จับตาเอ็มดีใหม่ AOT เครื่องร้อน ลุยเมกะโปรเจ็กต์ 1.3 แสนล้าน

27 ม.ค. 2566 | 12:06 น.

จับตา 'เมกะโปรเจ็กต์' ทอท. 1.3 แสนล้านบาท ภายใต้การขับเคลื่อนของ 'กีรติ กิจมานะวัฒน์' เอ็มดีคนใหม่ หลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเดือนพฤษภาคมนี้ 

การรับตำแหน่งของ “กีรติ กิจมานะวัฒน์ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.คนใหม่ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมนี้ แทนนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ที่จะหมดวาระในวันที่ 24 เมษายน 2566

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ด้วยความที่นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ นั่งคุมงานด้านวิศวกรรม ในฐานะรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้างของทอท.มาตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2563 ดังนั้น ชัดเจนว่าการบริหารงานของนายกีรติ ในช่วง 4 ปีข้างหน้านี้หลังรับตำแหน่ง จึงต้องโฟกัสไปที่ แผนขยายสนามบินของทอท. ซึ่งมีแผนการลงทุนที่ต้องดำเนินการชัดเจนแล้ว มูลค่าการลงทุนร่วม 1.3 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บอร์ดทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การบอร์ดทอท.มีมติแต่งตั้งนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ทอท.คนที่ 14 เนื่องจากนายกีรติ มีคะแนนนำผู้สมัครอีก 3 ราย ซึ่งได้ 95 คะแนนจาก 100 คะแนน ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอขึ้นมา หลังมีการแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ผู้สมัครทั้ง 4 คน

ขณะที่ผู้สมัครอีก 3 รายก็ได้คะแนนลดหลั่นกันไป โดย

  • นางฉฎาณิศา ชำนาญเวช รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้ 91 คะแนน
  • นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ 88 คะแนน
  • และนายพรประสิทธิ์ เด่นโมฬี อดีตผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ บริษัท บีเอ็มดับบลิว (ไทยแลนด์) ได้ 86 คะแนน

ประกอบกับที่ผ่านมาบอร์ดทอท.เห็นชอบตามคะแนนดังกล่าว และมองเห็นว่านายกีรติ ครบเครื่องทั้งเรื่องคอนเนคชั่นกับระดับบิ๊กของกระทรวงคมนาคม เพราะมีความคืบหน้าในการพัฒนาต่างๆตามนโยบาย ของกระทรวงคมนาคม อาทิ การรีไวซ์ (ปรับ) แผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ที่อยู่ระหว่างจ้างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ศึกษาการปรับแผนแม่บท

การเตรียมแผนเรื่องการรับบริหาร 3 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ ที่อยู่ระหว่างขอความเห็นเพิ่มเติม เพื่อเสนอครม.อีกครั้ง

 

อีกทั้งบอร์ดยังเห็นว่า ที่ผ่านมานายกีรติ มีผลงานในสายวิศวกรรมและการก่อสร้าง ที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาต่างๆ อาทิ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT 1) สนามบินสุวรรณภูมิ จนดำเนินการได้ต่อเนื่องแม้จะเกิดโควิด-19

รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการพัฒนาสนามบิน เพื่อรองรับการกลับมาฟื้นตัวของผู้โดยสาร ซึ่งบอร์ดทอท.ก็ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการใหญ่ทอท.คนใหม่เข้ามาเร่งรัดแผนการรองรับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากบอร์ดทอท.ยังกล่าวว่า นายกีรติ ได้แสดงวิสัยทัศน์หลัก ๆไว้ว่าจะเน้นการพัฒนาศักยภาพของสนามบิน ระยะเร่งด่วนจะเน้นแก้ปัญหาคอขวดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนามบิน รวมไปถึงการขยายสนามบิน เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ แผนการขยายการลงทุนของทอท.ร่วม 1.28-1.3 แสนล้านบาท ที่มีแผนชัดเจนแล้ว หลักๆจะเป็นการพัฒนา 4 สนามบินหลักของทอท.ได้แก่

  • แผนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ 6 หมื่นล้านบาท
  • แผนขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 รวม 3.6 หมื่นล้านบาท
  • แผนขยายสนามบินภูเก็ต เฟส 2 ลงทุน 6.2 พันล้านบาท และ
  • แผนขยายสนามบินเชียงใหม่ เฟส 1 ลงทุน 1.5 หมื่นล้านบาท

การแก้ปัญหาคอขวดในสนามบินจุดหลักจะอยู่ที่ “สนามบินสุวรรณภูมิ” เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เริ่มฟื้นตัวเข้าไทยต่อเนื่อง โดยเน้นการแก้ปัญหา pain point ต่างๆที่สร้างความไม่สะดวกแก่ผู้โดยสารในการใช้บริการสนามบิน เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้ 65-70 ล้านคนต่อปี และการสร้างโซลาร์เซลล์ในสนามบิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

สนามบินสุวรรณภูมิ

จากนั้น ก็จะเร่งรัดการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก(East Expansion) ซึ่งทำได้ทันทีหลังปรับแบบเล็กน้อยให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน เนื่องจากงบลงทุนของทอท.ราว 8 พันล้านบาทได้รับการอนุมัติจากครม.แล้ว

รวมถึงการลงทุนส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันตก (West Expansion) และส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศเหนือ(North Expansion) เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการในส่วนของอาคารผู้โดยสาร ก็จะดำเนินการเป็นสเต็ปต่อไป

การลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ สูงสุดด้วยศักยภาพที่ทำได้ 4 รันเวย์ การรองรับผู้โดยสารของสนามบินสูงสุดจึงอยู่ที่ 120 ล้านคนต่อปีเท่านั้น ดังนั้น การรองรับที่สูงกว่านี้ในทางวิศวกรรมเป็นไปได้ยาก

หากทอท.ขยายอาคารด้านตะวันออก ตะวันตก และ อาคารด้านทิศเหนือ ลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาทก็ถือว่าเพียงพอต่อการรองรับ ไม่จำเป็นต้องไปขยายสนามบินด้านทิศใต้ เส้นทางที่ติดกับถนนบางนาตราด ที่ต้องลงทุนเพิ่มอีกร่วม 1 แสนล้านบาท

ดังนั้นทอท.ก็มองว่าสามารถนำพื้นที่ด้านทิศใต้มาพัฒนาเป็นพื้นที่สำหรับการลงทุนด้านแอร์โรว์ โลจิสติกพาร์ค และแอร์คาร์โก้ได้ เพื่อเติมเต็มสล็อตการบินเข้าสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงเที่ยงคืนถึงตี 5

ทั้งนี้แผนการลงทุนต้องรอผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิฉบับใหม่ จาก ICAO เนื่องจากบริบทการบินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จากในอดีตที่การบินจะเน้นเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างแอร์บัสเอ 380 รองรับผู้โดยสาร 700 คน แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว

ส่วน แผนขยาย “สนามบินดอนเมืองเฟส 3” ด้วยศักยภาพของรันเวย์ที่รองรับการขึ้น-ลงได้ 1 รันเวย์ครึ่ง การรองรับได้สูงสุดของสนามบินอยู่ที่ 50 ล้านคนต่อปี ทอท.อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ เนื่องจากครม.เห็นชอบโครงการแล้ว ซึ่งหลักๆ จะเป็นการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ส่วนอาคารผู้โดยสารในประเทศก็จะรวมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศ

เช่นเดียวกับ แผนขยายสนามบินภูเก็ต ที่หลังจากทอท.เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เปิดไปก็เต็มแล้ว ทอท.ก็ต้องขยายต่อในเฟส 2 พื้นที่ 73,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ประกอบด้วย

  1.  งานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International)
  2. งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานรองรับอากาศยาน Code E จำนวน 3 หลุมจอด และลานจอดอุปกรณ์ภาคพื้นที่ (Ground Support Equipment)
  3. งานปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค รองรับผู้โดยสาร และแผนขยายสนามบินเชียงใหม่ เฟส 1 ที่จะสร้างเทอร์มินัล 2 เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

ส่วนสนามบินที่ทอท.จะรับเพิ่มเข้ามาบริหารอีก 3 แห่ง อย่างสนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งทอท.ก็จะใช้งบอีกราว 9,199-10,471 ล้านบาทในการพัฒนาศักยภาพของสนามบิน

แผนพัฒนา 3 สนามบินภูมิภาคที่ทอท.จะเข้ามาบริหารจัดการแทนทย.

โดยแบ่งเป็นแผนพัฒนาสนามบินอุดรธานี 3,523 ล้านบาท แผนพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์กรอบวงเงินลงทุน 460 ล้านบาท รวมถึง แผนพัฒนาสนามบินกระบี่ ที่การลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี

กรณีที่ 1 สนามบินพังงา เปิดให้บริการปี 2574 ลงทุน 1,049.40 ล้านบาท เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาระยะสั้นที่ทย.ดำเนินการไว้ โดยทอท.จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่รองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปี

กรณีที่ 2 สนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการ ลงทุน2,679.60 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปี เนื่องจากการรับบริหารสนามบินกระบี่ ทำให้ทอท.อยู่ระหว่างศึกษาโดยอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่พังงา