เปิดเบื้องลึกทัวร์จีนอลหม่าน ขอวีซ่าเข้าไทยไม่ลื่น

23 พ.ค. 2566 | 03:18 น.

การที่บริษัททัวร์จีนออกมาโวยวายถึงความยุ่งยากในการขอวีซ่าเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจีนผ่านสถานทูตและสถานกงสุลไทยในจีน แม้กต.จะออกมาชี้แจงว่าไม่ได้มีการกำหนดมาตรการการตรวจลงตราใหม่หรือเพิ่มเติมใดๆทั้งสิ้น แต่ปัญหาคือ กต.พูดไม่หมด

จากกรณีที่บริษัททัวร์จีนออกมาโวยวาย ถึงเรื่องการขอวีซ่าเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจีน ผ่านสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในจีน ที่มีความยุ่งยาก จากการกำหนดมาตรการเพิ่มเติม จนกระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ต้องออกมาชี้แจงว่าไม่ได้มีการกำหนดมาตรการการตรวจลงตราใหม่หรือเพิ่มเติมใดๆทั้งสิ้น ซึ่งก็จริงตามที่กต.ชี้แจง แต่ปัญหาคือ กต.พูดไม่หมด

จริงอยู่ที่กต.นำร่องการเปิดให้บริการ “e-Visa” ให้นักท่องเที่ยวจากบางประเทศ อาทิ อินเดีย เยอรมัน รวมถึงจีนสามารถยื่นขอรับการตรวจลงตราผ่านระบบออนไลน์ได้ 7 วัน ใน 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องเดินทางมายังสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ ซึ่งเริ่มใช้มา 2 ปีแล้ว

เปิดเบื้องลึกทัวร์จีนอลหม่าน ขอวีซ่าเข้าไทยไม่ลื่น

แต่ปัญหาคือ วิธีการยื่นขอ e-Visa ที่แท้จริงแล้วมีความยุ่งยากในการกรอกเอกสารผ่านระบบออนไลน์เป็นอย่างมาก และไม่ได้เป็น e-Visa จริง โดยกระบวนการขอ e-Visa ของนักท่องเที่ยวจีน ผ่านสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในจีน ที่มีอยู่ 9 แห่ง จะมีค่าธรรมเนียมวีซ่าอยู่ที่ 240 หยวนต่อคน ซึ่งคนจีนที่จะขอวีซ่าเข้าไทย จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางด้วยตัวเอง (FIT) จะต้องเข้าไปกรอกแบบฟอร์มการขอวีซ่า เป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาด้านภาษาของนักท่องเที่ยวจีนบางคน อีกทั้งการกรอกเอกสารทั้งหมดยังมีมากถึง 45 หน้า  มีตั้งแต่ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่จอง ไปจนถึงประวัติอาชญากรรม ถ้ากรอกไม่หมดก็ไม่ผ่าน

 

รวมถึงยังต้องสแกนเอกสารต่างๆที่กรอกทั้งหมดรวมกว่า 45-48 หน้า และหน้าพาสปอร์ต และหากเป็นพาสปอร์ตเล่มใหม่ที่ยังไม่ถึงปี จะต้องเอาพาสปอร์ตเล่มเก่ามาสแกนให้ครบทุกหน้าด้วย  จากนั้นถ้ากระบวนการกรอกผ่านแล้วนักท่องเที่ยวจะต้องส่งพาสปอร์ตและปริ้นซ์เอกสารที่กรอกไว้ 48 หน้าใส่ซองส่งไปยังสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ จึงจะได้วีซ่า  การต้องปริ้นซ์เอกสารมากมาย หลายคนก็ตั้งคำถามว่าจะเป็น e-Visa ได้อย่างไร

กลุ่มที่ 2 นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ ที่ผ่านมาเคยถูกได้รับการผ่อนผันให้บริษัททัวร์เป็นคนยื่นเอกสารขอ e-Visa ให้นักท่องเที่ยว  กรุ๊ปทัวร์ 1 กรุ๊ป ก็จะมายื่นเอกสารชุดใหญ่ทีเดียวได้ ทำให้ที่ผ่านมาทัวร์ก็จะระบุว่าทุกคนพักที่เดียวกัน เพื่อความสะดวก แต่นับจากวันที่ 8 พ.ค.2566 นักท่องเที่ยวจีนทุกคนจะต้องยื่นขอวีซ่าแบบเดี่ยว (รายบุคคล)

ดังนั้นหากมี 100 คน ก็ต้องมีเอกสารแยกเป็นรายบุคคล 100 ชุด ชุดละ 45-48 หน้า ที่ต้องกรอกเหมือนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางด้วยตัวเอง ทำให้บริษัททัวร์เองจึงรู้สึกว่ามีความยุ่งยาก ต่างจากการเดินทางเข้าญี่ปุ่นที่ไม่ได้กรอกอะไรเลย ทั้งค่าธรรมเนียมวีซ่า ยังถูกกว่าไทย

คนจีนขอวีซ่าเข้าญี่ปุ่นอยู่ที่ 150 หยวน และสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในจีน ในแต่ละเมืองก็ให้บริษัททัวร์เป็นตัวแทนในการขอวีซ่าที่แตกต่างกัน จำนวนการยื่นในแต่ละวันก็ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น ปักกิ่ง มี 15 บริษัท ยื่นได้วันละไม่เกิน 90 คน เซี้ยงไฮ้ 10 บริษัท ยื่นได้วันละ 100 คน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการให้ยื่นเอกสารแยกเป็นรายบุคคล ในเชิงลึกก็สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการสกรีนระดับหนึ่ง  เนื่องจากไทยมีปัญหาเรื่องจีนสีเทา บริษัทนำเที่ยวจะต้องขึ้นทะเบียนกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งรวมถึงการผ่านกระบวนการคัดกรองของทางการจีนแล้ว ดังนั้นการบาลานซ์เรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวและความมั่นคงของชาติ การเข้มข้นในการตรวจคัดกรองก่อนเข้าประเทศ ก็เป็นเรื่องสำคัญ

แต่ที่เป็นประเด็นคือ ระบบ e-Visa ที่ไม่มีความเสถียร เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์อยู่ในไทย ดังนั้นหลังจากจีนกลับมาเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้เพียง 3 เดือน ความต้องการในการเดินทางเข้าไทยก็เริ่มขยับขึ้น จากช่วงโควิดในแต่ละวันมีคนเข้ามาขอหลักร้อยคน

แต่วันนี้มีคนจีนเดินทางเข้าไทยราว 1 หมื่นคนต่อวัน ทำให้ระบบมีปัญหา กรอกๆอยู่ใกล้เสร็จก็เด้งกลับ ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความไม่สะดวก เช่นเดียวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในจีนก็มีน้อยมาก ไม่เพียงพอกับการตรวจเอกสารจำนวนมาก

ดังนั้นหากมีการปรับระบบให้เสถียรขึ้น และเพิ่มบุคคลากร หรือหาเอ้าท์ซอร์ทเข้ามาช่วย ก็จะช่วยลดความยุ่งยากลงได้ระดับหนึ่ง  ซึ่งนักท่องเที่ยวในบางประเทศ ก็อาจไม่รู้สึกว่าการยื่นขอ e-Visa เป็นปัญหา เพราะอย่างการขอ e-Visa เข้าไทยของนักท่องเที่ยวอินเดีย ก็จะเป็นการให้บริษัทเอ้าท์ซอร์ทเข้ามาทำ หรือในบางประเทศ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษในกรอกเอกสารผ่านระบบ และไม่ได้มีนักท่องเที่ยวมายื่นคนวีซ่าต่อวันมากมายเหมือนนักท่องเที่ยว

หรือคนจีนบางคนที่มีกำลังซื้อหน่อย ก็อาจจะเลือกขอวีซ่าหน้าด่าน (VISA ON ARRIVAL : VOA ) ที่สนามบินของไทย มีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 2 พันบาท ยอมจ่ายแพงขึ้น เพื่อตัดปัญหาความยุ่งยากในของ e-Visa

ทั้งนี้ก่อนโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทย 11 ล้านคน ในปี 2565 มีจำนวน 2.4 แสนคน และในปีนี้ ตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย. 2566 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 843,910 คน เฉลี่ยเดือนละ 1-1.2 หมื่นคนต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 30-40% ของช่วงก่อนเกิดโควิด  ทะลุเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)วางไว้ก่อนหน้านี้ว่า 3 เดือนแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยอยู่ที่ 3 แสนคน

เปิดเบื้องลึกทัวร์จีนอลหม่าน ขอวีซ่าเข้าไทยไม่ลื่น

โดยรูปแบบการเดินทางเปลี่ยนไปจากในอดีตส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาเที่ยวแบบกรุ๊ปเล็กๆ 8-10 คน ไม่ได้ซื้อทัวร์เข้ามา แต่จะซื้อบริการในแบบมีผู้อำนวยความสะดวกในการแนะนำ หรือพาไปเที่ยวในจุดที่นักท่องเที่ยวต้องการ หรือจองบริการต่างๆให้  ดังนั้นทัวร์ศูนย์เหรียญจะไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนในอดีต

หลังโควิดนักท่องเที่ยวจีนยังจะไม่ได้กลับมามากมายได้เหมือนอดีต เพราะปัญหาของเศรษฐกิจจีนเองที่มีปัญหา เพราะการปิดประเทศในหลายปีที่ผ่านมาจากโควิด ทำให้ธุรกิจในจีนปิดกิจการไปมากมาย และคนตกงานเป็นจำนวนมาก คนที่เดินทางมาเที่ยวก็จะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และไทยก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวจีนในวันแรงงานที่ผ่านมา  ตามมาด้วยญี่ปุ่น และมาเลเซีย

จากแนวโน้มดังกล่าวธุรกิจทัวร์อาจจะไม่ได้กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว แต่คนจีน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ยังคงเดินทางเข้าไทยต่อเนื่อง รวมถึงจำนวนเที่ยวบินที่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มว่าในปีนี้นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางมาเที่ยวไทยได้ตามเป้าหมาย 5 ล้านคน แต่หากไทยแก้ปัญหาเรื่องวีซ่าได้เร็ว ก็จะยิ่งทำให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยได้มากกว่า 5 ล้านคน