่ด้านทิศเหนือของอาคารผู้โดยหลังปัจจุบัน ก็จะรองรับเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งในช่วงกลางคืนก็ไม่ช่วยเรื่องการแก้ปัญหาความแออัดของสนามบินได้มากนัก

ลุย 46 โปรเจ็กต์ดันไทย ฮับการบินโลก ทุ่มแสนล้านขยายสนามบินสุวรรณภูมิทิศใต้

ทั้งนี้การก่อสร้างเซ้าท์ เทอร์มินัล ตามแผนก็จะให้สายการบินที่ทำการบินในแบบจุดต่อจุดหรือ Point To Point ย้ายไปใช้บริการเป็นหลัก ส่วนอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน ก็จะให้สำหรับสายการบินมีที่การเชื่อมต่อเที่ยวบิน เช่น สายการบินในกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ และผลักดันให้สายการบินในกลุ่มวันเวิล์ด ไปใช้บริการที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT 1) ในอนาคต

นอกจากนี้ทอท.จะมีการเพิ่มการให้บริการในส่วนของรันเวย์ 3 ในเดือนก.ค.นี้ เพิ่มการรองรับเที่ยวบินจาก 67 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง การก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ที่จะเปิดประมูลได้ในกลางปีนี้ เพื่อให้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 2569 ซึ่งก็จะทำให้อาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว รวมถึงการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT 2)รองรับแอร์คาร์โก้ 

นอกจากการขยายการลงทุนของสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว จะมีการอัพเกรดด้านซอฟท์แวร์ เพิ่มระบบ AUTO เช็คอิน และระบบช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ เพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง โดยปัจจุบันได้รับบรรจุใหม่ 200 อัตรา และเพิ่มอีก 400 อัตรา รวมเป็น 600 อัตราในอนาคตเพื่อแก้ปัญหาสนามบินแออัด ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ 50 ล้านคน ทอท.คาดว่าในปีนี้จะมีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ กว่า 65 ล้านคน เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค ดังนั้นหน่วยงานด้านอากาศจะต้องมีโครงการเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายโครงการรองรับการเป็น Aviation Hub จำนวน 46 โครงการ โดยมีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานระยะเร่งด่วน จำนวน 8 โครงการ รวมถึงแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ และปรับปรุงท่าอากาศยานเดิมทั่วประเทศ เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เป็นต้น

การพัฒนาท่าอากาศยานระยะเร่งเด่วน จะมีทั้งการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ การลงทุนขยายสนามบินดอนเมืองเฟส 3 ขยายการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี มูลค่าการลงทุนราว 3.6 หมื่นล้านบาท การขยายสนามบินภูเก็ต เฟส 2 ลงทุน 8.3 พันล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี การขยายสนามบินเชียงใหม่ เฟส 1 ลงทุน 8 พันล้านบาท เปิดประมูลปลายปี 2567 รองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคนต่อปี การโอนย้าย 3 สนามบินภูมิภาคของทย.คือ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินกระบี่ เพื่อยกระดับสนามบินรองสู่สนามบินนานาชาติ

โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ จะประกอบไปด้วย “ท่าอากาศยานล้านนา” ที่อ.บ้านธิ จ.ลำพูน พื้นที่ 8,050 ไร่ วงเงินลงทุน 7 หมื่นล้านบาท รองรับผู้โดยสาร 21 ล้านคนต่อปี รองรับ 41 เที่ยวบิน/ชม.และ “สนามบินนานาชาติอันดามัน” พื้นที่ 7,300 ไร่ วงเงินลงทุน 8 หมื่นล้านบาท รองรับผู้โดยสารให้ได้สูงสุด 22.5 ล้านคนต่อปี รองรับ 43 เที่ยวบิน/ชม. ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน คาดว่าในกลางปีหน้าจะสามารถเริ่มกระบวนการเวนคืนที่ดิน และเปิดประมูลก่อสร้าง การดำเนินการก่อสร้างใช้เวลา 7 ปี เป็นต้น

ขณะเดียวกันทอท.ยังร่วมมือกับการบินไทย ผลักดันสนามบินสุวรรณภูมิ สู่ฮับการบินระดับชั้นนำของโลก โดยมุ่งพัฒนาเครือข่ายเส้นทาง พัฒนาประสิทธิภาพการเชื่อมต่อเที่ยวบินในมิติต่างๆ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารตารางเวลาขึ้น-ลงเที่ยวบิน การลดระยะเวลาขั้นต่ำในการต่อเครื่อง (Minimum Connecting Time) การขยายเวลาการเช็คอินล่วงหน้า การบริหารหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) การบริหารอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) และอาคารเทียบเครื่องบิน C D และ E เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารของการบินไทยและสายการบินพันธมิตรสตาร์อัลไลแอนซ์ และหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า นอกจากแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่ เพื่อสร้างเน็ตเวิร์คแล้ว ล่าสุดบริษัทยังได้หารือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT เพื่อจัดตารางการบิน (Slot) ให้สามารถเชื่อมโยงเส้นทางบินระหว่างเส้นทางการบินระหว่างประเทศและเส้นทางการบินภายในประเทศ (Network) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวใช้ระยะเวลารอต่อเครื่องให้น้อยที่สุด โดยมีเป้าหมายลดเวลาต่อเครื่องจากปัจจุบันที่มีอัตราเฉลี่ยที่ประมาณ 90 นาที ให้ลดเหลือ 60 นาทีภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินของรัฐบาล

“การจะเป็นฮับการบินในระยะสั้นจะต้องมี 3 ปัจจัยรวมกันคือ 1.ระยะเวลาต่อเครื่องน้อยที่สุด 2.การบริหารจัดการภายในอาคารผู้โดยสารให้อยู่ในโซนเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารผู้โดยสารและบริการภาคพื้น และ 3.การให้บริการภายในสนามบิน เช่น ตม.ก็ต้องมีระบบอำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่ดี ส่วนในระยะยาวจะเป็นเรื่องของการขยายสนามบินของ ทอท.” นายชาย กล่าวทิ้งท้าย