โควิดพ่นพิษ แอร์ไลน์ 4 หมื่นคน  สมาคมนักบินไทยร้องรัฐเยียวยา

12 เม.ย. 2563 | 00:15 น.

พรก.ฉุกเฉินฉุดแอร์ไลน์ยกเลิกบินต่อเนื่อง ชี้ตลอดเดือนเมษายนนี้เหลือเพียงไทยเวียตเจ็ท-นกแอร์ ยังบินในประเทศอยู่ ส่วนที่เหลือยกเลิกบินทุกเส้นทาง กระทบพนักงาน 4 หมื่นคนรายได้หายฮวบ สมาคมนักบินไทย ออกโรงจ่อร้องคมนาคม-คลัง ชง 2 ข้อเสนอร้องรัฐเยียวยา

หลังจากรัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงแต่ละจังหวัดออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้น สกัดกั้นการเดินทาง เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการปิดสนามบินภูเก็ตและสนามบินนราธิวาสส่งผลให้ธุรกิจสายการบินของไทยต่างทยอยปิดเส้นทางบินเพิ่มขึ้น

โควิดพ่นพิษ แอร์ไลน์ 4 หมื่นคน  สมาคมนักบินไทยร้องรัฐเยียวยา

ส่งผลให้ปัจจุบันมีสายการบินที่หยุดบินชั่วคราวไปแล้วในทุกเส้นทางรวม 7 สายการบินได้แก่ การบินไทย,บางกอกแอร์เวย์,ไทยสมายล์,ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์,ไทยแอร์เอเชีย,ไทยไลอ้อนแอร์,นกสกู๊ต

เหลือเพียง 2 สายการบินที่ยังคงทำการบินอยู่ แต่บินเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ ได้แก่ ไทยเวียตเจ็ท และนกแอร์ โดยคงเหลือเส้นทางบินภายในประเทศเพียง 12 จังหวัดเท่านั้น

การหยุดบินและลดเที่ยวบินที่เกิดขึ้นทำให้สายการบินต้องจอดพักเครื่องบินไปแล้วรวมกันกว่าหลายร้อยลำ การชะงักในการหารายได้ของธุรกิจการบิน

ส่งผลกระทบต่อพนักงานสายการบินที่ใน 9 สายการบินหลักของไทย มีพนักงานกว่า 4 หมื่นคน ซึ่งเมื่อธุรกิจไม่มีรายได้การหั่นค่าใช้จ่ายด้านแรงงานของทุกสายการบินจึงส่งผลกระทบต่อพนักงานในทุกระดับถ้วนหน้า

ดังนั้นล่าสุดสมาคมนักบินไทย จึงลุกขึ้นมาเป็นแกนนำในการรวบรวมความเดือนร้อนของคนในแวดวงการบิน อาทิ นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อเรียกร้องการขอรับการเยียวยาจากภาครัฐ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แต่ไม่สามารถรับสิทธิชดเชยประกันสังคมจากผลกระทบโควิดได้ ซึ่งพนักงานของทุกสายการบินต่างก็เผชิญกับสถานการณ์ที่เหมือนกัน  โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานการบินไทยและไทยสมายล์ ที่จัดว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ พนักงานจึงมีข้อจำกัดที่จะไม่ได้การชดเชยในเรื่องนี้จากประกันสังคมเช่นกัน

กัปตันสนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พนักงานในธุรกิจการบินต่างได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ด้วยกันทั้งสิ้น และยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆจากหน่วยงานภาครัฐ  เนื่องจากธุรกิจการบินมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถปิดชั่วคราวได้เหมือนธุรกิจอื่นๆที่มีการปิดกิจการชั่วคราว และให้ลูกจ้างไปรับเงินชดเชยจากประกันสังคม

เพราะธุรกิจการบินถ้าปิดแล้วการจะกลับมาเปิดใหม่ ต้องผ่านขั้นตอนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ (AOC) ใหม่ ซึ่งมีความยุ่งยากมาก ทำให้สายการบินต้องใช้วิธียกเลิกเส้นทางบินชั่วคราวไปเรื่อยๆแทน 

การยกเลิกเที่ยวบินก็ทำ ให้พนักงานต่างถูกลดเงินเดือนกันถ้วนหน้า อย่างการบินไทยก็มีการลดเงินเดือน 10-50% บางสายการบินพนักงานรายได้รับรายได้เพียง 10-20% บางสายการบินพนักงานต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน

สายการบินที่เพิ่งก่อตั้งมาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พนักงานก็ไม่ได้รับรายได้มากนักอยู่แล้ว บางคนก็ได้ตามค่าแรงขั้นต่ำนอกจากนี้กลุ่มที่ไม่ได้พึ่งรายได้จากเงินเดือนอย่างเดียว แต่ยังต้องพึ่งรายได้อื่นๆอย่างเบี้ยเลี้ยง จากการออกไปปฏิบัติการบิน ซึ่งจริงๆแล้วเป็นรายได้ที่ได้รับมากกว่าเงินเดือน ดังนั้นเมื่อสายการบินไม่ได้บินรายได้ในส่วนนี้ก็จะหายไป

 

โควิดพ่นพิษ แอร์ไลน์ 4 หมื่นคน  สมาคมนักบินไทยร้องรัฐเยียวยา

เช่น พนักงานต้อนรับของบางสายการบิน เงินเดือนอยู่ในระดับ1.5 หมื่นบาท แต่ถ้าทำการบินก็จะได้รายได้ราว 3-4 หมื่นบาท เบ็ดเสร็จจะมีรายได้ราว 5 หมื่นบาทต่อเดือน แม้แต่ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานนอกจากมีเงินเดือนก็จะมีค่าล่วงเวลาด้วย

หรือนักบินเอง ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดราว 3 พันคน นักบินจะมีเงินเดือนเฉลี่ยราว 6 หมื่น-1 แสนบาท มีค่าเบี้ยเลี้ยงจะอยู่ที่ราว 1 แสนกว่าบาท โดยถ้าเป็นกัปตันอยู่ที่1.5-2.5 พันบาทต่อชั่วโมง เบ็ดเสร็จจะมีรายได้ราว 1.5-2 แสนบาทต่อเดือน

กลุ่มคนเหล่านี้หากรวมรายได้ที่หายไปจากสายการบินยกเลิกหรือหยุดบินไป รวมกับเงินเดือนที่ถูกลดลง ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีการลดลงของรายได้มากถึง 80% ซึ่งคนที่เริ่มทำงานจะเหลือเงินอยู่ในมือไม่ถึงหมื่นบาท บางคนก็เหลือเงินเดือนราว 5 หมื่นบาท

หลายคนมีปัญหาเรื่องผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดมิเนียม ผ่อนรถ ก็มีปัญหาจ่ายไม่ได้ จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง ซึ่งบางคนก็หาอาชีพอย่างไปขับแกร็บ, ทำอาหารส่งดิลิเวอรี เพื่อประคองตัวในช่วงนี้รอเวลากลับมาบินใหม่

จากความเดือดร้อนของพนักงานสายการบิน ทำให้ทางสมาคมนักบินไทย จึงได้เปิดให้พนักงานสายการบินต่างๆเข้าลงทะเบียนเพื่อรวบรวมความเดือนร้อนเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยา

เพียงเปิดลงทะเบียนเพียง 1 สัปดาห์มีพนักงานสายการบินกว่า 3 พันคนทั้งลูกเรือ และนักบิน รวมถึงอาชีพอื่นๆในแวดวงการบิน ได้แสดงความเห็นเพื่ออยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเยียวยา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน โดยปัญหาหลักคือพนักงานสายการบินไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการเยียวยาจากประกันสังคม จากกรณีได้รับผลกระทบโควิดได้

โควิดพ่นพิษ แอร์ไลน์ 4 หมื่นคน  สมาคมนักบินไทยร้องรัฐเยียวยา

ทั้งนี้ทางสมาคมฯจึงได้สรุป 2 แนวทางในการขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเตรียมจะไปยื่นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเยียวยา ได้แก่

1. ขอให้พนักงานสายการบินที่มีเงินเดือนน้อยโดยรายได้ไม่ถึง 1.5 แสนบาทต่อปี ให้สามารถใช้สิทธิได้รับเงิน 5 พันบาท ในโครงการเราไม่ทิ้งกันได้

2.ส่วนพนักงานสายการบินที่มีเงินเดือนสูง ขอให้รัฐช่วยเรื่องมาตรการภาษี โดยเฉพาะการประนอมหนี้ ยืดภาระหนี้ออกไป เนื่องจากมาตรการของสถาบันการเงินที่ออกมาก่อนหน้านี้ บางธนาคารก็ลดดอกเบี้ยให้ แต่คงเงินต้นเท่าเดิม ก็ไม่ได้ช่วยอะไร หรือหลายธนาคารก็มีข้อจำกัดและเงื่อนเวลาในการที่ลูกหนี้จะเข้าไปเจรจา

รายงาน: ธนวรรณ วินัยเสถียร

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12-15 เมษายน 2563