ปิดตำนาน 11 ปี สายการบินไทยสมายล์ ให้บริการวันสุดท้าย 31 ธ.ค.นี้

01 ธ.ค. 2566 | 02:35 น.

ปิดตำนาน 11 ปี สายการบินไทยสมายล์ ประกาศให้บริการวันสุดท้าย 31 ธันวาคม 2566 นี้ ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจการบินของการบินไทย ที่ยุบไทยสมายล์ ทยอยโอนเครื่องบินแอร์บัสเอ320 จำนวน 20 ลำ พร้อมกลับมาเปิดบินแทน 9 เส้นทางบินในประเทศภายใต้เที่ยวบิน TG อีกครั้ง

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าสายการบินไทยสมายล์ (Thai Smile) จะเปิดให้บริการในวันที่ 31 ธันวาคม 2666 เป็นวันสุดท้าย ปิดตำนาน 11 ปี สายการบินรอยยิ้มคู่ฟ้า ซึ่งเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจการบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ที่ได้ทยอยโอนเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำของไทยสมายล์มารวมอยู่ในฝูงบินของการบินไทย

สายการบินไทยสมายล์

โดย ไทยสมายล์ ได้ประกาศแจ้งผู้โดยสารถึงการเปลี่ยนแปลงการสำรองที่นั่งและบริการต่างๆ ของไทยสมายล์ ที่จะเริ่มถูกโอนย้ายไปยังการบินไทย ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.66 เป็นต้นไป ขณะที่เว็บไซต์สายการบินไทยสมายล์ (คลิ๊ก) จะให้บริการถึงวันที่ 15 ธ.ค. 66

สำหรับห้องจำหน่ายบัตรโดยสารไทยสมายล์ (Smile Service Center) และศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Smile Contact Center) จะให้บริการถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 
โดยผู้โดยสารสามารถติดต่อขอรับบริการได้โดยตรงที่การบินไทย

ทั้งนี้สายการบินไทยสมายล์จะทำการบินวันสุดท้ายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยตามตารางบิน เที่ยวบินขาออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ คือ เที่ยวบิน WE 267 เส้นทางบินกรุงเทพฯ - หาดใหญ่ เที่ยวบิน WE 136 เส้นทางบินกรุงเทพฯ - เชียงราย เที่ยวบิน WE 249 กรุงเทพ - กระบี่ และเที่ยวบินสุดท้ายที่ให้บริการจากสนามบินสุวรรณภูมิ คือ เที่ยวบิน WE46 เส้นทางบินกรุงเทพฯ-ขอนแก่น เวลา 19:40 – 20:40 น. 

 

 

ส่วนเที่ยวบินขาเข้า ได้แก่ เที่ยวบิน WE 137 กรุงเทพฯ - เชียงราย เที่ยวบิน 250 กรุงเทพ - กระบี่ เที่ยวบิน WE47 ขอนแก่น - กรุงเทพ และเที่ยวบิน WE268 เส้นทางบินหาดใหญ่ - กรุงเทพฯ เวลา 20:45 - 22:20 น. ซึ่งจะเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของสายการบินไทยสมายล์

สายการบินไทยสมายล์

ทั้งนี้หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เครื่องบิน การให้บริการ และเส้นทางบินของสายการบินไทยสมายล์ทั้งหมดจำนวน 20 ลำก็จะถูกโอนย้ายไปยังการบินไทย หลังจากก่อนหน้านี้ทยอยโอนมาแล้วบางส่วน ซึ่งกระบวนการควบรวมสายการบินทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567

ล่าสุดการบินไทยได้ประกาศจะให้บริการเส้นทางภายในประเทศ  แทนที่ไทยสมายล์แล้ว ซึ่งในตารางบินฤดูหนาว 2566 (เริ่มวันที่ 29 ตุลาคม 2566 – 30 มีนาคม 2567) การบินไทยจะทำการบินเส้นทางบินในประเทศ 9 เส้นทาง ภายใต้รหัสเที่ยวบิน TG ได้แก่

  • เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 35 เที่ยวบิน 
  • เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 56 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 ธันวาคม 2566) 
  • เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุดรธานี ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 ธันวาคม 2566)

เครื่องบินแอร์บัสเอ 320 ของไทยสมายล์ ที่โอนมาเป็นของการบินไทย

  • เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงราย ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
  • เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ขอนแก่น ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 28 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
  • เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
  • เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-กระบี่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
  • เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 21 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)
  • เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นราธิวาส ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน (เริ่มทำการบิน 1 มกราคม 2567)

การบินไทยกลับมาบิน 9 เส้นทางบินในประเทศแทนไทยสมายล์

ดังนั้นในช่วงนี้สายการบินไทยสมายล์ก็จะทยอยหยุดบินเส้นทางบินในประเทศให้สอดรับกับแผนที่การบินไทยจะเข้ามาเปิดบินแทน อย่างเมื่อวานนี้(วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566)ไทยสมายล์ได้เปิดบินเส้นทางบินภูเก็ต ,เส้นทางบินอุดรธานี เป็นเที่ยวบินสุดท้าย เพื่อที่การบินไทยจะเข้ามาทำการบินแทนในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 และท้ายที่สุดสายการบินไทยสมายล์จะทำการบินในเส้นทางที่เหลือเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และหยุดดำเนินธุรกิจเต็มตัวในวันที่ 1มกราคม 2567

ทั้งนี้กว่า 11 ปีที่ผ่านมาสายการบินไทยสมายล์ ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (ไทยสมายล์) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 17 ต.ค.2556 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 99.99% ซึ่งเป็นสายการบินลูกที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศในเส้นทางบินระยะสั้น 

สายการบินไทยสมายล์เกิดขึ้นในสมัย 'ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์' เป็น DD การบินไทย ครม.มีนโยบายให้สร้างความชัดเจนระหว่าง Full Service Carriers และ Low Cost Carriers แต่เมื่อสายการบินเปิดให้บริการ ในช่วงหลังก็ปรับตำแหน่งทางการตลาดเป็นสายการบินสไตล์ Light Premium ที่มีสีสันความสดใส 

ขณะที่ผลการดำเนินงานของไทยสมายล์ นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2556 ถึง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีผลการขาดทุนสะสมต่อเนื่องรวม 20,012 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 18,166 ล้านบาท และมีความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไปหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากการบินไทย

ไทยสมายล์

การบินไทยจึงโอนพนักงานของสายการบินไทยสมายล์ ที่มีอยู่ราว 800 คน เข้ามาเป็นพนักงานของการบินไทย โดยการโอนย้ายที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อโครงสร้างค่าตอบแทน สภาพการจ้าง และอายุงานของพนักงานแต่อย่างใด

รวมถึงโอนสิทธิบริหารฝูงบิน 20 ลำ การบินไทยจะต้องดำเนินการแจ้งไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT และกระทรวงคมนาคม ซึ่งเมื่อโอนเครื่องบินทั้งหมดกลับมาที่การบินไทยแล้ว ก็ต้องยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการการเดินอากาศ (AOL) ซึ่งจะส่งผลให้รหัสการบินภายใต้โค้ด WE ของสายการบินไทยสมายล์สิ้นสุดลง ประกอบกับใบอนุญาตของไทยสมายล์ก็มีกำหนดหมดอายุในเดือนมกราคม 2567 ด้วยเช่นกัน

หลังการปรับโครงสร้างดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราการใช้งานเครื่องบิน A 320 เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นจาก 8.92 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 11.28 ชั่วโมงต่อวัน ภายในปี 2568

ขณะที่อัตราการใช้งานเครื่องบินในฝูงบินของการบินไทยรวมทุกแบบอากาศยานจะปรับตัวสูงขึ้นจาก 11.18 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 11.52 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วง 6 เดือนแรก และปรับตัวสูงขึ้นเป็น 12.76 ชั่วโมงต่อวัน ภายในปี 2568 และมีผลตอบแทนจากการจำหน่ายบัตรโดยสารต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจาก 2.23 บาทเป็น 2.27 บาทส่งผลให้การบินไทยมีผลประกอบการในภาพรวมช่วงปี 2566-2568 ปรับตัวสูงขึ้น 

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการปรับโครงสร้างดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ทั้งของการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งขั้นตอนการโอนเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำ มารวมเป็นฝูงบินของการบินไทย จะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2567

ชาย เอี่ยมศิริ

สาเหตุหลักที่การบินไทยยุบสายการบินไทยสมายล์

1.เป็นการใช้ทรัพย์สินอย่างมีมูลค่ามากขึ้น

2.ทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับเวนเดอร์ ในการซื้อบริการต่างๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้น เพราะขนาดธุรกิจของไทยสมายล์ คิดเห็น 10% ของการบินไทย การปรับโครงสร้างนี้ก็จะทำใหมีการใช้ซัพพลายต่างๆใช้ร่วมกันได้ 

3. แก้ปัญหาการขาดทุนของไทยสมายล์ ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทย และไทยสมายล์ ถือใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศAir Operator Certificate หรือ AOC คนละบริษัท ทำให้การบินไปบางประเทศทำไม่ได้ เพราะมีเรื่องของสิทธิการบิน และไทม์สล็อตที่ไม่สามารถโอนข้ามกันได้

ส่งผลให้ไทยสมายล์มีการใช้งานเครื่องบินไม่ถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูง ขณะที่การบินไทยใช้เครื่องบิน(Aircraft Utilization) อยู่ที่ 12-13 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นถ้าแบ่งเครื่องบินลำตัวแคบของไทยสมายล์มาให้การบินไทยใช้ทำการบิน การใช้ประโยชน์ของเครื่องบินต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ชั่วโมงกว่า ซึ่งสูงกว่าอยู่ที่ไทยสมายล์ 2 ชั่วโมงกว่าต่อวัน

ทำให้ต้นทุนต่อชั่วโมงลดลง 20 % แค่นี้ผลประกอบการ ที่ใช้เครื่องบินเอ 320 ก็จะดีขึ้นแล้ว เพราะการบินไทยมีไทม์สล็อต สามารถนำเครื่องบินที่จะรวมเข้ามา เพื่อนำมาใช้บินในตอนกลางคืนได้

อีกทั้งยังทำให้การบินไทยมีฝูงบินเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ จากปัจจุบันที่การบินไทยมีเฉพาะเครื่องบินลำตัวกว้างที่ให้บริการได้เพียง 45 ลำ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารเส้นทางบินให้เชื่อมต่อกัน บริหารเวลาการบินและสิทธิการบินในเส้นทางการบินต่างๆเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการจำหน่ายบัตรโดยสารในรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายเที่ยวบิน ( Network Sale) และเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านการบริหารจัดการต้นทุน