ดันเชียงใหม่ ท็อป 100 ของโลก การแข่งขันอุตสาหกรรมไมซ์

29 ม.ค. 2567 | 09:39 น.

หน่วยทีเอ็มยู มทร. ล้านนา พัฒนาจัดเก็บข้อมูลงานประชุมนานาชาติของไมซ์ซิตี้ เสริมศักยภาพ การแข่งขันในอุตสาหกรรมไมซ์ระดับโลก หวังเชียงใหม่อยู่ใน ท็อป 100 ของโลก

หน่วยวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ (TMU) ศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาชีพและเทคโนโลยี คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดกิจกรรมเผยแพร่และถ่ายทอดนวัตกรรม Thailand Top Convention (TTC) ภายใต้โครงการการพัฒนากลไกการจัดเก็บและรายงานข้อมูลการจัดประชุมนานาชาติของไมซ์ชิตี้ เข้าสู่สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ICCA)

นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในเรื่องของการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ถือว่าเป็นการนำรายได้สู่ธุรกิจการท่องเที่ยวมาก ในปี 2566 ที่ผ่านมามีรายได้ กว่า 100,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่สำคัญมากและมีโอกาสที่จะเติบโตมากยิ่งๆขึ้นในอนาคต เพราะว่าหลังจากที่ผ่านสถานการณ์โควิดมา ตัวเลขรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดประชุมและการทำธุรกิจ MICE มีแนวโน้มที่สูงขึ้น 

รองผู้ว่าฯเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า รัฐบาลรวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์เป็นอย่างมาก เพราะเชียงใหม่เป็น 1 ใน 10 ของเมืองที่ได้รับการคัดเลือกจากประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติของโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองไมซ์ซิตี้ (MICE City) จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ขอนแก่น สงขลา นครราชสีมา พิษณุโลก อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองไมซ์ที่มีศักยภาพและได้รับความนิยมในการจัดประชุมนานาชาติ

ดันเชียงใหม่ ท็อป 100  ของโลก การแข่งขันอุตสาหกรรมไมซ์

ที่ผ่านมาจากสถิติเชียงใหม่มีการจัดประชุมระดับนานาชาติที่มีการบันทึกข้อมูลจำนวน 9 งานเท่านั้น แต่จริงๆแล้วการจัดประชุมนานาชาติมีมากกว่านั้น บางเดือนมีมาก 2-3 งาน เพราะฉะนั้นถ้านับดูแล้ว การจัดประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมตั้งแต่ 200-1,000 คน น่าจะมากกว่าที่มีการบันทึก ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวทำให้ลำดับของประเทศไทยโดยเฉพาะลำดับของจังหวัดเชียงใหม่อยู่แค่ลำดับที่ 202  แต่ถ้าเอาตัวเลขขึ้นมากำหนดในการวัดเชื่อว่าตัวเลขการจัดลำดับตัวที่เป็นจุดหมายปลายทางด้านการจัดประชุมนานาชาติของจังหวัดเชียงใหม่น่าจะเพิ่มขึ้น
 

ทั้งนี้สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (International Congress and Convention Association: ICCA) ได้ประกาศ 2022 Country & City Rankings หรือเมืองจุดหมายปลายทางการประชุมนานาชาติ ปี 2022 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก มีงานประชุม 81 งาน ในปี 2019 โดยประเทศไทยมี 4 เมืองไมซ์ซิตี้ที่ถูกจัดอันดับจุดหมายปลายทางการจัดงานประชุมนานาชาติ ได้แก่

กรุงเทพฯ จำนวน 50 งาน อยู่อันดับที่ 32 ของโลก, เชียงใหม่ จำนวน 9 งาน อันดับที่ 202 ของโลก ,ภูเก็ต จำนวน 8 งาน อันดับที่ 223 และพัทยา จำนวน 7 งาน อันดับที่ 256 ของโลก ซึ่งเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางการจัดประชุมนานาชาติอันดับโลกขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 202 จากอันดับ 267 และคาดว่าจะมีอันดับดีขึ้นในรายงานของปีนี้

นายอนาวิน สุวรรณะ

นายอนาวิน สุวรรณะ ประธานหน่วยวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ (TMU)คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า จากรายงานผลจากการจัดอันดับ ICCA Rankings 2022 พบว่าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค เอเชียแปซิฟิกแล้วประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการประชุมนานาชาติในลำดับที่ 7 จาก 18 ประเทศ ด้วยจำนวนงานประชุมนานาชาติ 81 งาน

ในส่วนของเมืองไมซ์ซิตี้นั้น กรุงเทพมหานครอยู่ใน ลำดับที่ 4 ,เชียงใหม่อยู่ในลำดับที่ 28 ,ภูเก็ตอยู่ในลำดับที่ 35 และพัทยาอยู่ในลำดับที่ 46 จากทั้งสิ้น 67 เมือง หากเมืองไมซ์ซิตี้และประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นใน ICCA Rankings 2023 จะ เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมไมซ์ระดับโลก นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและ การสร้างรายได้มหาศาลในตลาดมูลค่าสูง 

ดังนั้น หน่วยทีเอ็มยู มทร. ล้านนา ร่วมกับ ทีเส็บ จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม TTC ขึ้นมา เพื่อรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลการจัดประชุมนานาชาติของประเทศไทย รวมถึงเพิ่มอันดับประเทศและ เมืองปลายทางการจัดประชุมนานาชาติในการจัดอันดับประจำปีของ ICCA Country and City Rankings ซึ่งการติดอันดับของไมซ์ซิตี้และประเทศไทย ช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดผ่านการมองเห็น ในข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของทั้ง ICCA และสื่อมวลชนทั่วโลก รวมถึงเพิ่มโอกาสทาง ธุรกิจจากความน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้น

นายอนาวิน กล่าวอีกว่า จากการระบาดของโควิด เราเริ่มเก็บข้อมูลอีกครั้งในปี 2022  จังหวัดเชียงใหม่ เคยขึ้นไปอันดับสูงสุดคืออันดับ 110 เมื่อปี 2018  หลังจากนั้นอันดับก็ขยับลงมา แต่ปีล่าสุดในระดับประเทศ ประเทศไทยมีจำนวน 81 งาน ซึ่งเคยมีเกือบ 200 งาน อยู่อันดับที่ 32 ของโลก เคยขยับขึ้นไปถึงอันดับที่ 24 ของโลก และอยู่ในอันดับ 7 ของเอเชีย ถ้าดูไมซ์ซิตี้ทั้ง 10 เมือง ติดอันดับแค่ 4 เมือง คือ กรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ตและพัทยา ซึ่งเชียงใหม่อยู่อันดับ 2 มาโดยตลอดเป็นรองแค่กรุงเทพมหานคร 

อีกทั้งยังมีเมืองไมซ์ อีก 6 เมืองที่ยังมีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น สงขลา ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี  สุราษฎร์ธานี  และพิษณุโลก แค่เชียงใหม่ มีแค่ 9 งาน เมื่อปี 2022  เชียงใหม่อยู่อันดับที่ 202  อันนี้คือขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 267  และปีนี้เพิ่งเริ่มต้น ทราบข้อมูลจากทีเส็บว่า ปัจจุบันนี้เชียงใหม่มีประมาณ 20 งานแล้ว ถ้าดูจากนี้ตำแหน่งนี้น่าจะขยับขึ้นมาที่ 100 กว่า และในอนาคตคาดหวังว่าเชียงใหม่อยู่ใน ท็อป 100  ของโลก จากเมืองต่างๆทั่วโลกประมาณเกือบ 500 เมือง

นางวารุณี คำเมรุ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมดวงตะวัน เชียงใหม่ กล่าวว่า ตลาดประชุมสัมมนา ในช่วงไฮน์ซีซั่นนี้เฉลี่ยเดือนละ 30 งานแต่ เป็นงานประชุมสัมมนา ขนาดกรุ๊ปไม่เหมือนสมัยก่อน ซึ่งมีกรุ๊ปประชุม 200 คน หรือ 300 คน ตอนนี้เหลือขนาดกรุ๊ปละ 40 คน หรือ 80 คน แต่ถ้ากรุ๊ป 100 คน จะเป็นงานของ อบต. อย่างเดียว เช่น สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นงานประชุมของ อบต. ปทุมธานี มีผู้เข้าร่วมประชุมถึง 280 คน
    
ปัจจุบันโรงแรมเปิดให้บริการทุกส่วนแล้ว หัองพักเปิดทั้งหมด 512 ห้อง และห้องประชุมเปิดบริการทั้งหมด ห้องประชุมมีทั้งหมด 12 ห้อง ทุกห้องได้มาตรฐาน TMVS ตราสัญลักษณ์ที่ใช้รับรองมาตรฐานของสถานที่จัดงานประเทศไทย ซึ่ง ส่วนใหญ่งานประชุมสัมมนา 70% เป็นคนไทย ต่างชาติมีบ้าง แต่ที่เขาเก็บสถิติเฉพาะต่างชาติ คือต่างชาติไม่ใช่ต่างชาติอย่างเดียว ต่างชาติแล้วต้องเป็นแนวมิตติ้งคือมีประชุมทุก 2 ปี หรือ ทุก 3 ปี เขาถึงจะเก็บสถิติ ทั้งนี้สัดส่วนรายได้ของโรงแรม เป็นห้องพักประมาณ 60% อาหารเครื่องดื่ม  35% สัมมนา 10%  อีก 5% อื่นๆ 

สถานการณ์โรงแรม เฉลี่ยทั้งปีอัตราเข้าพัก คาดหวัง 65% เพราะHigh Season ยอดจอง เกิน 65% แล้ว อย่างเดือนมกราคม 80%  เดือนหน้ากุมภาพันธ์ประมาณ 75-80% ส่วนช่วง Low Season ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่ดูภาพรวมๆดีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ ถ้าสม่ำเสมอแบบนี้ไปยาวๆน่าจะกลับมาเร็ว 

ตลาดประชุมสัมมนาแนวโน้มเป็นตลาดที่ ยังมีอยู่ คือได้ครบวงจรของโรงแรม ถ้าพักอย่างเดียวเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม ไม่ได้ แต่ถ้ามีประชุมสัมมนา ได้ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และได้ห้องพัก คาดหวังว่าเฉพาะงานประชุมสัมมนาไม่รวมห้องพัก ตั้งเป้ารายได้ปี 2567  เป็นเงิน 160 ล้านบาท