บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2568 (ตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568) โดยมีรายได้จากการขายรวม 177,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิปรับตัวลดลง 9.2% มาอยู่ที่ 17,769 ล้านบาท ส่วน กำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) อยู่ที่ 31,111 ล้านบาท ลดลง 5.3%
สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2 ของปีบัญชีนี้ (มกราคม – มีนาคม 2568) ไทยเบฟมี รายได้จากการขาย 85,352 ล้านบาท ลดลง 0.6% และกำไรสุทธิ 8,083 ล้านบาท ลดลงถึง 11.8%
ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของไทยเบฟคือ กลุ่มธุรกิจเบียร์ และ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจสุรากลับมียอดขายและกำไรสุทธิที่ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กำไรสุทธิรวมของบริษัทปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และการลงทุนด้านแบรนด์และกิจกรรมทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นในบางกลุ่มธุรกิจ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกำไร
ธุรกิจสุรา รายได้จากการขาย 32,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% แต่กำไรสุทธิลดลง 5.5% อยู่ที่ 5,755 ล้านบาท แม้ยอดขายในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่กำไรลดลงจากต้นทุนวัตถุดิบและการลงทุนที่มากขึ้น
ธุรกิจเบียร์ รายได้จากการขาย 30,094 ล้านบาท ลดลง 2.4% และกำไรสุทธิลดลง 4.1% อยู่ที่ 1,228 ล้านบาท
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รายได้จากการขาย 16,483 ล้านบาท ลดลง 1.9% และกำไรสุทธิลดลงอย่างมากถึง 33.5% อยู่ที่ 1,262 ล้านบาท
ธุรกิจอาหาร รายได้จากการขาย 5,456 ล้านบาท ลดลง 0.9% และกำไรสุทธิลดลงถึง 97.5% เหลือเพียง 3 ล้านบาท
ธุรกิจสุรา รายได้จากการขาย 64,520 ล้านบาท ลดลง 1.5% และกำไรสุทธิลดลง 10.3% อยู่ที่ 11,601 ล้านบาท ยอดขายในไตรมาสแรกที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาพรวม แม้ไตรมาส 2 จะดีขึ้น แต่ไม่เพียงพอชดเชย กำไรลดจากต้นทุนและค่าใช้จ่ายการตลาด
ธุรกิจเบียร์ รายได้จากการขาย 66,201 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 19% อยู่ที่ 3,152 ล้านบาท ยอดขายเชิงปริมาณที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง และประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น เป็นปัจจัยหนุน
ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รายได้จากการขาย 33,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% แต่กำไรสุทธิลดลง 11.3% อยู่ที่ 3,114 ล้านบาท แม้ยอดขายเชิงปริมาณจะเติบโตในทุกหมวด แต่ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อกำไร
ธุรกิจอาหาร รายได้จากการขาย 11,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% แต่กำไรสุทธิลดลงถึง 61% อยู่ที่ 124 ล้านบาท ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง และการตลาดที่สูงขึ้น รวมถึงค่าเสื่อมจากการขยายร้านอาหาร เป็นปัจจัยกดดัน
ในด้านยอดขายเชิงปริมาณ พบว่าในช่วงไตรมาส 2 ธุรกิจเบียร์มียอดขายเติบโต 2.6% เช่นเดียวกับธุรกิจสุราที่เติบโต 2.6% ขณะที่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มียอดขายรวมเติบโต 0.9% โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์นมที่เติบโต 4.3% ส่วนในภาพรวม 6 เดือนแรก ธุรกิจเบียร์มียอดขายเชิงปริมาณเติบโตถึง 7.4% และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เติบโต 4.1% ในทุกหมวดหมู่
ทั้่งนี้เมื่อพิจารณาสัดส่วนรายได้ พบว่ากลุ่มธุรกิจเบียร์มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดที่ 37.3% ตามมาด้วยธุรกิจสุรา 36.3% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 18.8% และธุรกิจอาหาร 6.3% อย่างไรก็ตาม ในด้าน "กำไรสุทธิ" กลุ่มธุรกิจสุรา ยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 65.3% ตามด้วยเบียร์ 17.7% และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 17.5%