นักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียพุ่ง10 เท่าตัว

04 พ.ย. 2565 | 18:00 น.

สานสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯหนุนนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย เที่ยวไทยปีนี้ทะลุ 7.6 หมื่นคนแล้ว สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แอตต้ามั่นใจโตเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 เท่าตัว หลังจากอั้นมานานกว่า 32 ปี ทั้งเปิดวิสัยทัศน์ 2573 ซาอุฯตั้งเป้าท่องเที่ยวสร้าง GDP ให้ประเทศ 10%

การฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียสำเร็จ ส่งผลเชิงบวกอย่างมากต่อการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวของไทย หลังจาก 32 ปีที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย ไม่อนุญาตให้พลเรือนเดินทางมายังประเทศไทยสำหรับการท่องเที่ยว แต่อนุญาตให้เดินทางเฉพาะเพื่อการรักษาพยาบาล การติดต่อเจรจาธุรกิจ/ราชการเท่านั้น

การเลิกแบนประเทศไทย ทำให้เกิดการกลับมาเปิดเที่ยวบินตรงเข้าไทย ทั้งโดยสายการบิน Saudi Arabian Airlines และการบินไทย ช่วยสร้างโอกาสทางการค้า และการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาไทยไม่มีเส้นทางบินตรงจากซาอุดีอาระเบียเข้าไทย การเดินทางมาไทยจะต้องบินจากกรุงริยาดหรือเมืองเจ็ดดาห์แวะเปลี่ยนเครื่องด้วยสายการบินเอมิเรสต์ (ดูไบ) หรือสายการบินเอธิฮัด (กรุงอาบูดาบี) หรือ กาตาร์ แอร์เวย์ส (กรุงโดฮา) ใช้เวลา 6 ชั่วโมงกว่า

 

ในแง่ของการท่องเที่ยว ด้วยความที่ไทยตลาดซาอุดีอาระเบีย ไม่ได้เดินทางมาเที่ยวไทยกว่า 30 ปี ทำให้ไทยจึงเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญที่คนซาอุฯอยากมา ซึ่งพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย จะนิยมเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว

 

โดยกลุ่มครอบครัวมักจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ 7-8 ขึ้นไป นิยมเที่ยวทะเล ชายหาด สถานบันเทิง ธรรมชาติ รวมถึงเดินทางมาตรวจรักษาพยาบาลในไทยเฉลี่ยไม่ตํ่ากว่า 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในแต่ละปี

 

ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียนิยมมากที่สุด คือ การจับจ่ายสินค้าโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางซํ้า นิยมเดินทางมาช้อปปิ้งทั้งสินค้าทั่วไปและสินค้าแบรนด์เนม

 

แหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย

  1. กรุงเทพฯ(60.75%)
  2. ภูเก็ต (57.83%)
  3. พัทยา (43.96%)
  4. พังงา (9.20)
  5. กระบี่ (8.07%)
  6. เกาะสมุย (4.94%)
  7. เชียงใหม่ (4.90%)

ทั้งนี้นับจากการฟื้นความสัมพันธ์กลับขึ้นมาอีกครั้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม2565 ที่นายกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปซาอุ และยังมีปัจจัยบวกจากที่คนซาอุฯเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า  ทำให้ในปีนี้มีนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย เดินทางเข้าไทยแล้วจำนวน 76,216 คน (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-3 พ.ย. 2565)

 

โดยไม่เพียงเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี2562 (ก่อนเกิดโควิด) ที่มีคนซาอุฯเดินทางมาเที่ยวไทยอยู่ที่ 36,783 คน สร้างรายได้3,220 ล้านบาท แต่ยังเกินกว่าเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ตั้งเป้าไว้มากด้วย ทั้งๆที่ในปีนี้ททท.ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย เข้าไทยอยู่ที่ 25,700 คน  และปี66 อยู่ที่ 52,500 คน เป้าหมายรายได้ 4,550 ล้านบาท

 

นักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียพุ่ง10 เท่าตัว

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ก่อนโควิด-19 ในปี2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ 36,783 คน การฟื้นความสัมพันธ์ของสองประเทศ และการเปิดเที่ยวบินตรงเข้าไทยถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะไทยมีโปรดักส์ด้านการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวซาอุฯอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ กลุ่มเดินทางมารักษาพยาบาล การช้อปปิ้ง

 

การดำเนินการด้านการตลาดหลังจากนี้ ททท.ก็จะดำเนินการได้เข้มข้นมากขึ้น จากที่ผ่านมาสำนักงาน ททท. ดูไบก็ดูแลพื้นที่ซาอุฯอยู่แล้ว สามารถโปรโมทต่อยอดการทำตลาดได้ทันที รวมถึงการจัดงาน Arabian Travel Mart (ATM) ที่ ดูไบที่ผ่านมา  ททท. ก็ได้นำผู้ประกอบการไปออกงานทุกปี ปีนี้จะเป็นโอกาสดีในการพ่วงโปรโมทตลาดซาอุฯ ไปพร้อมๆ กับภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

 

นายศิษฏิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุฯ สายการบินซาอุดีอาระเบีย เตรียมจะเปิดบินตรงจากกรุงริยาดเข้าไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวอย่างมาก จากซาอุฯ เป็นตลาดใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีประชากรกว่า 34 ล้านคน เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง มั่นใจว่าในอนาคตไทยจะสามารถเพิ่มนักท่องเที่ยวจากซาอุฯได้อีก 10 เท่า จาก 3.6 หมื่นคนเพิ่มขึ้นมาเป็น 3 แสนคนได้ไม่ยาก หลังจากเราไม่ได้ทำตลาดนี้มานานกว่า 30 ปี

 

ดังนั้นเมื่อมีการฟื้นความสัมพันธ์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็จะเดินหน้าทำตลาดนี้ได้ โดยจะเน้นการเสนอขายสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับเฮลท์แอนด์เวลเนส และเรื่องของการช้อปปิ้ง เพราะตรงกับพฤติกรรมการเดินทางมาเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ รวมถึงการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ สำหรับตลาดนี้ไม่ว่าจะเป็นสมุย และภูเก็ต จากในอดีตส่วนใหญ่จะมาเที่ยวที่กรุงเทพฯและพัทยา เป็นหลัก

 

 

นอกจากนี้การฟื้นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ยังเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนแรงงาน ซึ่งซาอุดีอาระเบียให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภายใต้นโยบาย “การท่องเที่ยวเป็นเสาหลักของวิสัยทัศน์ปี 2573” หรือ (Vision 2030) ซึ่งประเทศซาอุดีอาระเบีย ต้องการกระจายความเสี่ยง ที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากธุรกิจน้ำมันเป็นหลักเท่านั้น

 

โดยได้ตั้งปณิธานให้ภาคการท่องเที่ยวต้องสร้าง GDP ให้ประเทศซาอุดีอาระเบีย จาก 3% เป็น 10% และต้องสร้างงานให้ได้หนึ่งล้านตำแหน่งภายในปี 2573 นี่จึงเป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของซาอุดีอาระเบียเพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้เปิดตัวโครงการขนาดใหญ่และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มูลค่าการลงทุนกว่า 5 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น

 

1. โครงการ "นีออม" NEOM เมืองแห่งอนาคต เน้นใช้พลังงานสะอาด ไร้มลพิษ โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและเขตธุรกิจชั้นนำของโลก มีแผนคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งจะสร้างงานใหม่ได้กว่า 380,000 ตำแหน่ง

 

2. เมือง Al-Ula แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีของโลกซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการวิจัยทางโบราณคดีและการอนุรักษ์ระดับโลก (The Kingdoms Institute) และได้เปิดตัวเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

 

3. Red Sea Project โครงการพัฒนาหมู่เกาะริมชายฝั่งทะเลแดงในมณฑล Tabouk ซึ่งอยู่ใกล้กับเมือง Al-Ula เน้นการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง เช่น การดำนํ้าปีนเขา กีฬาผาดโผนต่างๆ ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในโครงการทั้งหมด คาดว่าจะเปิดตัวเฟสแรกในช่วงปลายปี 2565 และมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี 2573 ซึ่งในช่วงของการก่อสร้างโครงการจะก่อให้เกิดการจ้างงานได้กว่า 70,000 ตําแหน่ง

 

ทั้งยังมีอีกหลายโครงการใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น โครงการเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะภาคธุรกิจการบริการและการโรงแรม ในตลาดซาอุฯ   รวมทั้งจะส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งซาอุฯจัดว่าเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เติบโตเร็วที่สุดในกลุ่ม G20

 

ในขณะเดียวกันในการฟื้นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ก็ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนซาอุฯเข้ามาลงทุนในไทยได้ โดยเฉพาะแผนการพัฒนาการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างผลักดันในการสร้างเมืองใหม่  รวมไปถึงการลงทุนด้านเมคิคัล ทัวริสซึม ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว