“พาที สารสิน’” ทุ่มพันล้านเปิดสายการบินใหม่ ธุรกิจการบิน 1.3 แสนล้านเดือด

04 ส.ค. 2566 | 03:17 น.

ธุรกิจการบิน 1.3 แสนล้านเดือด “พาที สารสิน” คว้าใบอนุญาตประกอบกิจการ “Really Cool Airlines” หลังจับมือกลุ่มเพื่อนนักธุรกิจดังทุ่ม 1,000 ล้าน ตั้งสายการบินใหม่ พร้อมลุยเปิดให้บริการไตรมาส 2 ปีหน้า เน้นจุดขาย ไลฟ์สไตล์ ฟูลเซอร์วิส

การจัดตั้งสายการบินใหม่ Really Cool Airlines ของ “พาที สารสิน” ที่หวนกลับสู่ธุรกิจการบินอีกครั้งในวัย 60 ปี หลังจากได้ลาออกจากซีอีโอสายการบินนกแอร์มาตั้งแต่ปี 2560 และหันไปทำบริษัทแพลตฟอร์มด้านท่องเที่ยว Really Cool ของตัวเองอยู่หลายปี ล่าสุดสายการบิน Really Cool Airlines (เรียลลี คูล แอร์ไลนส์)ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating Licence) หรือ AOL จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือกพท.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate) หรือ AOC เพื่อให้สามารถปฏิบัติการบินได้ต่อไป

นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน Really Cool Airlines เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้สายการบินได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ หรือ AOL เรียบร้อยแล้ว เหลือขั้นตอนการออก AOC จาก CAAT ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนธันวาคมนี้

พาที สารสิน

โดยสายการบินจะอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท อาร์ ซี แอร์ไลนส์ จำกัด ที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไปเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2566 ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยมีบริษัท เรียลลีคูลโฮลดิ้ง ถือหุ้น 100%

ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นของสายการบินจะเป็นคนไทยทั้งหมด โดยตนถือหุ้นใหญ่ ส่วนที่เหลือเป็นเพื่อนที่รู้จักกันจากหลายวงการ ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่เคยทำธุรกิจการบินมาก่อน อาทิ “ธนัช ปวรวิปุลยากร” ทำธุรกิจเกี่ยวกับท่อน้ำมัน, “มาส ตันหยงมาศ” กรรมการ บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS

ผู้ถือหุ้น สายการบิน Really Cool Airlines

ทั้งนี้แต่ละคนมีความรู้ในแต่ละด้านที่มาแชร์ไอเดียร่วมกัน และมองเห็นเป้าหมายร่วมกันว่าสายการบินจะสามารถดึงเม็ดเงินภาคการท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ และมีแพสชันที่จะสร้างธุรกิจที่เป็น “นวัตกรรม” ของอุตสาหกรรมการบิน

การลงทุนสายการบินจะใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท โดยสายการบินจะเช่าเครื่องบินแอร์บัส A330 ซึ่งเหมาะกับการบินพิสัยกลางถึงไกลจำนวน 3 ลำ จุผู้โดยสารได้กว่า 300 คน เพื่อนำมาใช้ทำการบิน คาดว่าจะเริ่มทำการบินได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า เส้นทางบินจะเริ่มต้นในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ โตเกียว(ญี่ปุ่น) ฮ่องกง และไต้หวัน และจะเพิ่มเส้นทางยุโรปในปี 2568 โดยกลุ่มเป้าหมายกว่า 70% จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนอีก 30% เป็นผู้โดยสารคนไทย

เรียลลี คูล แอร์ไลนส์

“การกลับมาดำเนินธุรกิจสายการบินอีกครั้ง ผมมั่นใจว่ารูปแบบการทำธุรกิจจะไม่เหมือนเดิม เพราะ Really Cool Airlines เป็นสายการบิน “ไลฟ์สไตล์ ฟูลเซอร์วิส” อยู่กึ่งกลางระหว่างโลว์คอสต์กับพรีเมียม เน้นการให้บริการที่ล้ำสมัย ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีจากต่างชาติเข้ามาให้บริการ เพื่อสร้างความแตกต่าง”

นายพาที กล่าวอีกว่า ล่าสุดสายการบินก็เพิ่งจะเปิดตัวโปรแกรม ReallyCool US Digital Membership เป็นโปรแกรมสมาชิกดิจิตอลแรกของโลกในอุตสาหกรรมการบิน ที่ใช้แอปพลิเคชันแบบอินเทอร์แอคทีฟ โดยสมาชิกเลือกประสบการณ์การเดินทางของตนได้ตามต้องการ ซึ่งจะมีการเปิดขายสมาชิกกลุ่มแรกจำนวน 999 คนทั่วโลก ในราคา 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้บริการสายการบินมูลค่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ

อาทิ ฟรี 2 การเดินทางไป-กลับในชั้นโดยสาร Super Cool (เทียบเท่ากับที่นั่งชั้นธุรกิจของสายการบินทั่วไป) ไม่มีวันหมดอายุ บัตรส่วนลด 50% 2 ใบต่อปีทุกปีตลอดชีพ เมื่อซื้อที่นั่งชั้น Super Cool อัปเกรดที่นั่ง Super Cool ฟรี เมื่อซื้อที่นั่งแบบ Cool Seats (ชั้นประหยัดไป-กลับ 2 ใบต่อปี) ตลอดชีพและ Surprise Drops จากพันธมิตรของสายการบิน ซึ่งจะรวมถึงห้องพักโรงแรมฟรี บริการรถรับส่งสนามบิน เป็นต้น โดยโปรแกรม ReallyCool US Digital Membership จะเริ่มขายในอีก 2-3 เดือนนี้ ซึ่งจากสิทธิประโยชน์ที่ดีตอนนี้คนก็สนใจจองโปรแกรมนี้ค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตามสำหรับความท้าทายของอุตสาหกรรมการบิน ยอมรับว่า ยังมีปัจจัยความเสี่ยงจากสถานการณ์โรคระบาด ความไม่แน่นอนของสงครามยูเครน-รัสเซีย สถาบันการเงินบางประเทศที่ล้ม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินมีความเสี่ยง เราจึงต้องวางแผนให้ดี เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ป้องกันให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด เน้นความปลอดภัยผู้โดยสารเป็นหลัก โดยเป้าหมายในระยะยาว ไม่ได้เน้นที่จำนวนเครื่องบิน เพราะต้องดูว่าตลาดต้องการอะไร แต่ยืนยันว่าจะเน้นผู้โดยสารเป็นสำคัญโดยเฉพาะความปลอดภัยในระดับสากล

“มองว่าอุตสาหกรรมการบินยังมีปัญหาเรื่องสายการบิน สนามบิน ตารางการบินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด จึงมองว่าในระยะ 2-3 ปีนี้ อุตสาหกรรมการบินจะยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิดได้ เราไม่ได้คาดหวังว่าเราจะเป็นสายการบินที่ดีที่สุดของวงการ แต่เราจะเป็นสายการบินที่มีนวัตกรรมก้าวหน้ามากที่สุด” นายพาที กล่าว

“พาที สารสิน’” ทุ่มพันล้านเปิดสายการบินใหม่ ธุรกิจการบิน 1.3 แสนล้านเดือด

สำหรับรายละเอียดการถือหุ้นของ บริษัท อาร์ ซี แอร์ไลนส์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจสายการบินภายใต้แบรนด์ “Really Cool Airlines” ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 คือ บริษัท เรียลลีคูลโฮลดิ้ง จำกัด สัดส่วน 100% จำนวน 199,998 หุ้น, นายธนัช ปวรวิปุลยากร และนายพาที สารสิน ถือคนละ 1 หุ้น บริษัทมีกรรมการ 3 คน คือ นายพาที สารสิน นายธนัช ปวรวิปุลยากร และนายมาส ตันหยงมาศ

ส่วนบริษัท เรียลลีคูลโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น100% ในบริษัท อาร์ ซี แอร์ไลนส์ จำกัด มีนายพาที สารสิน ถือหุ้น 57% จำนวน 114,000 หุ้น, บริษัท รัชตะธรรม จำกัด ถือหุ้น 27% จำนวน 54,000 หุ้น, นายธนัช ปวรวิปุลยากร ถือหุ้น 15% จำนวน 30,000 หุ้น นายมาส ตันหยงมาศ ถือหุ้น 1% จำนวน 2,000 หุ้น มีกรรมการ 3 คน คือ นายพาที สารสิน, นายธนัช ปวรวิปุลยากร และนายมาส ตันหยงมาศ

สำหรับอุตสาหกรรมธุรกิจการบินสัญชาติไทยมีมูลค่าประมาณ 3.2 แสนล้านบาท แต่จากโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจหดตัว โดยในปี 2565 พบว่ามีมูลค่าราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าอุตสาหกรรมโดยรวมในปี 2562 และในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยธุรกิจสายการบินรายใหญ่ของไทยจะมีทั้งสายการบินแบบเช่าเหมาลำ และสายการบินที่ทำการบินแบบประจำ

โดยมีจำนวน 7 สายการบินที่เป็นสายการบินรายใหญ่ที่ทำการบินแบบประจำที่ครองส่วนแบ่งในตลาด ได้แก่ การบินไทย, นกแอร์,ไทยสมายล์, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทย เวียตเจ็ท, ไทยไลอ้อนแอร์,ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งการเข้าขึ้นของ Really Cool Airlines ก็จะต้องเผชิญกับคู่แข่งเหล่านี้

ทั้งนี้นอกจาก Really Cool Airlines ยังมีสายการบินใหม่ที่อยู่ระหว่างขอไลเซ้นท์เพื่อจัดตั้งสายการบิน อาทิ P 80 แอร์ ของนายประยุทธ มหากิจศิริ สายการบินแลนดาร์ช แอร์ไลน์ ที่อยู่ระหว่างพิจารณา