การบินไทยจัดหาฝูงบินใหม่ หนุนสร้างรายได้ 1.8 แสนล้านต่อปีจ่ายเจ้าหนี้

15 ก.พ. 2567 | 03:38 น.

สัญญาณบวก “การบินไทย” แผนฟื้นฟูฉลุย ระดมทุนเพิ่ม 8 หมื่นล้านบาทไม่เกิน 31 ธ.ค.2567 เผยในปี 2576 จะเหลือเครื่องบินปฏิบัติการบินเพียง 51 ลำ จากทยอยหมดสัญญาเช่า ต้องจัดหาเครื่องบินใหม่ตามแผนระยะยาว เพื่อสร้างรายได้ตามเป้าหมายปีละกว่า 1.8 แสนล้านบาท จ่ายเจ้าหนี้

KEY

POINTS

  • กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบินไทยมีทิศทางบวก ตามไทม์ไลน์ จะมีการแปลงหนี้เป็นทุน ออกหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 31 ธ.ค.2576
  • การบินไทย มีเครื่องบินที่จะทยอยหมดอายุตามสัญญาเช่า โดยประมาณการณ์ว่าจะเหลือเพียง 51 ลำภายในปี 2567 หากไม่มีการเพิ่มเครื่องบินเข้ามาเลย
  • การบินไทย ต้องจัดหาเครื่องบินใหม่ตามแผนระยะยาวปี 2570-2576 เพื่อเพิ่มฝูงบิน สร้างรายได้ 1.8 แสนล้านบาทต่อปี ในการดำเนินธุรกิจและจ่ายเจ้าหนี้

ล่าสุดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ถือว่ามีทิศทางบวก และเมื่อเร็วๆนี้การบินไทย ได้ลงนามในสัญญาจัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์ร่วมกับบริษัท โบอิ้ง และ บริษัท จีอี แอโรสเปซ เพื่อจัดหาเครื่องบินแบบลำตัวกว้างพิสัยกลางและไกลพร้อมเครื่องยนต์จำนวน 45 ลำ พร้อมสิทธิในการจัดหาเพิ่มเติม (Option Order) อีกจำนวนหนึ่งเพื่อนำเข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทฯตั้งแต่ปีพ.ศ. 2570 – 2576 ตามแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่จัดทำขึ้น โดยรอยเตอร์รายงานข่าวการบินไทย จองสิทธิในการจัดหาเพิ่มเติม (Option Order) จำนวน 80 ลำ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ถือว่ามีทิศทางบวก โดยตามแผนจัดหาเงินทุนให้ได้ 80,000 ล้านบาท ที่จะประกอบไปด้วย แปลงหนี้เป็นทุน แบ่งเป็น สินเชื่อใหม่ (Term Loan) 12,500 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 12,827 ล้านบาท เจ้าหนี้สถาบันเงินกู้และหุ้นกู้ 25,000 ล้านบาทดอกเบี้ยตั้งพัก 4,845 ล้านบาท และการออกหุ้นเพิ่มทุน ผู้ถือหุ้นเดิม (PPO) 25,000 ล้านบาท ตามไทม์ไลน์จะดำเนินการไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค.2567 เพื่อให้มีทุนจดทะเบียนเป็นบวก และส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

 


 

จากนั้นก็จะประชุมผู้ถือหุ้น และยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยคาดว่าศาลจะต้องรอจนกว่าจะมีการรายงานงบการเงินปี 2567 ที่กว่าจะรู้ก็น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนก.พ.68 จากนั้นศาลจึงจะพิจารณาเรื่องที่การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการจัดหาเครื่องบินใหม่ของการบินไทย ถือว่ามีความจำเป็น เนื่องจากตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยตั้งคาดการณ์การสร้างรายได้ปีละกว่า 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งต้องใช้เครื่องบิน 90 ลำ ถึงจะสร้างรายได้ที่เราคาดไว้ อันนี้ยังไม่บวกการเติบโตของธุรกิจที่ควรจะมีต้องมีด้วย

ชาย เอี่ยมศิริ

โดยหลังการบินไทยรวมกับไทยสมายล์ และเมื่อรวมกับเครื่องบินทยอยที่จะรับมอบเข้ามาใหม่ เบ็ดเสร็จภายในปลายปี 2567 การบินไทยจะมีจำนวนเครื่องบินให้บริการรวม 79 ลำ โดยเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง 59 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ ซึ่งหากเทียบกับก่อนโควิดในปี 2562 ที่มีอยู่ 103 ลำ ก็ถือว่ากำลังการผลิต(Production) ยังหายไปกว่า 20%  

อีกทั้งหากการบินไทยไม่จัดหาเครื่องบินเพิ่ม เครื่องบินที่เรามีอยู่ 79 ลำภายในปลายปีนี้ ก็จะทยอยหมดสัญญาเช่าเครื่องบินไปเรื่อยๆ เพราะเครื่องบินในฝูงบินกว่า 100% เป็นการเช่าดำเนินการ ซึ่งตามการคาดการณ์ก็จะเหลือเครื่องบินให้บริการอยู่เพียง 51 ลำภายในปี 2576 ดังนั้นหากการบินไม่มีเครื่องบินเข้ามาเพิ่ม ก็เป็นไปไม่ได้ที่สามารถหารายได้ 1.8 แสนล้านบาท เพื่อมาจ่ายเจ้าหนี้ได้

การจัดหาฝูงบินใหม่ต้องมี ไม่สามารถนำเครื่องบินที่ปลดระวางไปแล้วมาใช้ได้ ซึ่งเครื่องบินที่การบินไทยได้ปลดระวางไปจำนวนหนึ่งที่มีอายุการใช้งานยาวนาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสารเสื่อมสภาพ มีค่าซ่อมบำรุงที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี มีมูลค่าการลงทุนสูงและไม่คุ้มค่าที่จะปรับปรุงเพื่อคืนสภาพให้สามารถกลับมาปฏิบัติการ

เพราะอย่างแอร์บัส A 380 หากจะนำกลับมาใช้ต้องใช้เงินอีกกว่า 700-800 ล้านบาทต่อลำ(ไม่รวมรายการอื่นๆที่คาดไม่ได้คาดการณ์ไว้) และหากจะบินให้คุ้มต้องมีอัตราการบรรทุกเฉลี่ยทั้งปีถึง 85%  ทำให้การขายออกไปจะเหมาะสมกว่า ซึ่งปัจจุบันเครื่องบินปลดระวางที่เราขายอยู่ ไม่ว่าจะเป็น A380 จำนวน 6 ลำ ,โบอิ้ง 777-200 การบินไทยได้ผู้ซื้อแล้ว รอการเจรจาเท่านั้น

การบินไทยจัดหาฝูงบินใหม่ หนุนสร้างรายได้ 1.8 แสนล้านต่อปีจ่ายเจ้าหนี้

การจัดหาเครื่องบินใหม่ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมา การบินไทย ได้จัดหาแล้วจำนวน 21 ลำ ได้แก่ แอร์บัส A 321 นีโอ จำนวน 10 ลำ ที่จะรับมอบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2568 เป็นต้นไป และ แอร์บัส A 350-900 จำนวน 11 ลำที่ทยอยรับมอบเข้ามาแล้ว เหลืออีก 4 ลำที่ทยอยจะเข้ามา โดยการจัดหาในล็อตนี้ทั้งหมดเป็นการเช่าดำเนินการ  

ส่วนการจัดหาเครื่องบินตามแผนระยะยาวที่กำลังจะเกิดขึ้น การบินไทยได้พิจารณาข้อเสนอจากทั้งโบอิ้งและแอร์บัส และเปรียบเทียบต้นทุนที่ดีที่สุด ซึ่งไม่ใช่แค่เครื่องบิน ต้องดูสัญญาการซ่อมเครื่องยนต์ด้วย เพื่อนำเข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทฯตั้งแต่ปีพ.ศ. 2570 – 2576 ตามแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่จัดทำขึ้น  ซึ่งการจัดหาเครื่องบินใหม่เราต้องรีบ

เพราะในขณะนี้สล็อตการผลิตเครื่องบินหากสั่งวันนี้กว่าจะส่งมอบต้องใช้เวลาอีก 3 ปี หรือในปี 2570 เป็นต้นไป ซึ่งการจัดหาเครื่องบินตามแผนระยะยาวในครั้งนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ Firm Order  และ Option Order ที่ต้องแจ้งล่วงหน้า 3 ปีก่อนรับเครื่อง (จองสิทธิ์ในอนาคต) การจัดหาเครื่องบินใหม่ในครั้งนี้การบินไทยจะต้องพิจารณาแล้วว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะของการบินไทย      

การบินไทยไม่ได้ซื้อเครื่องบิน เพราะเราคงไม่ได้มีเงินเป็นแสนๆล้านบาทไปจ่าย แต่เป็นการสั่งจองและจ่ายมัดจำไว้จำนวนหนึ่งเท่านั้น  ส่วนจะจัดหาโดยวิธีเช่าดำเนินการ (Operation Lease) หรือ สัญญาเช่าทางการเงิน ( Financial Lease) หรือเช่าซื้อ ก็จะเป็นการตัดสินใจในอนาคต ที่ต้องพิจารณาสถานะการเงินของบริษัทเป็นสำคัญ ซึ่งเป้าหมายในการจัดหาเครื่องบินใหม่

เรามองที่การนำเพื่อสร้างรายได้เป็นสำคัญ เพื่อชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ การพิจารณาความเหมาะสมของเครื่องบิน เราพิจารณาเอง ไม่มีอิทธิพลจากภายนอกเข้ามาแทรกแซงแน่นอน และการบินไทยก็ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้ว สิ่งที่เราทำต้องทำให้การบินไทยเติบโตอย่างยั่งยืน 

นายชาย ยังกล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจของการบิน ณ วันนี้ ถือว่าดีกว่าแผนฟื้นฟู โดยล่าสุด การบินไทย เพิ่งจะโอนเครื่องบินแอร์บัส A 320 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบจากฝูงบินเดิมของไทยสมายล์ครบทั้ง 20 ลำเมื่อเดือนม.ค.2567 โดยการควบรวมที่เกิดขึ้น

การบินไทยจัดหาฝูงบินใหม่ หนุนสร้างรายได้ 1.8 แสนล้านต่อปีจ่ายเจ้าหนี้

ทำให้การบินไทยนำเครื่องบินมารวมกัน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารฝูงบินลำตัวแคบ และลำตัวกว้าง ให้มีความยืดหยุ่นในการให้บริการได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบินไทยสามารถเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารกับการต่อเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในเส้นทางโดเมสติกและริจินัล รู้ท ที่แอร์บัสเอ 320 บินอยู่

ปัจจุบันการบินไทยใช้ A 320 บินในประเทศ 8 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น กระบี่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ เส้นทางในประเทศกลุ่ม CLMV ได้แก่ พนมเปญ เสียมราฐ เวียงจันทน์ ย่างกุ้ง โฮจิมินห์ ฮานอย รวมถึงประเทศอื่นๆที่สำคัญในภูมิภาค ได้แก่ ปีนัง กาฐมาณฑุ โคลัมโบ เกาสง และศรีลังกา ที่จะเริ่มให้บริการในวันที่ 31 มี.ค.นี้

ทั้งยังมีแผนจะนำเครื่องบิน A 320 มาเปิดบินไปยังฮ่องกง ไทเป สิงคโปร์ มะนิลา ธากา และเมืองต่างๆในอินเดีย อาทิ นิวเดลี อาห์เมดาบัด คยา มุมไบ กัลกัตตา และโกชิ ที่จะเริ่มให้บริการ 2 เม.ย.นี้เป็นต้นไป รวมถึงภายในเดือนพ.ย.นี้จะมีการปรับเปลี่ยนเก้าอี้ในชั้นอีโคโนมีพลัส ให้เป็นชั้นธุรกิจหรือรอยัลซิลค์ และการติดตั้ง Wireless IFE เพื่อให้บริการสาระบันเทิงบนเครื่องบิน

ทั้งนี้แม้จะเพิ่งโอนเครื่องบิน A 320 เข้ามาครบทั้ง 20 ลำ ซึ่งนำไปใช้ปฏิบัติการบิน 17 ลำ และอยู่ระหว่างเปลี่ยนสีจำนวน 3 ลำ แต่หลังการทยอยนำเครื่องบินรุ่นนี้เข้ามาเสริมฝูงบินทำให้การบินไทยมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นายชาย กล่าวทิ้งท้าย