ปิดฉากประชุม รมต.ท่องเที่ยว “เอเปค” ไม่สามารถหาฉันทามติในถ้อยแถลงได้

19 ส.ค. 2565 | 12:11 น.

ปิดฉากประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยว “เอเปค” วันนี้ ไม่สามารถหาฉันทามติในถ้อยแถลงได้ เหตุผู้แทนจาก “บางประเทศ” ไม่เห็นด้วย กับการมีคำว่า “สงบสุข” และ “ความมั่นคง” ในร่างแถลงการณ์

วันนี้ (19 สิงหาคม 2565) นายพิพัฒน์  รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แถลงผลการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 ( 11th Tourism Ministerial Meeting: TMM) โดยสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคจะมุ่งสร้างสรรค์และฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม และเกิดการฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (Regenerative Tourism) เพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของทุกภาคส่วน

นายพิพัฒน์ กล่าวแถลงการณ์ประธานการประชุมเอเปคว่า “นับเป็นโอกาสอันดี ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยว ครั้งที่ 11  ในช่วงเวลาที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565  ภายใต้หัวข้อหลัก คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” โดยการจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 นับเป็นการประชุมแบบพบปะหน้าเป็นครั้งแรกของการประชุมสาขาด้านการท่องเที่ยวเอเปคในรอบ 2 ปี นับจากเกิดสถานการณ์ โควิด-19

 

ปิดฉากประชุม รมต.ท่องเที่ยว “เอเปค” ไม่สามารถหาฉันทามติในถ้อยแถลงได้
 

กว่าหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยยังคงมีมนต์ขลังและสามารถดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้เดินทางเข้าร่วม ณ สถานที่ประชุมประมาณ 200 คน สำหรับผลของการประชุมในครั้งนี้ ถือว่าได้รับความสำเร็จ เป็นอย่างดี

ในการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวได้มีการรายงานผลการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเอเปค  พ.ศ. 2563-2567 การหารือแนวทางความร่วมมือของเอเปคเพื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงหลังโควิด-19 และบทบาทของภาคการท่องเที่ยวต่อการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค 

 

ปิดฉากประชุม รมต.ท่องเที่ยว “เอเปค” ไม่สามารถหาฉันทามติในถ้อยแถลงได้

 

โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการเร่งการฟื้นฟูการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด  - 19 และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการส่งเสริมการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในแต่ละเขตเศรษฐกิจ รวมถึงหารือถึงวิธีการรักษาสถานะของการท่องเที่ยวในฐานะภาคส่วนที่สร้างประโยชน์และความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเปค
                        

 

ตลอดระยะเวลาการประชุม ทุกเขตเศรษฐกิจได้ร่วมกันเจรจาร่างถ้อยแถลง และสามารถบรรลุฉันทามติได้ในทุกย่อหน้า ยกเว้นเพียงย่อหน้าเดียวที่เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่สามารถหาฉันทามติกันได้ จึงได้ผลลัพธ์ในรูปถ้อยแถลงประธาน (Chair Statement)  

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่ไม่สามารถบรรลุฉันทามติจนออกร่างแถลงการณ์ของรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค และต้องเปลี่ยนเป็นได้ถ้อยแถลงประธานแทน เนื่องจากผู้แทนจากจีนไม่เห็นด้วยที่ในร่างแถลงการณ์ในย่อหน้าที่ 2 เพียงย่อหน้าเดียว ที่มีคำว่า ความสงบสุข (Peace) และความมั่นคง (Stability)
 
 

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ เราสามารถรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ 

 

1.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปคให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน 

 

2. คู่มือเอเปคสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยว ฉบับปรับปรุง ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับนี้เป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของเอเปคในปีนี้ ความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเป็นก้าวสำคัญของเอเปคในการก้าวไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 และเพื่อให้เราทำงานต่อไปข้างหน้า
 

ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 11 ผมขอขอบคุณรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคทุกเขตเศรษฐกิจ เลขาธิการเอเปค หัวหน้าคณะทำงานเอเปคด้านการท่องเที่ยว และผู้แทนผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านรวมทั้ง หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านของเจ้าภาพเขตเศรษฐกิจไทยที่ได้ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันมาอย่างแข็งขัน จนการประชุมประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี 
 

ผลลัพธ์ที่ไทยคาดหวังว่าจะได้รับจากการนำเสนอแนวคิดนี้ คือ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดมาจากแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เพื่อจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดูแลรักษาทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม เกิดการกระจายรายได้สู่คนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

 

สร้างระบบให้ชาวบ้านมีอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเอง สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่นที่มีฐานะเป็น “เจ้าบ้าน” ในทุกแหล่งท่องเที่ยว โดยสามารถทำให้คนในชุมชนมีความสุขกับการเติบโตของการท่องเที่ยวโดยคนในชุมชนได้รับประโยชน์ในแบบที่ตนเองต้องการไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และการได้ฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิม 
 

ทั้งนี้การผลักดันประเด็นการท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคไม่เพียงแต่ประเด็นการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างกันและการท่องเที่ยว แต่จะครอบคลุมถึงการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้หัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปีนี้ของไทย คือ “Open. Connect. Balance.” หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”