“การบินไทย” จัดหาเครื่องบินใหม่ 51 ลำ ดันธุรกิจผงาดอีกครั้ง

10 มิ.ย. 2566 | 02:14 น.

การบินไทยผงาดลุยจัดหาเครื่องบินใหม่ 51 ลำ ควบรวมไทยสมายล์ ขยายฝูงบิน ดันธุรกิจขยายตัว มุ่งเป้าเพิ่มจำนวนเครื่องบินจาก 65 ลำเป็น 113 ลำในปี 2570 ทั้งเดินหน้าขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทั้งเครื่องบินปลดระวาง สำนักงานทั้งใน-ต่างประเทศ ลดภาระต้นทุน

การดำเนินธุรกิจของ “การบินไทย” ปรับตัวในทิศทางบวกต่อเนื่อง นับจากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ปี 2563 ล่าสุดการบินไทยอยู่ระหว่างวางแผนจัดหาฝูงบินใหม่เพิ่มอีก 51 ลำ เพื่อเพิ่มจำนวนเครื่องบินที่ใช้งานจากปัจจุบันอยู่ที่ 65 ลำ เป็น 113 ลำ ภายในปี 2570 รองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต และทดแทนเครื่องบินเก่าที่ต้องปลดระวาง

ทั้งนี้ด้วยเครื่องบินที่มีการใช้งานในปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 65 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ 45 ลำที่การบินไทยใช้ทำการบิน และอีก 20 ลำให้สายการบินไทยสมายล์เช่าดำเนินการ

ทำให้ในขณะนี้เมื่ออุตสาหกรรมการบินโลกฟื้นตัว การบินไทยจึงไม่มีเครื่องบินเพียงพอ ที่จะนำมาใช้ เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ การจัดหาฝูงบินใหม่ และการควบรวมกิจการของไทยสมายล์ ที่ตั้งเป้าจะดำเนินการแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ จะทำให้การบินไทยสามารถนำเครื่องบินมาใช้ในการขยายธุรกิจได้เพิ่มขึ้น

การเริ่มจัดหาฝูงบินใหม่ จัดว่าเป็นสเต็ปต่อไปในการขยายธุรกิจการบินให้กลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้ง หลังจากผลการดำเนินงานของการบินไทยฟื้นตัวดีต่อเนื่อง โดยในปี2564 มีกำไรสุทธิ 55,390 ล้านบาท หลักๆเป็นกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และขายทรัพย์สิน แต่หลังจากสถานการณ์การบินโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้การบินไทย เริ่มกลับมามีผลกำไรจากการดำเนินงาน ทำให้ในปี 2565 การบินไทย ขาดทุนสุทธิ 272 ล้านบาท และในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1.25 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันมีกระแสเงินในมือกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท และทยอยใช้หนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้การบินไทย จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PPO ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งจะทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก กลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ภายในไตรมาส 4 ปี 2567และออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ก่อนปี 2568 เร็วกว่าแผนที่วางไว้

การบินไทยกางแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 51 ลำ 

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การบินไทยอยู่ระหว่างเตรียมแผนจัดหาฝูงบินใหม่ในช่วง 4 ปีนี้ (ปี2566-2569) รวมกว่า 51 ลำ แบ่งเป็น

1.แอร์บัส A321 neo จำนวน 10 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ ในลักษณะการเช่าดำเนินการ เริ่มทยอยรับมอบในปี2568

2.แอร์บัส A350-900 จำนวน 11 ลำ ในลักษณะเช่าดำเนินการ เริ่มทยอยเข้ามาในปีนี้ 4 ลำ ซึ่งจะช่วยให้สายการบินเพิ่มขีดความสามารถได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเที่ยวบินระยะไกลไปยังยุโรป

3. การจัดหาเครื่องบินลำตัวกว้าง 30 ลำ ซึ่งกำลังรอข้อเสนอจากทั้งโบอิ้งและแอร์บัส ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นรุ่นใด

ชาย เอี่ยมศิริ

การจัดหาเครื่องบินลำตัวกว้างทั้ง 30 ลำนี้เป็นแผนการจัดหาเครื่องบินระยะยาว ซึ่งการบินไทยก็หวังว่าจะเริ่มทยอยรับมอบได้ภายในปี 2569 หรือ 2570 เป็นต้นไป และขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้วิธีเช่าดำเนินการหรือเช่าซื้อ

เนื่องจากต้องดูข้อเสนอของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน และผู้ให้เช่าเครื่องบินด้วย เพื่อพิจารณาว่าการจัดหาเครื่องบินจะใช้วิธีแบบใดจึงจะเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของบริษัท ซึ่งการดำเนินธุรกิจการบินจริงๆในฝูงบินควรต้องผสมกันระหว่างการเช่าดำเนินการ และการเช่าซื้อ

เพราะการเช่าดำเนินงาน ยกตัวอย่างง่ายๆก็เหมือนการเช่ารถ ที่ผู้ให้เช่าก็ต้องบวกค่าดำเนินการ ขณะที่เช่าซื้อ ก็ไปจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาเช่าซื้อ ผ่านลิสซิ่ง ท้ายสุดเครื่องบินก็เป็นของสายการบิน โดยรวมต้นทุนก็จะถูกกว่า ซึ่งเราก็ต้องเร่งพิจารณาหาข้อสรุป เพราะการจัดหาเครื่องบินกว่าจะได้ต้องใช้เวลาเป็นปี

ยิ่งในสภาวะตลาดการบินทั่วโลกฟื้นตัวหลังโควิดแบบนี้ การหาเครื่องบินยิ่งยากมาก เพราะสายการบินต่างๆก็ต้องการขยายฝูงบิน และต้องการเครื่องบินรุ่นใหม่ที่ประหยัดน้ำมันกว่า ลดปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงสำหรับเครื่องบินเก่า และการขาดแคลนแรงงานทำให้การผลิตก็ต้องใช้เวลานานกว่าเดิม

มุ่งเป้าเพิ่มจำนวนเครื่องบินเป็น 113 ลำในปี 2570

นายชาย กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้การบินไทยมีเครื่องบิน 103 ลำ หลายลำเป็นเครื่องบินเก่าต้องปลดระวาง การให้สายการบินไทยสมายล์เช่าเครื่องบินแอร์บัสเอ 320-200 จำนวน 20 ลำ ทำให้การบินไทยมีเครื่องบินลำตัวกว้าง ที่ใช้ดำเนินการได้เพียง 45 ลำเท่านั้นในฝูงบิน ถือว่าน้อยมาก

ปีนี้การบินไทยจะรับรอบเครื่องบินแอร์บัสเอ 350 เข้ามาได้ 4 ลำเท่านั้น ถ้าไม่มีการเพิ่มเครื่องบิน การบินไทยจะโตตามสภาพตลาดทั่วไป ที่จะน้อยกว่าสายการบินอื่น ถ้าการบินไทยไม่โตเลย ยังบินด้วย 45 ลำเหมือนเดิม จะไปแข่งขันกับสายการบินอื่นได้อย่างไร

นอกจากการจัดหาฝูงบินใหม่แล้ว การบินไทยได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องบินแอร์บัสเอ 320-200 ของไทยสมายล์ เข้ามาอยู่ในฝูงบินของการบินไทย จำนวน 4 ลำ เพื่อนำมาใช้บินในเส้นทางอินเดีย และอินโดนีเซีย การบินไทยตั้งเป้าว่าจะควบรวมสายการบินไทยสมายล์ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ก็จะทำให้นำเครื่องบินที่ให้ไทยสมายล์เช่าทั้งหมด 20 ลำ กลับมาดำเนินการโดยการบินไทยได้ทั้งหมด

ดังนั้นเมื่อรวมกับการ เพิ่มฝูงบินใหม่ ก็จะทำให้การบินไทยมีเครื่องบินเป็น 113 ลำในปี 2570 ก็จะทำให้ธุรกิจของการเติบโต และทำให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นโฮมเบสของสายการบินของไทย สามารถแข่งขันได้กับสายการบินต่างชาติที่อยากเข้ามาเปิดบินในไทย

แผนการจัดหาเครื่องบินของการบินไทย

สำหรับสถานการณ์ในการดำเนินธุรกิจของการบินไทยในปีนี้ พบว่าจากการฟื้นตัวของปริมาณการเดินทางทั่วโลก ส่งผลบวกต่อรายได้ กำไร และจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยเติบโตต่อเนื่อง

โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้การบินไทยจะมีรายได้รวมประมาณ 1.3 - 1.4 แสนล้านบาท มีผู้โดยสารราว 9 ล้านคน และมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) เฉลี่ยในระดับ 77-78% หลังจากนั้นจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 1.5 - 1.6 แสนล้านบาท มีผู้โดยสาร 12 ล้านคน และมีเคบิ้นแฟกเตอร์เฉลี่ย 80%

เดินหน้าขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

ขณะที่การขายทรัพย์สิน ณ ปัจจุบันไม่ใช่การขายเพื่อสร้างกระแสเงินสดเหมือนในอดีต แต่เป็นการขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น และเป็นทรัพย์สินที่ไม่สนับสนุนธุรกิจการบินและไม่ได้ใช้ประโยชน์ หากเก็บไว้จะภาระในเรื่องต้นทุนการดูแลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็ยังมีสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างกระบวนการขายหลายรายการ

อาทิ เครื่องบินที่ต้องปลดระวาง 12 ลำ คือ โบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ และแอร์บัส เอ 380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินที่ซื้อขายแล้วรอส่งมอบ โบอิ้ง 747 จำนวน 10 ลำ แอร์บัสเอ 340 จำนวน 9 ลำ เครื่องบินที่อยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขาย โบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ

ส่วนสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ระหว่างประกาศขาย ได้แก่ สำนักงานขาย จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานขาย จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานขาย กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรบ้านพักพนักงาน ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร สำนักงานขาย ณ ปีนัง มาเลเซีย สำนักงานขาย ณ ฮ่องกง