ชงครม.วันนี้ขยาย"สนามบินดอนเมือง" เฟส 3 ลงทุน 3.68 หมื่นล้าน

28 พ.ย. 2565 | 18:00 น.

คมนาคมชงครม.วันนี้ขยาย "สนามบินดอนเมือง" เฟส 3 ลงทุน 3.68 หมื่นล้านบาท ทอท.เร่งประมูลก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ปลายปี 66 รองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคนต่อปี เสร็จสมบูรณ์ปี 72

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (วันที่ 29 พ.ย. 2565)กระทรวงคมนาคม จะเสนอครม.เพื่อพิจารณาโครงการขยาย "สนามบินดอนเมือง" เฟส 3 

สนามบินดอนเมือง เฟส 3 ลงทุน 3.68 หมื่นล้าน

 

แหล่งข่าวจากทอท.เผยว่าแผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวม 36,829.499 ล้านบาท โดยขั้นตอนหลังจาก ครม.อนุมัติ ทอท.จะเร่งดำเนินการออกแบบรายละเอียดประมาณ 1 ปี คาดว่าจะเริ่มประมูลก่อสร้างงานอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ก่อนภายในปลายปี 2566 โดยจะก่อสร้างเสร็จในปี 2569 โดยแผนงานพัฒนาดอนเมืองระยะที่ 3 มีระยะเวลาก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 7 ปี (2566-2572)

 

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวม 36,829.499 ล้านบาท (รวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง 10% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 921.6 ล้านบาท)

 

ขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 ลงทุน 6 กลุ่มงาน

 

สนามบินดอนเมือง เฟส 3 ประกอบด้วยการลงทุนใน 6 กลุ่มงาน ได้แก่

 

1. กลุ่มงานพัฒนาด้านใต้ วงเงินลงทุนรวม 15,076.996 ล้านบาท ประกอบด้วย

 

  • งานปรับปรุงระบบถนนภายใน 1,298.315 ล้านบาท

 

  • งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 วงเงิน 11,976.84 ล้านบาท

 

  • งานปรับปรุงอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้น เป็นชานชาลาจอดรับส่งผู้โดยสาร วงเงิน 16.995 ล้านบาท

 

  • งานปรับปรุงคลังสินค้าหมายเลข 1 และ 2 วงเงิน 314.134 ล้านบาท

 

  • งานก่อสร้างกลุ่มอาคารบำรุงรักษา และพื้นที่พักขยะ วงเงิน 255.446 ล้านบาท

 

  • งานก่อสร้างระบบระบายน้ำ วงเงิน 1,071.066 ล้านบาท, งานก่อสร้างอาคารดับเพลิงและกู้ภัย วงเงิน 144.20 ล้านบาท

2. กลุ่มงานพัฒนาพื้นที่ด้านทิศเหนือ วงเงินลงทุนรวม 7,532.975 ล้านบาท ประกอบด้วย 

 

  • งานปรับปรุงระบบถนนภายใน 483.842 ล้านบาท

 

  • งานปรับปรุงหลุมจอดอากาศยาน วงเงิน 139.332 ล้านบาท

 

  • งานก่อสร้างขยายอาคารเทียบเครื่องบิน วงเงิน 902.624 ล้านบาท

 

  • งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์พนักงาน วงเงิน 803.40 ล้านบาท, งานก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษ VVIP วงเงิน 173.36 ล้านบาท

 

  • งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน วงเงิน 420.132 ล้านบาท

 

  • งานก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบิน วงเงิน 560.032 ล้านบาท

 

  • งานปรับปรุงอาคารส่วนกลาง วงเงิน 239 ล้านบาท

 

  • งานก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างอาคารสนามบินดอนเมืองกับสำนักงานใหญ่ ทอท. วงเงิน 3,811.253 ล้านบาท

 

3. กลุ่มงานพื้นที่ลานจอดอากาศยาน วงเงินลงทุนรวม 3,655.479 ล้านบาท ประกอบด้วย 

 

  • งานก่อสร้าง Rapid Exit Taxiway บริเวณทางวิ่ง 21L/03R และ Exit Taxiway เชื่อมต่อทางขับสาย B และ C วงเงิน 192.019 ล้านบาท

 

  • งานปรับปรุงพื้นที่ด้านทิศใต้เพื่อรองรับกิจกรรมการบิน และก่อสร้างลานจอดอากาศยาน และอาคารผู้โดยสาร GA วงเงิน 391.665 ล้านบาท

 

  • งานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน ด้านทิศเหนือ พร้อมทางขับเชื่อม ปรับปรุงลานจอดภายใน และปรับปรุงพื้นที่ด้านทิศเหนือเป็นเขตการบิน วงเงิน 3,071.795 ล้านบาท

 

4. กลุ่มงานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านเหนือ และอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 2-4 วงเงิน 6,801.269 ล้านบาท

 

5. กลุ่มงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 1,137.495 ล้านบาท

 

6. กลุ่มงานสิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษา วงเงิน 25.493 ล้านบาท


ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง (รันเวย์) ขีดความสามารถรองรับได้ 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยปริมาณผู้โดยสารปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด) มีจำนวน 41.3 ล้านคน ซึ่งเกิดขีดความสามารถ

 

โดยในปี 2675 ผู้โดยสารเริ่มฟื้นตัวมาอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านคน คาดการณ์ว่าปี 2566 จะเพิ่มเป็น 30 ล้านคน และปี 2567 เพิ่มกลับไปเท่าปี 2562

 

การพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนต่อปี แต่สามารถบริหารจัดการได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1

 

เมื่อแล้วเสร็จจะปรับเปลี่ยนการใช้งานอาคารหลังที่ 3 (มีพื้นที่ 166,000 ตร.ม. ขีดความสามารถ 18 ล้านคนต่อปี) รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ส่วนอาคารหลังที่ 1 และ 2 รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ (มีพื้นที่รวม 240,000 ตร.ม. ขีดความสามารถ 22 ล้านคนต่อปี) และเพิ่มพื้นที่จอดรถรองรับได้ประมาณ 10,000 คัน

 

ทั้งนี้การลงทุนพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 3 จะส่งผลต่อฐานะการเงิน ทอท.ที่จะขาดสภาพคล่องในปี 2568 ประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่ง ทอท.มีแผนการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องรองรับแล้ว

 

นอกจากนี้ในพื้นที่สนามบินดอนเมืองจะมีแผนโครงการก่อสร้างอาคาร JUNCTION BUILDING ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ว่างที่เชื่อมระหว่างอาคารในประเทศ (อาคาร 2) และอาคารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเอกชนสามารถนำเสนอแผนพัฒนา เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม ที่จอดรถ เป็นต้น